ความเป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยอันตรายของคนเหมือง แถบเทือกเขาแอนดีส เปรู

ณ วันที่ 11/03/2567

ณ เทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู คือที่ตั้งของลารินกอนาดา ชุมชนที่อยู่สูงที่สุดในโลก ที่ความสูงถึง 5,100 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวราว 30,000 – 50,000 คน ในบ้านที่ทำจากสังกะสี อันแออัดไปด้วยผู้คน ขยะ และสภาพอากาศสุดเลวร้าย ออกซิเจนเบาบาง จนแม้กระทั่งคนในท้องถิ่นยังหายใจยากลำบาก พวกเขาอยู่กันอย่างแร้นแค้น ดำรงชีพด้วยการเป็นคนงานในเหมืองทองอันไร้มาตรฐาน 

ลาเมโร (คนงานเหมือง) เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยลามา (หางแร่เหลือทิ้งหลังผ่านกระบวนการแยกด้วยปรอท ก่อนจะนำไปแยกอีกครั้งด้วยไซยาไนด์เพื่อสกัดทองคำออกมา การสัมผัสกับไอพิษต่างๆ ส่งผลทำลาย ปอด ไต และหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด)

 

เหมืองส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้สัญญาแบบ “ไม่เป็นทางการ” แต่เหมืองเหล่านั้นกลับยังได้รับอนุญาตโดยรัฐบาลให้ดำเนินการต่อไปได้ เจ้าของเหมืองนอกระบบเหล่านี้มักอาศัยอยู่นอกลารินกอนาดา และปล่อยกิจการไว้ให้คนอื่นที่ไว้ใจได้ดูแล โดยที่ผู้ดูแลจะทำหน้าที่จัดการแรงงานในเหมืองแทนเจ้าของที่แท้จริง 

คนงานเหมือง, เหมือง, เหมืองทองคำ, ปรอท, ทองคำ, เปรู

หญิงคนหนึ่งยืนโยกตัวบนก้อนหิน คิมบาเลเต เพื่อบดสินแร่ที่มีทองคำเจือปนอยู่ซึ่งเธอเก็บมาได้ในวันนั้น หลายชั่วโมงผ่านไป เธอจะผสมทรายที่ได้เข้ากับปรอทซึ่งรวมตัวกับทองคำในรูปอะมัลกัม เมื่ออะมัลกัมได้รับความร้อน ปรอทจะระเหยเป็นไอ เหลือไว้แต่ทองคำ

 

ข้อตกลงของแรงงานในเหมืองมักทำด้วยสัญญาปากเปล่า หัวหน้าคนงานจะจ้างคนงานตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์จนถึงหลายเดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสายแร่ที่พบในขณะนั้น พวกคนงานอาจได้รับอาหารและที่พัก โดยไม่มีผลประโยชน์หรือค่าจ้างตอบแทน แต่ในหนึ่งเดือนจะมีเพียงหนึ่งหรือสองวันที่พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เก็บเศษแร่ที่คิดว่าอาจจะมีทองคำเจือปนอยู่ในนั้นได้ สิ่งนี้เป็นระบบที่เรียกว่า “คาโชเรโอ” แต่ถ้าไม่พบอะไรเลย ก็เท่ากับว่าพวกเขาทำงานให้เหมืองแบบฟรีๆ ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีใครอยากจะเปลี่ยนแปลงระบบนี้อย่างจริงจัง เพราะสำหรับเจ้าของสัญญาเช่าแล้ว ระบบนี้ช่วยให้ประหยัดงบค่าแรงงานไปได้ และสำหรับคนงาน ระบบนี้ก็ทำให้ง่ายต่อการที่จะทิ้งงานไปหากชั่งใจได้ว่าได้ทองคำมากพอแล้ว แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะหวังว่าจะได้โชคครั้งใหญ่

 

คนงานเหล่านี้ต้องทำงานด้วยอุปกรณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ในสภาพแวดล้อมอันเป็นอันตรายต่อชีวิตตนเอง เพราะการจัดการอันไร้มาตรฐานนี้ ทำให้มักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่มีผลต่อผู้ซื้อและโรงงานผลิตทองคำในสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่น ๆ จากการซื้อทองคำของลารินกอนาดาได้เลย 

คนงานหญิง, คนงานเหมือง, เหมืองทองคำ, เปรู

พวกผู้หญิง หรือ ปายา-เกราส มองดูรถบรรทุกทิ้งเศษหินจากเหมือง ซึ่งพวกเธอจะคุ้ยหาเศษเล็กเศษน้อยที่อาจมีทองคำหลงเหลืออยู่ พวกเธอต้องทนกับอากาศหนาวเหน็บ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และบางครั้งต้องเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดทางเพศจากหัวหน้าคนงานเหมืองซึ่งอนุญาตให้พวกเธอทำงาน

 

ทองคำบางส่วนถูกขายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย แต่บางส่วนกลับถูกขายในตลาดมืด สาเหตุเพราะต้องการหลีกเลี่ยงงานเอกสารและภาษีต่าง ๆ ทองคำจากตลาดมืดจะถูกทำให้ดูเหมือนถูกกฎหมาย ตราบใดที่เอกสารดูถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ส่งออกอาจไม่ตรวจสอบเหมืองเพื่อให้แน่ใจว่า ได้ทำตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ หรือไม่ สุดท้าย ทองคำส่วนใหญ่จากเปรูจะถูกส่งออกไปยังโรงผลิตทองคำในต่างประเทศ หนึ่งในสามของทองคำที่ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผลิตทองคำมากถึงร้อยละ 70 ของโลก ราคาทองคำที่สูงลิ่ว ช่วยให้นายหน้าชาวเปรูที่เคยมีฐานะกลาง ๆ กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

 

ด้วยแรงกดดันจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทำให้ผู้ทำเหมืองต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนหลังและติดตามสภาพการณ์ต่าง ๆ ของเหมืองแห่งนั้นได้ มาตรการดังกล่าวกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อจำนวนเหมืองผิดกฎหมายในเปรูพุ่งสูงขึ้น หลังจากราคาทองคำทะยานจากราคากรัมละไม่ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสองทศวรรษก่อน กลายเป็นกรัมละกว่า 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 เมื่อไม่สามารถดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบริษัททำเหมืองขนาดใหญ่ได้ บรรดาผู้ประกอบการเหมืองขนาดเล็กจึงมักหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี 

คนงานเหมือง, เปรู

คนงานเหมืองสองคนรอดูว่า ผู้รับซื้อทองคำท้องถิ่นจะจ่ายค่าตอบแทนความเหนื่อยยากให้พวกเขาเท่าใด แทนที่จะได้รับค่าแรงประจำ คนงานเหมืองจะได้รับอนุญาตให้ทำงานพิเศษราวหนึ่งหรือสองวันต่อเดือน และขายสิ่งที่พวกเขาหามาได้ในระบบที่เรียกว่า คาโชเรโอ

 

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเปรูใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้คนทำเหมืองเหล่านั้นยอมปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม แต่กระบวนการที่เรียกว่า “เข้าระบบ” หรือทำให้ “เป็นทางการ” นั้น ต้องใช้เวลาอย่างมาก จากจำนวนผู้ประกอบการทำเหมืองนอกระบบกว่า 60,000 ราย โดยมีเพียง 1,600 รายเท่านั้น ที่ได้ลงทะเบียนกับรัฐบาลไว้ ซึ่งทำให้พวกเขามีหน้าที่ต้องจ่ายภาษี ขอใบอนุญาตและจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในขณะที่ยังมีผู้ทำเหมืองอีกหลายหมื่นรายยังไม่เข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เพื่อเอื้อให้ระบบที่เรียกว่า “คาโชเรโอ” ยังคงดำเนินต่อไป กระบวนการ “การเข้าระบบ” จึงมักถูกเลื่อนไปแล้วหลายต่อหลายครั้งในลารินกอนาดา

คนส่วนใหญ่ในลารินกอนาดาอาศัยอยู่ในกระท่อมสังกะสี โดยไม่มีน้ำประปาหรืออุปกรณ์ให้ความอบอุ่น เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บ ชุมชนนี้เติบโตอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ยังขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน

 

แหล่งข้อมูล :

https://ngthai.com/cultures/37560/larinconadaperu/

 

ภาพถ่ายโดย เซดริก เครเบเฮย์ : 

1 https://i2.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2021/08/MM8871_190425_003237web.jpg?resize=768%2C1156&ssl=1

2 https://i0.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2021/08/MM8871_190428_004505web.jpg?resize=768%2C523&ssl=1

3

https://i0.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2021/08/MM8871_190423_002214web.jpg?resize=768%2C513&ssl=1

4

https://i2.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2021/08/MM8871_190426_003710web.jpg?resize=768%2C532&ssl=1

5

https://i0.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2021/08/MM8871_190423_002522web.jpg?resize=768%2C518&ssl=1