ณ วันที่ 07/09/2559
ในฐานะผู้ผลิตเครื่องประดับทองคำรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และผู้ส่งออกเครื่องประดับทอง มากเป็นอันดับสองของโลก ตุรกีจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าของ 80 ประเทศในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปตะวันออก สหพันธรัฐรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS: เป็นประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของ สหภาพโซเวียตเก่าจำนวน 12 ประเทศ) ตะวันออกกลาง ทะเลดำ (Black Sea) คอเคเชีย และแอฟริกาเหนือ
สืบเนื่องจากงานศิลปหัตถกรรมเครื่องประดับตุรกีที่มีรากฐานมาจากมรดกทางวัฒนธรรมและ ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ถึง 5 พันปีของดินแดนอนาโตเลีย จวบจนปัจจุบันนี้ก็ได้รับการผสมผสานเข้ากับ เทคโนโลยีอันทันสมัย ฝีมือช่างที่โดดเด่น ความหลากหลายไร้ขีดจำกัด ศักยภาพในการผลิตที่ตอบสนองได้ทุกความต้องการ คุณภาพชั้นเยี่ยม ระดับราคาที่เอื้อต่อการแข่งขันในตลาด และความสามารถในการส่งมอบสินค้าในระยะเวลาที่สั้นลงมาก ส่งผลให้ธุรกิจการค้าและการส่งออกเครื่องประดับทองของตุรกีเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศและตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
รายงานที่เผยแพร่โดย World Gold Council เรื่อง Turkey: gold in action พูดถึงอุตสาหกรรม เครื่องประดับตุรกี โดยศึกษาบทบาทของทองคำในชีวิตประจำวันของประชากรในตุรกี ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคทองคำมากเป็นอันดับที่สี่ของโลก และยังวิเคราะห์การมีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย
ตุรกีเป็นโลกใบย่อมของตลาดทองคำโลก กล่าวคือ เป็นประเทศที่ตั้งของห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของ ทองคำ นับตั้งแต่การทำเหมือง การสกัดทอง ไปจนถึงการออกแบบเครื่องประดับ และการลงทุน ความต้องการบริโภคทองคำตามธรรมเนียมประเพณีอันยาวนาน บวกกับแรงหนุนจากมรดกทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิต ความเชี่ยวชาญในการผลิต การเป็นตลาดค้าเหรียญทองคำที่สำคัญ เป็นผลให้มีทองคำเก็บสะสมไว้ตามบ้านเรือนโดยเป็นทองที่สอดไว้ “ใต้หมอน” รวมกันประมาณ 3,500 ตัน (หรือคิดเป็นมูลค่าราว 145.3 พันล้าน เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งทองคำที่สอดไว้ใต้หมอนนั้นในตุรกีหมายถึงทองคำที่ประชาชนทั่วไปเก็บสะสมไว้
รายงานของ World Gold Council ประเมินบทบาทของทองคำในชีวิตผู้บริโภค วิเคราะห์การมีส่วน ช่วยเศรษฐกิจของห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด และตรวจสอบวิธีการกำหนดค่าคงที่ของโลหะเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2012 เพียงปีเดียว การผลิต บริโภค และการนำทองคำกลับมาใช้ใหม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจตุรกีได้อย่างน้อย 3.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นโยบายเพื่อการปฏิรูปของธนาคารกลางที่เริ่มขึ้นใน ปี 2011 จูงใจให้ธนาคารพาณิชย์สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีทองหนุน เพื่อระดมปริมาณทองคำสำรอง
นโยบายนี้ได้เสริมสร้างสภาวะของภาคธนาคารโดยช่วยลดต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่อง รวมทั้งยังทำให้มั่นใจได้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีทองคำสำรองเพิ่ม และขณะนี้มีทองคำราว 250 ตัน (ประมาณมูลค่า 10.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) เข้ามาในระบบการเงินและได้นำไปใช้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของตุรกีเป็นผลสำเร็จแล้ว
อลิสแตร์ ฮิววิตต์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลการตลาด (Market Intelligent) ของ World Gold Council กล่าวว่า “ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความท้าทาย ตุรกีต้องเผชิญกับความกดดันทั้งทางการเมืองและสังคมอย่างต่อเนื่อง ในการนำพาประเทศไปบนเส้นทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ทองคำนั้นเป็นตัวแทนหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมตุรกี ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานคนงานกว่า 250,000 คน ในอุตสาหกรรมทองคำ หรือการลงทุนที่ปกป้องทรัพย์สินของประชาชนจากเงินเฟ้อ และการอ่อนค่าของสกุลเงิน นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมือนใครให้กับประเทศอื่นๆ ในการนำทองคำมาใช้อย่างได้ผลในแกนหลักของโครงสร้างการเงินของประเทศ”
ข้อมูลสำคัญที่ค้นพบจากการศึกษาค้นคว้าของ World Gold Council มีประเด็นต่างๆ ดังนี้
– ทองคำเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมตุรกี โดยย้อนกลับไปเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าในลิเดีย (Lydia) อาณาจักรโบราณ ซึ่งเป็นตุรกีในปัจจุบัน ริเริ่มใช่เหรียญทองคำเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และตุรกียังคงเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหรียญอย่างเป็นทางการรายใหญ่ที่สุดของโลก
– ความต้องการทองคำที่มีมาอย่างยาวนานของตุรกีทำให้แต่ละครัวเรือนสะสมทองคำปริมาณมากสอดไว้ “ใต้หมอน” ประมาณการว่าในภาคครัวเรือนมีทองคำสะสมไว้รวม 3,500 ตัน นอกจากนี้ทองคำยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเศรษฐกิจตุรกี โดยการผลิต การบริโภค และการนำทองคำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจตุรกี ในปี 2012 เพียงปีเดียวได้อย่างน้อย 3.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
– ทองคำเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่มีความสำคัญในระบบการเงินของตุรกี โดยในสิ้นปี 2013 ธนาคารพาณิชย์มีทองคำสำรองราว 250 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้นำมาใช้ในการสนับสนุนเศรษฐกิจตุรกี โดยรวมไปถึงทองคำ “ใต้หมอน” ของตุรกีที่มีปริมาณ 40 ตัน หรือประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมมาตั้งแต่กลางปี 2012
– ด้วยห่วงโซ่อุปทานหลังการผลิตที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ตุรกีจึงมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการสกัดทองคำ และการนำทองคำเก่ากลับมาใช้ใหม่ ตุรกีมีผู้สกัดทองคำรายใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถสกัดแท่งโลหะผสม (dore) ได้ตามมาตรฐานของ The London Bullion Market Association (LBMA) ที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ตลอดจนสามารถผลิตทองคำหรือนำทองคำเก่ากลับมาใช้ได้เช่นกัน
– อุตสาหกรรมเหมืองทองคำของตุรกีมีขนาดเล็ก แต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การผลิตทองคำ เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยสูงขึ้นจาก 2 ตันเป็น 33.5 ตันในปี 2013
จากรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่ความต้องการภายในประเทศเท่านั้นที่สูง อุตสาหกรรม เครื่องประดับตุรกียังมีผลกำไรจากการส่งออก และการค้าขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ได้ผลดี ทั้งนี้ การส่งออก เครื่องประดับทองคำของตุรกีนั้นรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นหลังยกเลิกการจำกัดการส่งออกในปี 1983 เป็นต้นมา
สำหรับอิตาลี ผู้ส่งออกเครื่องประดับทองรายใหญ่ที่สุดของโลกจะยังคงรั้งตำแหน่งอันดับหนึ่งไว้ได้อีกระยะหนึ่ง โดยมีตุรกีเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับทองในอันดับสอง ตลาดส่งออกเครื่องประดับทองรายใหญ่ที่สุดของตุรกีก็คือ ตะวันออกกลาง แต่ตุรกีก็ยังสามารถส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเยอรมนีด้วยเช่นกัน
ระหว่างปี 1998 และ 2013 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับของ ตุรกีซึ่งส่วนใหญ่เป็นทองคำ เพิ่มขึ้นจาก 209 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 3.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้จากต่างประเทศ ในมูลค่าสูง
ปี 2015 เศรษฐกิจตุรกีมีแววโตแซงหน้าทุกชาติทั่วโลก
ผลการศึกษาที่ดำเนินการโดยนิตยสาร The Economist ซึ่งนำเสนอการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2015 เป็นรายประเทศ ระบุว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ในปี 58 แต่เศรษฐกิจตุรกีจะขยายตัวถึงร้อยละ 4 โดยสภาวะปัจจุบันของเศรษฐกิจตุรกีนั้นอยู่ในระดับดีแม้จะมีความเสี่ยงในตลาดโลก และ ปี 2015 จะเป็นปีที่ท้าทายก็ตาม
ในปี 2015 รายได้ต่อหัวของชาวตุรกีอยู่ที่ 11,180 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ประมาณการว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 7.4 องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) Standard and Poor และ Moody คาดการณ์อัตราการเติบโตของตุรกีในปี 2015 แตกต่างกันออกไป โดยมีอัตราตั้งแต่ร้อยละ 2.8 ถึง 3
ทั้งนี้ คาดว่าการยกเลิกการห้ามผ่อนชำระค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งองค์กรกำกับและดูแลสถาบัน การธนาคาร (Banking Regulation and Supervision Agency) มีคำสั่งให้บังคับใช้กับร้านเครื่องประดับในตุรกี จะทำให้ตลาดในประเทศฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2014 ขณะเดียวกันก็คาดการณ์กันว่าผลกระทบของการ บังคับใช้ภาษีการบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax) จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจนี้ในระยะกลาง และระยะยาว
สำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจในปีนี้ ควรจะพิจารณาผลการศึกษาต่อไปนี้ ที่นำเสนอข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งเป็นตลาดผู้นำเข้าเครื่องประดับที่ สำคัญของโลก
ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหนักในตะวันออกกลาง แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคจะยังคงมีความมั่นคงปลอดภัย ในส่วนของดูไบคาดว่าการขยายตัวในสินทรัพย์ถาวร และการก่อสร้าง จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปี 2015 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5 ส่วนการเติบโตของสินทรัพย์ถาวรอาจจะอยู่ที่ร้อยละ 6
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเครื่องประดับตุรกี การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2014 มีมูลค่า 505 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 516 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 ซึ่ง คาดกันว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับ ตุรกีต่อไปในปี 2015
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ดูจะยืนยาวมากขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวต่อปีมากกว่าร้อยละ 3 ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลานี้ นายจ้างในสหรัฐอเมริกาจ้างงานใหม่มากที่สุดในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2014 มีการจ้างงานถึง 2.5 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าจะมีการขยายตัวในลักษณะใกล้เคียงกันอีกในปี 2015
แม้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะยังไม่กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างสมบูรณ์นักหลังวิกฤติเมื่อปี 2008-2009 แต่ก็ นับว่ากำลังฟื้นตัวในปี 2015 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะนำหน้าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (developed economy) โดยอัตราการเติบโตราวร้อยละ 3 ในปีนี้ จะทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับของสหรัฐอเมริกา (Jewelry Exporters Association) ก็ยืนยันการคาดการณ์นี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2014 การส่งออกเครื่องประดับ ตุรกีไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 121 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2013
ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัว อาจมีผลต่อทัศนะของอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ตุรกีที่มีต่อสหรัฐอเมริกา และบริษัทต่างๆ อย่าง Wal-Mart และ QVC จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ดังเช่นที่ เคยเป็นเมื่อปลายทศวรรษปี 1990 อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 บริษัทตุรกีจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับ บริษัทจากประเทศเอเชียตะวันออกอย่างเช่น จีน ในตลาดสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยุโรปจะยังคงอยู่ในสภาวะที่น่าวิตกกังวล เป้าหมายในปี 2015 ของประเทศใน กลุ่มยูโรโซนจะเป็นการหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 3ในรอบ 7 ปี โดยเยอรมนีซึ่งเป็น ประเทศที่เศรษฐกิจมีความสำคัญมากที่สุดของยุโรป อาจมีความเปราะบางอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมาตรการ คว่ำบาตรที่มีต่อรัสเชีย
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คาดว่าในปี 2015 จะเห็นการฟื้นตัวอย่างมาก จากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป หากแต่อุตสาหกรรมเครื่องประดับตุรกีก็ยังสามารถส่งออกไปยังยุโรป รวมถึงรัสเชีย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2014 ด้วยมูลค่าการส่งออก 794 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้จะเป็นเช่นนี้ ตลาดยุโรป ตลอดจนตะวันออกกลาง และเอเชีย ก็ยังเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องประดับตุรกีด้วยเช่นกัน
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)