ประเทศจีน : พลิกหน้าประวัติศาสตร์โลก (ตอนที่ 2) ยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของประเทศจีน

ณ วันที่ 16/05/2566

 

 

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติ โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนถึงช่วงปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบัน คือ ท่านประธานสี จิ้นผิง ผู้ซึ่งได้ปลุกโครงการ เส้นทางสายไหมในอดีตขึ้นมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ชาติตะวันตกต้องจับตามองถึงผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน และการค้าของโลกอนาคต ในศตวรรษที่ 21 จีนเรียกโครงการนี้ว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road ที่ใช้แนวคิดจากเส้นทางสายไหมในอดีต 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา

เส้นทางสายไหมในอดีตนั้น มีมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ฮั่นอู่ตี้ ฮ่องเต้ของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ได้ส่ง จางเชียน เป็นทูตออกเดินทางไปยังดินแดนตะวันตก เพื่อแสวงหาพันธมิตรมาร่วมต่อสู้กับชนเผ่าซงหนู เป็นการบุกเบิกเส้นทางสายไหมทางบก มีการนำผ้าไหม ซึ่งจีนเป็นประเทศแรกที่คิดค้นการเลี้ยงหม่อนไหมและการทอผ้าไหมขึ้น มีการเผยแพร่ สิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่ของจีนคือกระดาษ เข็มทิศ ดินปืน และเทคโนโลยีการพิมพ์ไปสู่สายตาชาวโลก

ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้นเกิดขึ้นก่อน ในยุคสมัยราชวงศ์โจว และราชวงศ์ฉิน แต่เป็นเส้นทางสั้นๆ เพราะวิทยาการและเทคโนโลยีทางการเดินเรือยังไม่ก้าวหน้านัก ไม่สามารถ ต้านทานคลื่นลมมรสุมกลางทะเลได้ จึงไม่สามารถไปได้ไกล

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง One Belt One Road (OBOR) หรือ เส้นทางสายไหม ของศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาเยือนประเทศอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อปลายปี 2556 โดยใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่าง 60 ประเทศหรือมากกว่านั้น เป็นการยกระดับคุณภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจวงแหวน ผ่านเส้นทางการขนส่งทางบกและทางทะเล โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ทวีปยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยที่ทางบกจะอาศัยการเชื่อมต่อ โดยโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงผ่านเอเชียกลาง และเอเชียตะวันตก ส่วนทางทะเลจะเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเส้นทางเดินเรือที่ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มา : www.matichon.co.th

OBOR นี้นับว่าเป็นโครงการก่อสร้างระบบเชื่อมต่อทางพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และจะส่งผลถึงอุปทานหรือความต้องการขายสินค้าโภคภัณฑ์และบริการ เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี คอนกรีต รวมถึง ทองคำ และเงินในอนาคตด้วย

ในปี 2560 นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มพูดถึงการเชื่อมต่อโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น blockchain กับทองคำ และเงินว่าจะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในสมการทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับคู่กันของทองคำ และ blockchainเพื่อสร้างมูลค่าให้กับเงินดิจิตัลประเภท cryptocurrencies

จนกระทั่งในปี 2562 นี้ก็มีการพูดกันหนาหูมากขึ้น เช่นบริษัท Paxos ที่ตั้งอยู่ในเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำเสนอเงินดิจิตัลที่มีทองคำหนุนหลังอยู่ ในช่วงปี 2562 นี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็มีผลิตภัณฑ์เงินดิจิตัลที่ผูกกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ประเภท stablecoins โดยการใช้ blockchain อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ก็มีบริษัท NOVEM จากประเทศลิกเตนสไตน์ซึ่งทำเกี่ยวกับ blockchain ที่วางแผนจะสร้างการ stablecoinที่ผูกกับทองคำในประเทศเยอรมันนี บริษัทนี้นำเสนอ stablecoin ที่เรียกว่า 999.9 โดยที่ 1 token หรือ 1 เหรียญโทเคน จะมีมูลค่าเท่ากับ 0.01 กรัมทองคำ หรืออีกนัยหนึ่งคือ 100 tokens มีค่าเท่ากับ 1 กรัมทองคำ เป็นต้น

ทางฝั่งประเทศอังกฤษเองก็สนใจในเรื่องของการลงทุน ทองคำผ่านทาง blockchain transactions แทนการซื้อขายโดยตรงหรือผ่านทาง Exchange-Traded Funds (ETFs) โดยทาง Royal Mint ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลอังกฤษได้ร่วมมือกับ the Chicago Mercantile Exchange ใช้ระบบ blockchains ที่พัฒนาจากกลุ่ม startups สร้าง blockchain tokens ขึ้นมาใหม่เรียกว่า Royal Mint Gold (RMG) โดยที่ 1 token จะมีมูลค่าทางดิจิตัลเท่ากับ 1 กรัมทองคำจริงที่เก็บอยู่ในคลังของ Royal Mint

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถซื้อขายบน platform ปกติของสถาบันการลงทุนทั่วไป และการซื้อขายนั้นจะถูกบันทึกเป็น blockchain transactions และจากเวปไซด์ Goldscape.netที่รวบรวมข่าวและข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำและ cryptocurrency ที่ผูกกับทองคำระบุว่าปัจจุบันมีบริษัทไม่น้อยกว่า 20 บริษัททั่วโลก ที่กำลังวางแผนพัฒนาและดำเนินการออกผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า gold-backed cryptocurrencies


กราฟฟิคธงชาติจีน และ bitcoin ที่มา : www.siamblockchain.com

ในกรณีนี้หากนักลงทุนหันมาสนใจการซื้อขายบนระบบที่มีการใช้ทองคำเป็นตัวสนับสนุนเช่นนี้ อาจมีการเคลื่อนย้ายทองคำมาทางตะวันออกของโลกนี้ง่ายขึ้น และโครงการสายแถบและเส้นทาง (belt and road) ที่จีนกำลังพัฒนาอยู่นี้อาจจะกลายเป็นหัวใจของระบบ logistic ของการคมนาคมเชื่อมตะวันตก และตะวันออก ตามที่ได้ประกาศนโยบายและข้อตกลงกันในการประชุมสายแถบและเส้นทางที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะประกาศห้ามใช้เงินตราเสมือน (cryptocurrency) ในการซื้อขายและบริการ ในปี 2552 และในปี 2556 ธนาคารแห่งประเทศจีนประกาศห้ามสถาบันทางการเงินของจีนใช้บิทคอยน์ และปี 2560 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายทางการเงินของจีนจำนวน 7 แห่ง ประกาศ ห้ามทำกิจกรรมเกี่ยวกับ ICO (Initial Coin Offering) โดยมีผลย้อนหลังถึง ICO ที่ขายไปแล้วให้ยกเลิก และคืนเงินให้แก่นักลงทุน เพราะจีนไม่มั่นใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศ

อย่างไรก็ดี มีข่าวว่าเมื่อปี 2560 ธนาคารแห่งประเทศจีน เตรียมออกเงินตราดิจิทัลของตัวเองที่ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2557 และกำลังอยู่ในขั้นดำเนินการทดลองใช้ทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลาง และธนาคารพาณิชย์นั้น มีผลสำเร็จด้วยดี และปัจจุบัน ก็กำลังทดสอบและแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของระบบก่อนนำสู่สาธารณะที่อาจจะเขย่าโลกการเงินดิจิทัลในอนาคตต่อไป เปรียบเทียบกับเงินดิจิทัล ที่ทางเฟสบุ๊คได้มีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้ที่เรียกว่า Libra

จากข้อมูลของ World Gold Council ใน website https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-full-year-2018/jewellery ระบุถึงความต้องการเครื่องประดับทองคำเมื่อปี 2561 นั้น ประเทศจีนยังคงความเป็นหนึ่งอยู่โดยที่มีการเติบโตขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 3% รองลงมาก็ยังเป็นประเทศอินเดีย แต่แนวโน้มความต้องการเครื่องประดับทองคำนั้นลดลง ดังนั้น ตลาดค้าปลีกจึงต้องมีการปรับตัวใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อเน้นกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ชอบการออกแบบที่ทันสมัยและมีพลวัต (อ้างอิง http://www.lbma.org.uk/assets/Alchemist/Alchemist_93/Alch93Kavalis.pdf) ซึ่งชอบเครื่องประดับทองคำ 24K ที่มีการออกแบบในเชิง 3 มิติ ประเภท electro-forming เป็นต้น

อีกประเภทที่เริ่มนิยม ก็จะเป็นเครื่องประดับทองคำที่มีการออกแบบในแนว antique crafted gold ที่จะเน้นลวดลายสมัยจักรวรรดิ หรือทางพุทธศาสนา โดยเน้นสีของทองคำและผิวด้านดูเป็นธรรมชาติ เป็นต้น โดยกลุ่มลูกค้าเจาะจงต้องการชิ้นงานความบริสุทธิ์สูงที่เรียกว่า ultra high quality ระดับ 9999s และ 99999s (เรียกว่า four 9s และ five 9s ตามลำดับ) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีก

นอกจากนั้น ยังมีอีกนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เรียกว่า mirror gold สำหรับทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 999s ที่เน้นผิวของสินค้าที่เงางามและเรียบคล้ายกระจก

กลุ่มสุดท้ายของเครื่องประดับทองคำ ในจีนที่กำลังเพิ่มความนิยมมากขึ้นคือ สินค้าที่เป็นทองคำประเภท 18K และ 22K


เมืองเชินเจิ้นมีสถานะเป็นเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด ที่มา : www.global.chinadaily.com

ประเทศจีนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ทั้งหมด 5 เขต ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เชินเจิ้น (Shenzhen) ที่เป็นเมืองชายแดนทางภาคใต้ของจีนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง เมื่อสามสิบปีที่แล้ว เชินเจิ้น ยังเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีประชากรเพียงสามแสนกว่าคน แต่หลังจากที่ท่านประธานเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เปิดประตูสู่โลกเสรีทำให้เมืองนี้มีการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับรวมถึงที่เป็นทองคำด้วย โดยเริ่มจากบริษัทผู้ผลิตในฮ่องกงเริ่มมาตั้งฐานการผลิตที่เมืองนี้ในราวปี 2523 ทำให้มีการเติบโตของประชากรไปถึงกว่าสิบล้านคน ปัจจุบันเมืองนี้ก็เป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีผู้ผลิตเครื่องประดับมีค่าที่ใหญ่ที่สุดของจีน

หากเปรียบเทียบแล้วเชินเจิ้นก็เหมือนซิลิคอนวัลเลห์ ที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2557 ได้มีการประกาศการใช้ดัชนี China Jewelry Index (CJI) ขึ้น โดยการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นของเชินเจิ้น นับเป็นการยกระดับวงการเครื่องประดับของประเทศจีน เชินเจิ้น เป็นตลาดสำหรับการซื้อขายเครื่องประดับอัญมณีและทองคำที่สำคัญ เช่น Shuibei Jewelry Park ที่เป็น cluster ของร้านค้าและผู้ผลิต เครื่องประดับกว่า 2,000 บริษัท

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับทองคำที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือ บริษัท BATAR ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องประดับทอง 24K ให้กับร้านค้าปลีกกว่า 30,000 แห่งภายใต้ กว่า 400 brand names เชินเจิ้น ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณี Lorenzo Jewelry International ภายใต้
ชื่อทางการค้า ENZO และบริษัท Xingguangda Jewelry Industry อีกด้วย

ภายใต้การเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 พญามังกรจากโลกตะวันออกกำลังประลองกำลังกับพญาอินทรีแห่งโลกตะวันตก เพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำของโลกแห่งเทคโนโลยี และกำหนด ทิศทางของเศรษฐกิจโลกในอนาคต จนเกิดเป็นภาวะแห่งสงครามการค้าที่ทุกประเทศจะต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 57 เดือน กรกฎาคม – กันยายน พ.ศ. 2562