ทองสุโขทัย นพคุณแห่งเมืองเก่า

ณ วันที่ 23/04/2558

 

     “จังหวัดสุโขทัย” เมื่อ 700 ปีก่อน นอกจากเคยดำรงสถานะเป็นราชธานีเมืองหลวงของกรุงสุโขทัยที่มีฐานประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งทางด้านศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ จึงทำให้เกิดช่างสกุลสุโขทัยด้านต่างๆ ขึ้นไม่น้อย และในจำนวนนั้นก็คือ ช่างทองสกุลสุโขทัย

     จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นภาพสลักและภาพปูนปั้นในสมัยสุโขทัย รวมถึงจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ได้กล่าวถึงการค้าเงินค้าทองไว้ด้วย ขณะที่หลักศิลาจารึกหลักอื่นๆ มีการกล่าวถึงการใช้ทองคำมาเกี่ยวข้องกับพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เช่น พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ไชยศรี และเศวตฉัตร รวมถึงใช้ทองคำเป็นเครื่องราชบรรณาการ และการสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ รวมทั้งภาชนะอื่นๆ เช่น ตลับและผอบเล็กๆ สำหรับใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก และเครื่องประดับ เช่น แหวน ต่างหู กำไล ฯลฯ แหล่งทองคำในสมัยนั้นส่วนหนึ่งนำมาจากบางสะพาน ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีน รวมทั้งยังมีการค้นพบพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กและแผ่นลานทองคำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ทองคำเปลวปิดพระพุทธรูปสำริด

     อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นงานการผลิตทองคำ ยังเป็นงานที่ผลิตจากช่างทองหลวง เพื่อใช้ในพระราชวัง หรือบุคคลชั้นสูง ทำให้การสืบทอดอยู่ในวงจำกัดและไม่ปรากฏพบข้อมูลการสืบทอดศิลปะแขนงนี้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดๆเลย

     จวบจนปี 2473 ได้ปรากฏช่างทองในจังหวัดสุโขทัย คือ นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ ผู้ที่ทำให้ทองสุโขทัยหรือทองศรีสัชนาลัยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยได้รับความรู้วิชาทำทองจากช่างทองชาวจีน คือนายพ้ง และ นายขุ่ย ซึ่งนายเชื้อ เล่าเรียนอย่างจริงจังจนสามารถทำทองได้ทุกรูปแบบได้ด้วยตนเอง ในเวลาต่อมาจึงเปิดร้านทำทองเป็นของตนเอง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งร้านทองสมสมัยในปัจจุบัน คือ บริเวณ 343/1 หมู่ 5 ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย) โดยจะรับทำทองตามที่ลูกค้าต้องการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงสร้อยคอ แหวน หรือกำไล ที่มีลวดลายเรียบๆ และมีลวดลายอยู่เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น ยังไม่มีการทำทองรูปพรรณออกจำหน่าย และเป็นการรับทำทองที่มีรูปแบบ โดยอาศัยเครื่องมือง่ายๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง ส่วนเนื้อทองใช้ทองคำความบริสุทธิ์ร้อยละ 96.5 ต่อมานายเชื้อได้ถ่ายทอดวิชาช่างทองให้แก่บุตรสาว คือนางสมสมัยจนมีความรู้ความสามารถในการทำทองอย่างเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับบิดา แต่ก็ยังเป็นการรับผลิตตามสั่งเช่นเดิม

     ในยุคของนางสมสมัยนี้ งานทำทองเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีรูปแบบขึ้นเฉพาะตัว ภายหลังจากมีลูกค้าที่มีเส้นถักสำริดโบราณที่ได้จากบริเวณริมแม่น้ำยมมาให้นางสมสมัยทำเลียนแบบ ซึ่งเป็นลวดลายที่ไม่มีอยู่ในท้องตลาด จึงทำการแกะลายออกมาทีละปล้อง จนสามารถทราบได้ว่าแต่ละขั้นตอนเริ่มต้นถักและสิ้นสุดอย่างไร โดยเริ่มจากการขมวดเส้นลวดทองแล้วเริ่มถักเส้นทองนั้นขึ้นมาจนเป็นเส้นสร้อย ซึ่งมีลายใกล้เคียงกับต้นแบบ จากนั้นจึงนำลวดทองไปให้นายเลื่อน ลอยฟ้า ผู้ที่มีอาชีพจักสานทำการถักสร้อยจนแล้วเสร็จ

     นางสมสมัยจึงเริ่มผลิตสร้อยถักรูปแบบดังกล่าวออกจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด จึงเริ่มผลิตทองคำรูปพรรณลวดลายอื่นๆ โดยศึกษาลวดลายจากแหวนทอง สร้อยถักโบราณ และลวดลายที่ปรากฏในลายปูนปั้นตามโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย พร้อมกับใช้ทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ 99.99 ซึ่งเป็นเนื้อทองที่ใช้ทำทองคำในสมัยโบราณ ซึ่งมีข้อดีคือ ได้เนื้อทอง “สีดอกจำปา” มีความสุขสว่างกว่า หรือที่เรียกว่า “ทองสีดอกบวบ” ซึ่งแทบทุกชิ้นได้ผลตอบรับดี มียอดการผลิตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เวลาต่อมาการทำทองคำลวดลายโบราณเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และมีการถ่ายทอดการทำทองคำไปในหมู่เครือญาติของนางสมสมัย รวมทั้งมีการเปิดร้านจำหน่ายทองรูปพรรณใหม่ๆ ในเวลาต่อมา เช่น ร้านทองสมศักดิ์ (พี่ชาย) ร้านทองนันทนา (หลาน) ร้านอรอนงค์ (ญาติฝ่ายสามีนางสมสมัย) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดร้านจำหน่ายทองรูปพรรณลวดลายโบราณอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนางสมสมัย เช่น ร้านทองสุภาพร ของคุณวิเศษ วงศ์จันทร์

     พร้อมกันนี้นางสมสมัยและเครือญาติยังมีการถ่ายทอดความรู้ไปยังช่างทองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครือญาติเพื่อให้ศิลปะแขนงนี้แพร่หลายและไม่สูญหาย เช่น การรับฝึกงานให้นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร กาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง และวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย

     ปัจจุบันทองโบราณจากการสืบทอดของนางสมสมัย มีการรังสรรค์เครื่องประดับสำหรับการใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า ออกเป็น 5 ประเภท คือ เครื่องประดับนิ้ว มีแหวนทองคำลงยา แหวนหัวมังกร แหวนพ่อขุน เครื่องประดับเอว มีเข็มขัดลายต่างๆ และหัวเข็มขัดแกะสกัดลวดลายฉลุ หรือการตอกลายนูน เครื่องประดับหู มีต่างหูแบบต่างๆ ทั้งลายฉลุ ลายหลอดก้านแข็ง เครื่องประดับเท้า มีผู้สั่งทำบ้างแต่จำนวนน้อย เช่น กำไลข้อเท้า เข็มกลัดและเครื่องประดับอื่นๆ ส่วนใหญ่มักสั่งเป็นลายฉลุ การตอกลายหรือลายประดิษฐ์

     ขณะที่ลวดลายมีการคิดค้นจากสิ่งแวดล้อม 6 กลุ่ม คือ กลุ่มลวดลายพฤกษา เป็นการเลียนแบบลวดลายจากดอกไม้และต้นไม้ เช่น ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว ลายพรรณพฤกษา โดยในลวดลายกลุ่มนี้จะใช้เทคนิคการลงยา ซึ่งเป็นการใช้ศิลปะวิทยาการสมัยอยุธยา ใช้แทนการประดับเพชรพลอย เพราะสามารถทำได้ละเอียด โดยแทรกซึมเข้าไปตามรอยเล็กๆ สีที่ลงยานี้ไม่ทำให้น้ำหนักของทองเปลี่ยนไป กลุ่มลวดลายสิงสาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นาค หงส์

     กลุ่มลวดลายไทยประยุกต์ เช่น ลายกนก ลายกระจัง ลายอุบะ รวมทั้งลวดลายที่เกิดจากจินตนาการและการเลียนแบบปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ลายเธค (ดวงไฟตามดิสโก้เธค) ลายหัวใจ ลายเสื่อ ลายเกลียวคลื่น เป็นต้น กลุ่มลวดลายประติมากรรม จากรูปเคารพ ลายปูนปั้น และจิตรกรรมฝาผนังที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อาทิ ลายเครือวัลย์ ลายนางพญา แหวนมังกร ลายนะโม ลายเทพพนม ลายกนก ลายนักษัตรตามปีเกิด

     กลุ่มลวดลายจากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ลายสุ่ม ลายลูกตะกร้อ ลายตะกรุด ลายมัดหมี่ ลายจักสาน ลายปี๊บ และ กลุ่มลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายเม็ดมะยม ลายหยดน้ำ ลายไข่ปลา ลายเถาวัลย์ ลายลูกประคำ

     ส่วนรูปแบบที่โดดเด่นอันเกิดจากการคิดค้นของช่างทองสกุลสุโขทัย คือ กลุ่มการถักทองคล้ายกับการถักโครเชต์ มีการถัก 2 แบบ คือ 1. การถักกลม เป็นการถักลวดลายตั้งแต่ สามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา ถึงสิบเสา ถ้าจำนวนเสามาก เส้นทองจะใหญ่ขึ้น นิยมนำไปทำสร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ลายถักที่ประกอบเป็นสร้อยคอ หรือลายสร้อยข้อมือ ได้แก่ ลายกระดูกงู เกลียวเชือก เกล็ดมังกร (มังกรคาบแก้ว) กระดูกแย้ สี่เสา หิ้วเย้า ตะขาบ ผ่าหวาย สายรุ้ง สนเกลี้ยง และพวงมาลา 2. การถักแบน เป็นการถักแบนทำสร้อยข้อมือเป็นลายเปีย ลายเย้า และเคยมีการถักถึงสองร้อยเสา สำหรับถักเป็นเสื้อและกระเป๋า เป็นต้น

     กลุ่มลูกประคำทองคำลงลาย เป็นการประดิษฐ์ชิ้นงานลักษณะเป็นทรงกลม มีรูตรงกลาง ข้างในกลวง เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ตะกร้อ มะยม ลูกสุ่ม ปิ๊บ ลูกสน ตะกรุด ลูกประคำเกลี้ยง ลูกกลอง ตะกรุดข้าวหลามตัด ตะกรุดสุโขทัย ตะกรุดไอน้ำ ลูกเงาะ ลูกหกเหลี่ยม วงแหวน ไข่ปลา รัดข้อผ่าหวายพร้อมกับการเดินลาย หรือฉลุบนพื้นผิวด้านนอกแบบไทย เช่น ลายเครือวัลย์ ใช้สำหรับนำไปร้อยตกแต่งสร้อย ต่างหู หรือกำไล และยังมีการใช้เทคนิคการตอกลายนูนบนกลุ่มลูกประคำ เพื่อทำเป็นกำไล จี้ เข็มขัด หรือเครื่องใช้ เช่น ปิ่นโต กระเป๋า และการทำเป็นหลอดก้านแข็ง ซึ่งเป็นการตัดทองเป็นแผ่นบางแล้วม้วนเป็นหลอดตกแต่งลวดลาย ประดิษฐ์เป็นกำไลข้อมือ สร้อยคอ

     การทำทองสุโขทัยนั้น ยังคงภูมิปัญญาการทำทองแบบโบราณ คือการทำด้วยมือแทบทุกขั้นตอน มีวิธีการดังนี้

    1. ขั้นตอนทำทองตามแบบฉบับทองสกุลช่างทองสุโขทัย เริ่มจากการหลอมทอง ช่างทองจะนำทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.99 มาหลอมให้ละลาย โดยการเป่าไฟในเบ้าหลอมจนทองละลายกลายเป็นของเหลว เทลงในรางสี่เหลี่ยม ทองจะแข็งตัวจับเป็นแท่ง

    2. การตีทอง หรือรีดทอง ช่างทองจะนำทองที่หลอมแล้วมาตีแผ่เป็นแผ่นหรือรีดยาวเป็นเส้นหรือเป็นแผ่น โดยเครื่องรีดแผ่นทอง และเครื่องชักทองเป็นเส้นขนาดต่างๆ กันตามความต้องการ

   3. กรรมวิธีการประดิษฐ์ ทองสุโขทัยมีการประดิษฐ์ลวดลายเป็นทองรูปพรรณหลายลักษณะ ได้แก่ การถักทอง การทำลูกประคำทอง การขึ้นปี๊บ และการขึ้นเม็ดมะยม ก่อนที่จะนำทองลักษณะต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นลวดลายเลียนแบบไทย ตามจินตนาการเชิงศิลปะของช่างทอง

    4. การต้มทอง การต้มทองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำเครื่องทอง เป็นการทำความสะอาดเครื่องทองไม่ให้มีน้ำประสานทองเจือปน โดยการนำทองที่ทำแล้วมาเผาให้แดงจนทองร้อนทั่ว จากนั้นนำไปแช่ในกรดกำมะถัน เพื่อให้กรดกัดโลหะอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของน้ำประสานทองออก แล้วนำไปแช่ในน้ำเกลือเค็มจัด จากนั้นนำมาเผาให้แดงอีกครั้ง ล้างด้วยน้ำ แล้วนำไปต้มในน้ำมะขามเปียก และนำทองมาทำความสะอาด และขัดด้วยแปรง ก็จะได้ทองที่สวยงามตามเอกลักษณ์ของทองสุโขทัย

ที่มา : เล่าขานตำนานทอง วารสารทองคำฉบับที่ 28 เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2553