ประเทศจีน พญามังกรแห่งโลกตะวันออกตอนยุคจักรวรรดิ

ณ วันที่ 30/04/2563

 

 

 

ฉบับที่แล้วเรากล่าวถึงประเทศจีนตอนกำเนิดพญามังกรคือในยุคสมัยโบราณ ตามบันทึกของซือหม่า เซียน (ซือหม่า เซียน เป็นนักประวัติศาสตร์ในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีชีวิตในราวสองพันกว่าปีที่ผ่านมา และเริ่มเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของจีนที่เรียกว่า “สือจี้” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 439ที่เขียนเป็นพงศาวดารประวัติศาสตร์ของจีนในยุคเริ่มต้นสมัยโบราณว่ามีการปกครองโดยกษัตริย์ทั้งหมด 54 พระองค์จาก 2 ราชวงศ์ เป็นยุคทองของภูมิปัญญาเริ่มจากการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้และมีแนวคิดเชิงปรัชญาทางการเมืองโดย ขงจื๊อ เล่าจื๊อ เป็นต้น

จนถึงสมัยสงครามชุนชิวจ้านกั๊วในปี พ.ศ. 323 จึงเกิดการรวมจีนเป็นจักรวรรดิโดยจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นช่วงที่ 2 ของประวัติศาสตร์ชาติจีนที่เราขอเรียกว่า ยุคสมัยจักรวรรดิ เป็นช่วงของความเจริญทางสังคม และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การเงิน อักษรศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปกรรม คณิตศาสตร์ วิศวกรรมโลหะ การต่อเรือ อาวุธดินปืน ดาราศาสตร์ และการแพทย์ เป็นต้น มีความรุ่งโรจน์สูงสุด และมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมหลายอย่างมาสู่ปัจจุบัน

ยุคนี้กินเวลายาวนานกว่าสองพันปี จนมาถึงการล่มสลายของระบอบราชวงศ์จีน เปรียบยุคนี้เสมือนหนึ่งว่าจีนได้พัฒนาความเจริญถึงจุดสูงสุดแล้วประเทศได้กลับลงมาสู่ความเป็นสามัญเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วไป ในขณะที่ประเทศโลกตะวันตกได้พัฒนาต่อจนกลายเป็นมหาอำนาจ

ในฉบับนี้ เราขอสรุปโดยย่อเรื่องราวของจีนช่วงยุคสมัยจักรวรรดิภายใต้การปกครองของหลายราชวงศ์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเริ่มจากราชวงศ์ฉิน (หรือจิ๋น) และฮั่น ซึ่งเป็นช่วงของการสร้างชาติพัฒนาความเจริญและความทันสมัยกว่า 400 ปี จนถึงยุคแห่งความแตกแยกคือ ยุคสามก๊ก ราชวงศ์จิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ ซึ่งกินเวลาอีกเกือบ 400 ปี จึงสามารถกลับมารวมแผ่นดินใหม่อีกครั้ง เริ่มตามลำดับจากราชวงศ์สุย ถัง ซ่ง หยวน (ราชวงศ์มองโกล) หมิง จนถึงราชวงศ์สุดท้ายคือ ราชวงศ์ชิง (แมนจู) หากนับตั้งแต่ที่จีนถูกปกครอง ตั้งแต่ราชวงศ์ยุคโบราณจนมาถึงวาระสุดท้ายของราชวงศ์ชิงจะรวมเวลาได้กว่าสามพันปี จึงจะมาถึงการปฏิวัติ ของดร.ซุน ยัตเซ็น ที่ได้ผลักนำจีนมาสู่ระบอบสาธารณรัฐ

    

ทองคำแผ่นจารึก Ying Yuan ที่ขุดพบในรัฐฉู่ คาดว่าในยุคสามก๊ก ภาพจาก Guangdong Museum

    

ยุคสมัยจักรวรรดิ (พ.ศ. 323 – พ.ศ. 2454) จากราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์ชิง

ฉินสื่อหวงตี่หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งของประวัติศาสตร์จีน สามารถรวมดินแดนของจีนให้เป็นจักรวรรดิเป็นครั้งแรก เป็นการเริ่มต้นของยุคสมัยจักรวรรดิของจีน แม้ว่า ราชวงศ์ฉินจะปกครองจีนเพียง 14 ปี แต่ก็ได้เริ่มสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของประเทศคือกำแพงเมืองจีนหรือกำแพงหมื่นลี้ ซึ่งใช้เวลาสร้างกว่า 1,800 ปีจึงแล้วเสร็จในยุคสมัยราชวงศ์หมิง

ยุคนี้เริ่มมีการใช้ตัวอักษร และระบบชั่งตวงวัดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ช่วงปลายราชวงศ์มีความแตกแยกอย่างรุนแรง จนกระทั่งหลิวปัง ผู้นำกบฏที่มีพื้นฐานจากครอบครัวชาวนาแถบแม่น้ำฮั่นตอนบน สามารถรวบรวมจีนเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งและสถาปนาตนเอง เป็นจักรพรรดิของราชวงศ์ฮั่น ปกครองประเทศต่อมา

เหรียญทองที่ขุดพบได้จากสุสานของราชวงศ์ฮั่น
(ภาพจากสำนักข่าวซินหัว 28 ธันวาคม 2558)

ราชวงศ์ฮั่นคงอยู่ได้ยาวนานถึง 426 ปี มีความเจริญทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจจนกล่าวได้ว่า เป็นยุคทองของความเจริญรุ่งเรืองของจีน มีการค้าขายกับพวก โรมัน อาหรับ เปอร์เซีย และอินเดีย ที่เรียกกันว่าเป็นเส้นทางสายไหม เชื่อมต่อกับโลกตะวันตก และดินแดนเอเชียกลาง มีการแลกเปลี่ยนสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ผ้าไหมไปถึงทองรูปพรรณ มีการใช้เหรียญกษาปณ์ และระบบชั่งตวงวัด ประดิษฐ์ลูกคิด และเครื่อง ตรวจวัดแผ่นดินไหว เริ่มมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นในเรื่องการขุด ทำเหมืองทองคำ การทำกระดาษ เป็นต้น

ในยุคของฮั่นตะวันตกซึ่งเป็นช่วงต้นของราชวงศ์ฮั่นมีการใช้มาตราวัดหน่วยของน้ำหนักทองคำเรียกว่า จิน (Jin) โดย 1 จินในยุคสมัยฮั่นเท่ากับ 248 กรัมในปัจจุบัน แต่ต่อมาในยุคของฮั่นตะวันออก หรือช่วงปลายของราชวงศ์นั้น ทองคำ 1 จินเปลี่ยนไปเท่ากับ 220 กรัม ในปัจจุบันนี้ 1 จินถูกกำหนดให้เท่ากับ 500 กรัม หรือ 16.1 troy ounces

แม้จะมีข้อโต้แย้งกันว่าช่วงยุคของราชวงศ์ฮั่นนั้นมีทองคำ ประมาณ 248 ตัน ซึ่งประมาณเท่ากับ 40% ของทองคำสำรองของจีนในปีพ.ศ. 2546 ที่มีบันทึกอยู่ประมาณ 600 ตัน แต่เป็นที่ยอมรับว่ายุคนี้มีทองคำมาก และฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่นชอบประทานทองคำให้เป็นรางวัลแก่ขุนพลต่างๆ ที่ทำความดีความชอบ เห็นได้จากการค้นพบเหรียญทองจารึก ying yuan (??จำนวนมากในปี 2015 โดยนักโบราณคดีจีนที่ได้ไปขุดสุสานของฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น

หลังจากสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่นก็เป็นยุคของความแตกแยกเข่นฆ่าแย่งชิงอำนาจ เกิดกบฏผ้าเหลืองจนประเทศได้ถูกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรที่เรียกว่า ยุคสามก๊ก สู้รบกันเป็นเวลากว่า 60 ปี จึงสามารถกลับมารวมแผ่นดินใหม่อีกครั้ง โดยสุมาเอี๋ยนผู้ ประกาศตั้งราชวงศ์จิ้น ปกครองจีนต่อมา แต่การสงครามกับชนเผ่าต่างๆ ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงอำนาจไปจนจบยุคของราชวงศ์เหนือใต้

แผ่นดินจีนหาความสงบสุขไม่ได้เลยในช่วง เวลากว่า 400 ปีหลังจากที่สิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น การสงครามทำให้การผลิตทองคำในจีนลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงให้หน่วยวัดของทองคำให้เล็กลงไปอีกคือเป็น เหลี่ยง (liang) หรือ ตำลึง (tael) โดยที่ 1 เหลี่ยงทองคำเท่า กับ 50 กรัม (ในฮ่องกงจะกำหนดค่าให้ 1 tael = 37.43 กรัม ซึ่งเป็นมาตรฐานตกทอดมาจากยุคราชวงศ์หมิง และชิง)

หลังจากผ่านยุคสงครามจนถึงการรวมแผ่นดินของสมัยราชวงศ์สุย จีนก็กลับมามีความสงบสุขอีกครั้ง เพราะเป็นยุคที่จักรพรรดิทรงนับถือศาสนาพุทธ แม้นว่าราชวงศ์สุยจะปกครองจีนในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 37 ปี แต่ก็ได้สร้างคุณูปการที่สำคัญต่อประเทศคือการสร้างคลองขุดต้ายุ่นเหอ เชื่อมแม่น้ำฮวงโห กับแม่น้ำแยงซี ที่มีความยาวทั้งสิ้นกว่า 2,500 กิโลเมตร และใช้เวลาขุดกว่า 30 ปี นับเป็นงานวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งของโลกที่ยังคงอยู่ และมีอายุยาวนานกว่าพันปีแล้ว

ต่อมาเป็นยุคสมัยราชวงศ์ถัง ที่นักประวัติศาสตร์จีนยอมรับว่า เป็นยุคต้นสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์จีน ส่วนหนึ่งนั้นเพราะมีจักรพรรดิถังไถ่จงที่ยิ่งใหญ่มีพระนามสามัญว่า หลี่ซื่อหมิน ทรงยึดหลักคำสอนของขงจื๊อ ในการปกครองประเทศ ให้รางวัลผู้ที่กล้าวิจารณ์หรือคัดค้านความคิดของพระองค์ต่อหน้าพระพักตร์ โดยปกครองประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนก่อนเสมอ เห็นได้จากที่พระองค์ทรงปลอมเป็นสามัญชน เพื่อออกเยี่ยมและตรวจงานการปฏิบัติราชการของขุนนางบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการทำเหมืองแร่ทองคำ และเงินอย่างมาก

ราชวงศ์ถังปกครองประเทศยาวนานถึงกว่า 290 ปี การเมือง เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและรุ่งเรืองมาก เป็นยุคที่นิยมทองคำและฮ่องเต้ก็ชอบที่จะประทานของใช้ต่างๆ ที่เป็นทองคำให้กับขุนพลที่มีความดีความชอบ เช่นเดียวกับในยุคราชวงศ์ฮั่น ถึงกับมีการจัดตั้งหน่วยงานในพระราชวังสำหรับทำเครื่องใช้ทองคำและเงิน ก่อให้เกิดงานฝีมือที่มีการพัฒนาควบคู่ไปกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมจีนอีกสมัยหนึ่ง

พระพุทธศาสนาในยุคราชวงศ์ถังก็มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด เห็นได้จากที่พระภิกษุชื่อพระเสวียนจาง หรือพระถังซำจั๋ง ได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่อินเดีย และแปลเป็นภาษาจีนเพื่อเผยแพร่ออกไป  จนเกิดเป็นวรรณกรรมไซอิ๋วที่โด่งดังไปทั่วโลก (แต่งในยุคราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1590)

ในยุคสมัยราชวงศ์ถังนี้ยังมีจักรพรรดินีองค์แรกและยังเป็นองค์เดียวของประวัติศาสตร์จีนคือ จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ช่วงหลังของราชวงศ์ถังที่เสื่อมโทรมลง ทำให้มีการก่อกบฏแถบชายแดนและขันทีครองอำนาจบริหารบ้านเมืองอย่างเหิมเกริมแย่งชิงอำนาจกัน เป็นเหตุให้ราชวงศ์ซ้องหรือซ่งเข้ามารวบอำนาจ ปกครองประเทศต่อมา

แต่จีนก็ถูกรุกรานและยึดครองโดยชาวมองโกลในภายหลัง จนชาวมองโกลได้สถาปนาเป็นราชวงศ์หยวน โดยกุบไลข่าน (หลานของจักรพรรดิเจงกีสข่านแห่งมองโกล) ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความโหดร้าย เป็นยุคของการขยายดินแดนไปให้กว้างไกล ทำให้ไม่ค่อยมีการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงกระบวนการขุดทอง เพราะมีการกดขี่แบ่งชั้นให้พวกกรรมกรเหมืองมีฐานะทางสังคมต่ำที่สุด เกิดภาวะความยากแค้นขึ้นในกลุ่มชาวนา มีการต่อต้านและลุกขึ้นมาสู้ของชาวจีนโดยมีจูหยวนจางเป็นผู้นำกองกำลังกบฏโค่นล้มราชวงศ์หยวน และขับไล่มองโกลกลับออกไปจนกลายเป็นเพียงชนเผ่าธรรมดาเผ่าหนึ่งเท่านั้น และสถาปนาตนเองเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงหรือจักรวรรดิต้าหมิง

ในยุคสมัยของราชวงศ์หมิงต่อเนื่องไปยังราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน มีการควบคุมและเก็บภาษีจากเหมืองทองหนักขึ้น ทำให้มีการลักลอบทำเหมืองกันมาก ช่วงเวลากว่า 270 ปี ที่ราชวงศ์หมิงปกครองจีน ก็มีการสร้างพระราชวังต้องห้าม ซึ่งใช้เวลากว่า 15 ปีจึงแล้วเสร็จ และยังมีการพัฒนากองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น เห็นได้จากที่จีนได้ส่งกองเรือนำโดยขันทีเจิ้งเหอ (คนไทยรู้จักในชื่อของ ซำปอกง) ไปสำรวจมหาสมุทร และเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติไกลถึงแอฟริกา

    

ช่วงปลายของราชวงศ์หมิง จีนถูกรุกรานโดยญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์มากขึ้น ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากชาวแมนจูให้เข้ามาช่วยปราบปราม แต่ในที่สุดชาวแมนจูก็ได้เข้ามายึดครองประเทศเองและสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์ชิง ถึงแม้ชาวแมนจูจะเข้ายึดครองจีนอย่างไม่ยากลำบาก แต่ช่วงแรกที่ปกครองก็มีการต่อต้านอย่างมาก ทำให้ชาวแมนจูต้องใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด

จนถึงตอนปลายราชวงศ์ที่มีพระนางซูสีไทเฮา เข้ามารวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ และกำหนดให้ ผู่อี๋ (หรือปูยี) เป็นจักรพรรดิตั้งแต่พระชนม์พรรษายังไม่ถึง 3 ขวบ ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ที่สุดระบบราชวงศ์ก็ล่มสลายเนื่องจากขบวนการปฏิวัติของดร.ซุน ยัตเซ็นในปีพ.ศ. 2454 เป็นการปิดฉากการปกครองภายใต้ระบบจักรพรรดิมากว่า 2,000 ปีของยุคสมัยจักรวรรดิ

จากนี้จะเป็นการเข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่เรียกว่า ยุคสมัยใหม่ของจีน เป็นช่วงเวลาของความสับสน ต่อสู้ขัดแย้งภายใน มีการเข้าแทรกแซงของชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ในยุคการล่าอาณานิคมในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ที่เข้ามาขอแบ่งพื้นที่เป็นฐานเขตปกครองพิเศษเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองก่อให้เกิดปัญหาความยากจนที่รุนแรงบานปลาย และเกิดการปฏิวัติต่อสู้กันระหว่าง เจียงไคเช็ค และ เหมาเจ๋อตง จนเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ และการขนย้ายทองคำไปยังเกาะไต้หวัน ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

วีระชัย โชคมุกดา. (2558). ประวัติศาสตร์จีน มหาอำนาจผู้กุมชะตาโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซี สำนักพิมพ์.

Carolie Boeykens. Musuem of the National Bank of Belgium. (2007, September 5). Paper money, a Chinese invention? Retrieved March 20,2018, from http://www.nbbmuseum.be/en/2007/09/chinese-invention.htm

Laura He and Maggie Zhang. (2017, January 25). China retains crown as world’s top gold consumer, amid softening yuan and financial market volatility. South China Morning Post . Retrieved March 19, 2018, from http://www.scmp.com/business/markets/article/2065396/china-retains-crown-worlds-top-gold-consumer-amid-softening-yuan

Serena Chang. (2015, March 6). Gold in Ancient China. Retrieved April 30,2018, from http://www.theworldofchinese.com/2015/06/gold-in-ancient-china/

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 55 เดือน ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2561