เงินทองกองรอบตัว

ณ วันที่ 04/08/2558

 

 

 

     ไฟกองน้อยๆ ในใจของผมเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งก็เพียงเพราะผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “เงินทองกองอยู่ทั่วไป” ของนวพร เรืองสกุล ที่ได้พยายามประดิดประดอยเนื้อหามาจากนิทานชาดกในพระไตรปิฎก เป็นไปในเชิงแง่คิดและตัวอย่างการสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างตน โดยได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยมูลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน ก็ด้วยเพราะประโยคเด็ด

    “คนมีปัญญาเฉลียวฉลาดย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนแม้น้อยดุจคนก่อไฟน้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น”

    ประโยคเดียวที่สะกดให้ผมตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบลงได้ภายในระยะเวลาเพียงงีบหนึ่งก็ถึงแล้ว เรื่องราวของบุรุษผู้ยากจนข้นแค้นผู้หนึ่ง สร้างตนจนเป็นเศรษฐีประจำพระนคร นามว่า “มุสิกเศรษฐี” เพียงเพราะหนูตายตัวเดียว…

    วันหนึ่งขณะเขากำลังเก็บกวาดใบไม้อยู่บริเวณถนนหลวงหน้าบ้านจุลลกะเศรษฐี เขาได้ยินเสียง เศรษฐีเปรยว่า “คนมีปัญญาย่อมใช้หนูตัวนี้ให้เป็นประโยชน์เลี้ยงลูกเมียและประกอบการงาน” เขาฉุกคิด ได้เมื่อเห็นหนูตายตัวหนึ่งตรงบริเวณนั้นพอดี เขาตั้งใจนำหนูตัวนั้นไปขายที่ตลาด พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ขอซื้อหนูเพื่อนำไปเป็นอาหารให้แมว ได้เงินมา “กากณึกหนึ่ง” การเที่ยวเสาะแสวงหาเศษสิ่งของเพื่อนำมาขายนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะจีรังยั่งยืน

    ความคิดใหม่โลดแล่นขึ้น เมื่อบุรุษหนุ่มสังเกตเห็นคนเก็บดอกไม้ออกจากเมืองไปแต่ก่อนตะวันขึ้นเพื่อไปเก็บดอกไม้ในป่า แล้วเดินกลับเข้าเมืองมาด้วยความอิดโรย “ถ้ามีใครหาน้ำให้พวกเขาดื่มสักหน่อยก็คงเป็นที่น่าพอใจนัก”

    เขาจึงนำเงิน “กากณึกหนึ่ง” นั้นไปซื้องบอ้อย หาหม้อใบหนึ่งมาตักน้ำแล้วไปอยู่ตรงบริเวณทางเดินที่คนเก็บดอกไม้เดินผ่านเป็นประจำเขาบริการคนเก็บดอกไม้ด้วยชิ้นงบอ้อยคนละหน่อย และให้ดื่มน้ำหนึ่งซองมือ เพื่อแลกกับดอกไม้คนละหนึ่งกำมือที่พอรวมกันแล้วมากพอที่จะทำให้เขากลายเป็นคนส่งดอกไม้ไปโดยปริยาย เขาทำเช่นนี้อยู่หลายเดือนจนเขารวบรวมเงินได้ “8 กหาปณะ”

    พายุฝนที่กระหน่ำได้หอบกิ่งไม้และใบไม้ตกเกลื่อนกลาดในพระราชอุทยาน นำความกังวลใจมาสู่คนเฝ้าสวนยิ่งนัก เพราะยังไม่สามารถที่จะจัดการกับพระราชอุทยานเพื่อรับเสด็จได้เลย บุรุษหนุ่มขานอาสาเก็บกวาดพระราชอุทยานให้โดยมีข้อแม้ว่าเศษกิ่งไม้เหล่านั้นต้องตกเป็นของเขา คนเฝ้าสวน ยินดียกให้โดยหารู้ไม่ว่าเศษกิ่งไม้เหล่านั้นกลายเป็นทรัพย์สินมีค่าถึง “16 กหาปณะ” พร้อมกับภาชนะฝีมือประณีต 5 อย่าง จากช่างหม้อหลวง ที่ขอซื้อเศษกิ่งไม้จากเขาเพื่อเอาไปทำฟืนในการเผาภาชนะดินเผาของหลวง

    เขานำตุ่มน้ำที่ได้ไปตั้งไว้ให้บริการน้ำดื่มแก่คนหาบหญ้ากว่า 500 คน จนมิตรไมตรี ผลิดอก ออกผล วันหนึ่งเขาเอ่ยปากขอหญ้าคนละกำจากคนหาบหญ้า และร้องขอกับคนหาบหญ้าว่า ขอให้พวกเขาอย่าได้ขายหญ้าสักหนึ่งวัน และแล้ววันนั้นพ่อค้าม้าได้นำม้ามาพระนคร 500 ตัว ต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าไม่มีพ่อค้าขายหญ้าเลยแม้แต่คนเดียว พบแต่เพียงชายหนุ่มผู้หนึ่งกับกองหญ้ามหึมา พ่อค้าจึงขอร้องให้ชายหนุ่มขายหญ้าให้ เขาได้เงินมา “1,000 กหาปณะ” พร้อมกับความรู้ใหม่ที่ว่า “ของที่หายากย่อมมีราคาเสมอ” แต่ก็มิได้เบียดเบียนคนขายหญ้าเลยแม้แต่คนเดียว เพราะเขาขอให้คนขายหญ้าเลิกขายหญ้าแค่เพียงวันเดียว

    วันต่อมาพ่อค้าขายหญ้าคนอื่นก็ยังคงทำกำไรจากการขายหญ้าได้เช่นเดิม เขารุดไปท่าเทียบเรือเป็นคนแรก ก่อนที่เรือขนสินค้าจะมาเทียบท่าเสียด้วยซ้ำ เขาเจรจาต่อรองกับพ่อค้าที่มากับเรือขนสินค้าชั้นเยี่ยมจำนวนมหาศาลด้วยการวางมัดจำแค่แหวนวงเดียว พ่อค้าคนกลางที่ตั้งใจจะมาซื้อสินค้าจากเรือต้องผิดหวังเมื่อพบว่า สินค้าเหล่านั้นได้ตกเป็นของชายหนุ่มไปเสียแล้ว ชายหนุ่มยินดีจะให้พ่อค้าคนกลางทุกคนมีส่วนร่วมในการได้สินค้าจากเรือไปจำหน่าย ด้วยการให้ทุกคนร่วมหุ้นกันซื้อสินค้า เขาได้เงินจากการทำธุรกิจ “200,000 กหาปณะ” แล้วนำเงินกึ่งหนึ่งไปมอบให้แก่จุลลกะเศรษฐี เพื่อตอบแทนคุณที่ท่านได้สอนให้เขากลายเป็นผู้มีอันจะกินมาจนถึงทุกวันนี้ จุลลกะเศรษฐียกบุตรี ให้เป็นภรรยา และได้ดำเนินธุรกิจในครอบครัวจนจุลลกะเศรษฐีเสียชีวิต พระราชาจึงแต่งตั้งเขาให้เป็น “มหาเศรษฐีแห่งพระนคร” คนต่อไปนามว่า “มุสิกเศรษฐี”

    “ถ้าเราเลือกบริการที่ถูกสถานที่ ถูกเวลา และถูกความต้องการของผู้ซื้อ เราย่อมขายได้กำไร” ก็ตอนที่เขาไปบริการน้ำดื่มกับช่างเก็บดอกไม้นั่นประไร “เราต้องใช้ความพยายามอีกส่วนหนึ่ง ที่จะหาวิธีแปลงสิ่งที่เราได้มาให้เป็นสินค้าให้ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งของที่อยู่ในใจของเรามันก็ไม่เป็นเงิน แต่เมื่อคิดว่ามัน เป็นสินค้าเมื่อใด มันก็จะเป็นเงินเมื่อนั้น” ก็ทั้งหนูตาย ทั้งเศษไม้ เหล่านั้นนั่นแหละคือเงินทอง “พอเห็นเราทำอะไรแล้ว ก็มักจะมีคนทำตาม สุดท้ายสิ่งที่เราทำก็จะล้าสมัยไป” ถ้าต้องไปบริการน้ำให้คนเก็บดอกไม้อยู่ร่ำไป สักวันก็คงมีคนทำตามหรือไม่ก็ คนเก็บดอกไม้คงเอาน้ำติดตัวไปดื่มเอง

    “ของไม่มีค่าสำหรับบางคน อาจมีค่าสำหรับอีกคน”

    “เมื่อเรามีเงินแล้ว เราก็ต้องรู้จักใช้เงิน และการใช้เงินทางหนึ่งก็คือ การแบ่งปันให้กับผู้อื่นบ้าง แม้เมื่อเรายังมีเงินน้อยอยู่เราก็ทำได้”

    ขอบคุณ “จุลลกเศรษฐี พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดกเอกนิบาต” ที่ทำให้ผมมีความคิดอยากเป็นเศรษฐี และต้องเป็นเศรษฐีที่มีคุณธรรมแบบเดียวกับ “มุสิกเศรษฐี” เรื่องนี้คงไม่ได้เป็นแค่นิทานก่อนนอนสอนลูกเท่านั้น หากไม่มีประโยชน์จริง คงไม่มีคนเล่าต่อกันมานับพันๆ ปีเช่นนี้

    ครั้งนี้ที่ผมนำมาเล่า มันจะยิ่งไม่มีประโยชน์อันใด หากอ่านจบปิดหนังสือแล้วนอนหลับไป จวบวันรุ่งขึ้นไม่มีอะไรอยู่ในสมองเลยแม้แต่น้อย… ขอบคุณเศรษฐีทุกท่านที่อ่านจนจบ

ที่มา : คิดเป็นเงินเป็นทอง วารสารทองคำฉบับที่ 45 เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558

ขอบคุณภาพจาก : www.bloomberg.com
usafreemoney.com