TUTANKHAMUN ตุตันคาเมน กับโลงพระศพ และหน้ากากทองคำ ความเชื่อแห่งการเก็บรักษาพระศพด้วยทองคำ

ณ วันที่ 26/12/2557

 

 

     ‘ตุตันคาเมน’ ซึ่งเป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์ ครองราชย์ระหว่างปี 1336-1327 ก่อนคริสต์ศักราช ครั้งที่มีการขุดพบสุสานตุตันคาเมนแห่งนี้เกือบ 90 ปีก่อน ได้พบกรุสมบัติมากมายถึง 5 พันกว่ารายการ รวมถึงพบ ‘หน้ากากทองคำและโลงศพทองคำ’ จนทำให้กลายเป็นสุสานที่โด่งดังที่สุดในหุบเขากษัตริย์แห่งอียิปต์

    ในประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณ ‘ตุตันคาเมน’ เป็น ฟาโรห์ที่ไม่มีบทบาทมากนัก และสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนมายุ 18 พรรษา แต่สุสานของพระองค์โด่งดังไปทั่วโลก หลังได้ เปิดเผยสู่ชาวโลกเป็นครั้งแรกเมื่อ 89 ปีก่อน พร้อมด้วย หน้ากากทองคำ โลงศพทองคำ และทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ถึง 5,230 รายการ นับว่าเป็นการค้นพบกรุสมบัติมากที่สุด ตั้งแต่มีการขุดพบหลุมศพของฟาโรห์เลยทีเดียว

     แม้ว่าตุตันคาเมนครองราชย์เพียง 9 ปี และไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นเท่าใดนัก แต่ยังมีทรัพย์สมบัติมากมายถึงเพียงนี้ หากเปรียบเทียบกับสุสานของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ในหุบเขากษัตริย์อีกหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ การขุดพบครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้โลกได้เข้าใจถึงความรู้และสติปัญญาของคนอียิปต์เมื่อ 3 พันปีก่อนว่ามีความเจริญก้าวหน้าเพียงใด

     โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ จิตรกรชาวอังกฤษที่กลายมาเป็น นักอียิปต์วิทยาผู้โด่งดัง ได้ใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะค้นพบ โดยในช่วงสุดท้ายของการขุดค้น คาร์เตอร์ ได้สั่งให้คนงานขุดลงไปในบริเวณที่พบกระท่อมของคนงานก่อสร้างสุสานฟาโรห์รามเสสที่ 6 จนกระทั่งในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 จึงพบปากทางเข้าสุสาน และเมื่อขุดไปเรื่อย ๆ จึงพบ ตราประทับของฟาโรห์ตุตันคาเมน เป็นการยืนยันการค้นพบ สุสานฟาโรห์ครั้งสำคัญที่สุด

     จากนั้น คาร์เตอร์ เดินลงไปตามทางก็ได้พบห้องสี่ห้อง สามห้องแรกอัดแน่นไปด้วยเครื่องมือ เครื่องใช้จำนวนมาก อาทิ รถศึก พระบัลลังก์ พระแท่นบรรทมทองคำ หีบทอง ประดับด้วยงาช้าง แจกัน คนโท พระแสงชนิดต่าง ๆ ฉลองพระบาท และสิ่งของอีกจำนวนมาก ส่วนห้องสุดท้ายที่เขาพบ คือ ห้องบรรจุโลงหิน ฝาโลงทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู แกะสลักนูนสูง ตรงมุมเป็นรูปเทพธิดาเซลคิทสยายปีกคอยปกป้อง ภายในมีโลงพระศพ 3 ชั้น สองชั้นแรกเป็นหีบพระศพแกะสลักจากไม้ท่อนฉาบทองคำ ก่อนที่จะถึงหีบพระศพทองคำมัมมี่ของฟาโรห์ แต่ละชั้นสลักลวดลายวิจิตรพิสดารงดงามยิ่งนัก

     สำหรับทรัพย์สมบัติที่ขนย้ายจากสุสานของตุตันคาเมนจำนวน 5 พันกว่ารายการ ไปอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกลางกรุงไคโร สิ่งที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงที่สุดคือ ‘หน้ากากทองคำ’ ที่ตีเข้ารูปของกษัตริย์หนุ่ม หนักประมาณ 14 กิโลกรัม ยังคงแวววาวเปล่งประกายมาตลอดกว่า 3 พันปี บนพระนลาฏมีรูปงูเห่าและนกแร้งสัญลักษณ์ของอียิปต์ทั้งสองอาณาจักรที่ทรงปกครอง ตกแต่งด้วยเพชรพลอยอัญมณีมีค่าเท่าที่จะหาได้

     ส่วนภายในสุดคือ ห้องเก็บโลงพระศพ มองผ่านกระจกเข้าไปจะเห็น ‘โลงพระศพไม้ฉาบทองคำ’ ฝังด้วยอัญมณีและแก้วหลากสี ทั้งโมราสีแดงและสีฟ้าเทอร์คอยส์ ภายในมีมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนนอนสงบนิ่งอยู่ แตกต่างจากมัมมี่ของฟาโรห์องค์อื่น ๆ ที่เมื่อถูกค้นพบมักจะไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในอียิปต์และต่างประเทศ

     แต่ฟาโรห์องค์นี้ คาร์เตอร์ต้องการให้พระองค์บรรทมสงบนิ่งเหมือนเมื่อหลายพันปีก่อน ไม่ต้องไปถูกตั้งโชว์อยู่ตามที่ต่าง ๆ โดยโลงพระศพชั้นในสุดทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนักกว่า 100 กิโลกรัม เป็นที่บรรจุมัมมี่ยาว 6 ฟุต พระรูปบรรทม สลักเป็นเทพโอซิริส สัญลักษณ์ของฟาโรห์ รอบพระศอทรงสร้อย 2 ชั้นทำด้วยทองสีแดงและสีเหลือง พระหัตถ์ที่ไขว้อยู่บนพระอุระทรงกุมแส้และพระคทาหัวขอ สัญลักษณ์ของเทพโอซิริส ผิวหน้าโลงทองคำทั้งหมดสลักเป็นลวดลายขนนกอย่างละเอียดงดงาม แพรวพราวด้วยอัญมณีและแก้วสีนานาชนิด

     ภายใน ‘โลงพระศพทองคำ’ และบน ‘หน้ากากทองคำ’ ยังจะเห็นเครื่องประดับอีกมากมายที่แสดงถึงความสามารถ ความประณีต และความคิดสร้างสรรค์ของช่างอียิปต์โบราณอย่างน่าอัศจรรย์ อาทิ กรองพระศอเป็นรูปนกแร้ง ทำด้วยทองคำชิ้นเล็ก ๆ 256 ชิ้น ฝังเรียงกับแก้วหลากสี กล่องน้ำหอมของฟาโรห์ทำด้วยทองคำและเงิน กำไลพระกร ทับทรวงที่ออกแบบอย่างวิจิตรพิสดาร ลวดลายหลายชนิดยังเป็นเครื่องประดับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจนทำให้บางคนอดคิดไม่ได้ว่า การออกแบบลวดลายเครื่องประดับต่าง ๆ ในวงการแฟชั่นที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมีกำเนิดและพัฒนาต่อยอดมาจากศิลปะการออกแบบของคนอียิปต์โบราณนั่นเอง

    ความเชื่อที่ว่า โลงทองคำจะมีส่วนในการช่วยรักษาสภาพศพให้อยู่สมบูรณ์ได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัด แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าศพมัมมี่ที่ค้นพบจะต้องบรรจุไว้ในโลงทองคำเท่านั้น ซึ่งเหตุผลนี้อาจมีเพียงชาวอียิปต์โบราณเท่านั้นที่รู้ถึงคุณสมบัติพิเศษของทองคำเช่นเดียวกับที่รู้วิธีการรักษาศพด้วยการทำมัมมี่

    หลังจากสิ้นสุดอารยธรรมแห่งยุคอียิปต์แล้ว ก็เป็นยุคของอาณาจักรโรมันที่มีบทบาทในเรื่องทองคำ โดยมีหลักฐานปรากฏว่า ทั่วทุกมุมโลกมีความเชื่อเกี่ยวกับทองคำเกิดขึ้นทั่วไป แม้แต่ทวีปแอฟริกาที่มีความเจริญล้าหลังสุด ยังพบชาวพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ นำทองคำมาใช้ทำเครื่องประดับร่างกายเป็นตำนานความเชื่อที่พิสดารเกี่ยวกับทองคำ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา…

ขอบคุณภาพจาก : www.flickr.com
www.tnnegypt.com
www.nationalgeographic.com
www.independent.co.uk/

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 35 เดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2555