ณ วันที่ 26/02/2558
เรื่องราวการทะเลาะกันของขาใหญ่ ซึ่งขาลีบอย่างเราๆ ก็ต้องรับผลไม่มากก็น้อยถ้าเราลองย้อนอดีตดูการสู้รบมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการแย่งชิงอาหารหรือของมีค่าที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลพอสังคมพัฒนาขึ้นก็เริ่มเป็นการสู้รบระหว่างชนชาติ พัฒนาการของอาวุธที่ใช้ก็มีการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันการต่อสู้กลับไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ (ในความหมายของสิ่งที่ให้ประหัตประหารกัน) แต่ใช้สิ่งที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจทั้งแต่ราคาสินค้า การครอบครองทรัพยากรที่จำเป็นรวมถึงการสู้รบผ่านระบบอัตราแลกเปลี่ยน
สงครามค่าเงิน (currency war) มีการพูดถึงมาพักใหญ่แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากรอยร้าวของชาติมหาอำนาจสองขั้วเริ่มร้าวลึกขึ้น คู่ขัดแย้งที่ชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา กับแฝดต่างฝาอย่างจีน-รัสเซีย สหรัฐอเมริกาครอบครองความได้เปรียบมายาวนานหลังสงครามเย็น แต่ด้วยการกระทำที่ดูจะเป็นการวางก้ามมากจนเกินไป จนทำให้ชาติที่ไม่ได้เป็นลูกไล่สหรัฐฯ เริ่มแสดงอาการไม่พอใจและเริ่มที่จะหาทางตีตัวออกจาก “ระบบ” ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น จีนเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดและมีข้อพิพาททางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ มาพักใหญ่ตั้งแต่เรื่องการกีดกันการค้า การรุกหาพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค การแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายบิดเบือนกลไกตลาดของสหรัฐฯ ของจีนที่ถือเป็นความกล้าหาญที่ชาติอื่นก็ไม่พอใจแต่เลือกที่จะไม่พูด ความพยายามในการผลักดันค่าเงินหยวนให้กลายเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระราคาระหว่างประเทศได้ เหล่านี้ล้วนเป็นการท้าทายอำนาจสหรัฐฯ ด้านรัสเซียเองหลังจากถูกกดดันในหลายด้านจนยูเครนซึ่งเป็นเหมือนลูกศิษย์ก้นกุฎิเริ่มตีตัวออกห่างจนทำให้รัสเซียอดรนทนไม่ได้ก็เริ่มแสดงแสนยานุภาพเพื่อเป็นการเตือนสหรัฐฯ และพันธมิตรว่าอย่ารุกมามากกว่านี้ด้วยการเข้ายึดแคว้นไครเมียและกลายเป็นฉนวนความขัดแย้งสำคัญที่ทำให้รัสเซียเลือกที่จะ “ตอบโต้” ด้วยนโยบายด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางทรัพยากร ด้วยการทำข้อตกลงหลายเรื่องกับจีนที่ถือเป็นพันธมิตรที่จำเป็นจะต้องจับมือด้วย เพียงเพราะมีศัตรูคนเดียวกัน โดยผมมองว่ารัสเซียคงมีความพยายามที่จะทำให้ระบบดอลลาร์ที่มีอยู่เดิมเกิดความสั่นคลอนด้วยการให้ชำระราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสกุลเงินอื่น ซึ่งถือเป็นการทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจริงๆ และผมมองว่าการกดราคาน้ำมันให้ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นผลมาจากเกมส์การต่อสู้นี้ เป็นการตอบโต้รัสเซียเกมส์การต่อสู้แบบนี้จะยังดำเนินไปอีกในอนาคตและน่าจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น
ผลกระทบจาก currency war จะทำให้ความผันผวนของระบบสกุลเงินมีมากขึ้นโดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อราคาทองคำโดยตรง นอกจากนี้การที่จีน-รัสเซียจะผลักดันค่าเงินหยวนและรูเบิลขึ้นมาเป็นสกุลเงินที่ทัดเทียมดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในทุนสำรองและที่ผ่านมาทั้งสองประเทศก็มีการสะสมต่อเนื่องจริง ดังนั้นถ้ามองมุมนี้ระยะยาวทองคำน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในอาวุธในการทำสงครามค่าเงิน
ที่มา : จูเก๋อเลี่ยง วารสารทองคำ ฉบับที่ 43 เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557