ณ วันที่ 17/11/2557
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับผ้าซิ่นทองคำ ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่เพียงไม่กี่ผืนเท่านั้น และผืนนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งความจริงแล้วในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าทอลายโบราณของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นจกเก้าลายบ้านหาดเสี้ยว ผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาคด้วยขบวนช้าง ผ้าที่ใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยๆปี แต่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผ้าทองคำจัดแสดงอยู่ 2 ผืนด้วยกัน
นายสาธร โสรัจประสพสันติ เจ้าของสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของซิ่นทองคำว่า เดิมทีซิ่นทองคำที่ได้มามีเพียงผืนเดียว โดยไปซื้อที่เมืองเชียงตุง ขณะเดินทางไปทัศนะศึกษากับคณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งซิ่นทองคำถือเป็นของชั้นสูงของราชสำนักเชียงตุง โดยจะใส่กับชุดไทยใหญ่ เวลาเจ้านายออกท้องพระโรงหรือเวลามีพิธีเฉลิมฉลองครั้งสำคัญ ซึ่งซิ่นทองคำไม่ใช่เอกลักษณ์ของไทย
“ซิ่นผืนนี้ถือว่ามีความเก่าแก่พอสมควร และคงจะตกทอดมาหลายรุ่น เพราะสภาพที่ได้มาก็ไม่ถึงกับสมบูรณ์มากนัก โดยซื้อมาในราคา 150,000 บาท ตอนที่ขอซื้อ ไม่คิดว่าเจ้าของจะขายให้ แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกันเจ้าของก็ตัดสินใจขายให้ จากนั้นก็ได้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ เมื่อมีนักสะสมของเก่ามาเห็นให้ราคาเพิ่มเป็น 500,000 บาททันที แต่ตนไม่ได้ขายไปและยังคงนำมาแสดงให้ประชาชนได้ชม จนถึงทุกวันนี้”
นายสาธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ซิ่นทองคำมาจึงได้ปรับเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ใหม่ จากเดิมที่ใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าเก่าบ้านหาดเสี้ยว ซึ่งไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ เพื่อเรียกความสนใจให้ผู้ที่ผ่านมาผ่านไปได้แวะเข้ามาดู และจะได้ดูของส่วนอื่นๆ ที่จัดแสดงไว้ด้วย ซึ่งได้ผลมาก
อย่างไรก็ตาม ซิ่นที่ซื้อมานั้น มีส่วนผสมของเงินกับทองอย่างละครึ่ง จึงไม่เหลืองสุกสกาว ทำให้ผู้ที่เข้ามาชมเกิดความกังขา ดังนั้นจึงตัดสินใจลงทุนทอซิ่นทองคำขึ้นมาอีกหนึ่งผืน โดยผืนนี้จะสวยงามมากกว่าเพราะเป็นเนื้อทองคำ 90 เปอร์เซ็นต์
ในการทอซิ่นทองคำผืนนี้ ใช้เส้นทองจากอินเดีย โดยให้มารดาเป็นผู้ทอ ใช้เวลาในการทำทั้งหมด 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ ใช้เงินลงทุนไปเกือบ 400,000 บาท เพราะตอนนั้นราคาทองบาทละ 4,600 บาท และใช้ทองไป 82 บาท เมื่อผลงานออกมา ก็ถือเป็นความภูมิใจ และเชื่อว่าในประเทศไทยยังเหลืออยู่ไม่กี่ผืน
“ซิ่นทองในสมัยก่อนจะใส่เฉพาะคนที่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และจะใส่เฉพาะเวลาที่ออกงานใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะต้องใช้การดูแลค่อนข้างมาก ซึ่งซิ่นทองในเมืองไทยมีอยู่ไม่มาก และเป็นของเก่า ส่วนใหญ่จะใช้งานไม่ได้ ทั้งนี้ ซิ่นทองที่ทำขึ้นมีอายุกว่ายี่สิบปี ซึ่งเป็นของที่ประเมินค่าไม่ได้ และหากจะให้ทำใหม่ก็คงไม่ไหว เพราะราคาทองคำสูงกว่าเดิมมาก” นายสาธรฯ กล่าว
พิพิธภัณฑ์นี้ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบผ้าเก่าโบราณ เพราะนอกจากจะได้ชมซิ่นทองคำแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีของเก่าน่าสนใจจัดแสดงอยู่มากมาย ทั้งผ้าเก่าอายุกว่า 100 ปี นอกจากนั้นยังได้รวบรวมประวัติชาวไทยพวนไว้ทั้งหมดอีกด้วย