QE คำตอบสุดท้ายของ ECB ?

ณ วันที่ 20/02/2558

 

 

    ในเดือนที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนทั่วทั้งโลก คงหนีไม่พ้นประเด็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินของกลุ่มสหภาพยุโรปในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทั้งนี้ทางธนาคารกลางยุโรปออกมาประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์หลายประเภทโดยเฉพาะพันธบัตรในวงเงินถึง 6 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งคิดเป็นวงเงินกว่า 1 ล้านล้านยูโร ซึ่งถือว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว ซึ่งหลายฝ่ายออกมาวิตกกังวลว่า การทำคิวอีครั้งนี้ถือว่ามีความยากพอสมควรเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในยูโรแตกต่างจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯและญี่ปุ่นซึ่งทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินและสำเร็จมาแล้ว ด้วยการที่กลุ่มสหภาพยุโรปไม่ได้มีเพียงประเทศเพียงเดียว แต่มีอีก 18 ประเทศซึ่งต่างมีคุณภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

    หลังวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ปี2014 นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับนักลงทุนทั่วโลกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดำเนินนโยบายการเงิน จากการที่อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนนั้นลดลงต่ำกว่า 1% อย่างต่อเนื่อง ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะเงินฝืด(Deflation) ทาง ECB ประกาศการใช้มาตรการทางการเงินแรก คือ TLTRO (Target Long Term Refinancing Operation)หรือการปล่อยสินเชื่อให้กับธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ ที่ระดับ 0.05% และปรับอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ธนาคารพาณิชย์พักไว้ (Deposit facility) เหลือ -0.2% สองคือ การเข้าซื้อสินทรัพย์ของภาคเอกชนประเภท ABS (Asset Back Securities) และ Covered bonds สินเชื่อภาคเอกชนชั้นดีหนุนหลัง อย่างไรก็ตามในปลายปี 2014 หลังจากการทำ QE ไปนั้น ในเดือนธันวาคม CPI ดัชนีราคาสินค้าทั่วไปกลับตกลงติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเข้าซื้อแค่ ABS และ covers bonds ไม่เพียงพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่นี้ได้ ในต้นปี 2015 ECB ลงมืออีกครั้งโดยการประกาศจัดการใช้ LSAP หรือ Large Scale Asset Purchase โดยนายดรากีฯ ออกมายืนยันว่าพิจารณาสินทรัพย์ทุกประเภทยกเว้นทอง ECB จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก(Sovereign bond) ในตลาดรองเป็นหลัก จำนวน 1 ล้านล้านยูโร ซึ่งเป้าหมายในครั้งนี้คือการเพิ่มงบดุลอีก 1 ล้านล้านยูโรไปสู่ระดับ 3 ล้านล้านยูโร

   บางฝ่ายออกมาวิตกกับประเด็นประสิทธิภาพของนโยบายการผ่อนคลายการเงินครั้งนี้ว่าไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดไว้ การกระทำครั้งนี้จะเป็นการบิดเบือนตลาด และเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกลุ่มยูโรโซน จากการพิมพ์เงินครั้งใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มสหภาพยูโรโซนไม่ได้มีความยืดหยุ่น และไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียว แต่กำลังพูดถึง 19 ประเทศที่มีคุณภาพเศรษฐกิจแตกต่างกัน นาง Marie Anne Allier ผู้ดูแลฝ่ายตราสารหนี้ECB ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “มีบางคนรู้สึกว่า QE จะไม่สามารถกระตุ้นเงินเฟ้อได้ แต่ใครมีความคิดที่ดีกว่านี้บ้าง”

     การอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าไปในระบบครั้งนี้ คือตัวเลือกที่ไม่มากของ ECB ที่จะทำให้รอดพ้นจากเงินฝืดคราวนี้ไปได้ เนื่องจากในระบบการใช้ค่าเงินร่วมกันนั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก จากค่าเงินยูโรที่อ่อนลงไปทุกที ส่งผลกับระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของสมาชิกยูโรทั้ง 19 ประเทศ ทั้งศักยภาพการแข่งขันระหว่างประเทศ และภาระหนี้สินที่ประเทศต้องรับผิดชอบแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันทางเศรษฐกิจยูโรต้องรับมือปัญหาหนี้สินของยุโรปยังไม่เป็นที่แก้ไขจนหมด ปัญหาหนี้สินและการเมืองด้านประเทศกรีซ ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และการปรับอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งหากการกระตุ้นครั้งนี้ไม่สำเร็จอาจสั่นคลอนถึงสหภาพยุโรปที่มีมาถึง 16 ปีก็เป็นได้

ขอบคุณภาพจาก : www.bloomberg.com
www.ecb.europa.eu
www.neurope.eu

ที่มา : จุลสารทองคำ เดือน กุมภาพันธ์ 2558