ณ วันที่ 22/10/2557
เศรษฐกิจยุโรปปัจจัยที่ยังไม่ควรมองข้าม
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมายังมีปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อราคาทองคำมากเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเก่าอย่างการลดขนาด QE การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประเด็นสงครามในประเทศตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันตกเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องเก่าที่ยังคงมีความสำคัญ แต่ประเด็นข่าวล่าสุดที่สร้างความวิตกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเฉพาะในภาคธนาคารอีกครั้ง คือปัญหาของธนาคาร Banco Espirito Santo (BES) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโปรตุเกสหลังจากถูกระงับ การซื้อขายในตลาด PSI ของโปรตุเกส ล่าสุดก็ได้รับเงินช่วยเหลือไปกว่า 4.9 พันล้านยูโร กรณีนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติ ทางการเงินการคลังของประเทศในแถบยูโรโซน ยังคงมีปัญหาและอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในระบบการเงินอีกครั้งในอนาคต
วิกฤติหนี้สินในยุโรปเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2552 โดยสาเหตุสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง การใช้นโยบายประชานิยมที่สร้างรายจ่ายภาครัฐเป็นจำนวนมาก ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศที่รวมตัวกัน ทำให้มีการ ขาดดุลการค้าจำนวนมาก การใช้นโยบายด้านการเงินร่วมกันทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการใช้นโยบาย รวมถึงการใช้เครื่องมือ ทางการเงินอย่าง CDS และตราสารอนุพันธ์อื่นทำให้การตรวจสอบหนี้สินทำได้ยาก ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยเริ่มจาก กรีซ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มและลุกลามไปสู่หลายประเทศในกลุ่ม PIIGS อย่างไอร์แลนด์ โปรตุเกส รวมถึงประเทศขนาดใหญ่อย่างสเปนและอิตาลี ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน กลุ่มยูโรโซนใช้การตั้งกองทุน EFSF และ ESM ขึ้นมาเพื่อรักษาเสถียรภาพ และเป็นกลไกกลางในการช่วยเหลือ แต่ก็ตามมาด้วยภาระของหลายประเทศที่ต้องสมทบเงินอุดหนุน และการธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เข้ามาเป็นตัวช่วยสนับสนุนภาคธนาคารแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องและการเติบโต อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศที่ประสบปัญหาหนี้ และธนาคารที่มีปัญหาเรื่องสินทรัพย์ยังคงเผชิญปัญหาโดยยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงอาจจะ มีความเสี่ยงให้ปะทุขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งมีแรงกระตุ้นจากความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ลงทุนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรีซ ปัญหาของธนาคาร Banco Espirito Santo (BES) อาจจะเป็น spotlight ฉายให้เห็นปัญหาใหญ่ในภาคธนาคารที่ถูกซุกไว้ใต้พรม นอกจากนี้ ความเสี่ยง ที่เกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อรักษาสมดุลการคลัง รวมถึงความขัดแย้งกับคู่ค้าสำคัญอย่างรัสเซีย ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นสำคัญ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าแม้ในระยะต่อไป กระแสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะสร้างความน่าสนใจ ให้กับตลาดหุ้น(ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่) แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงอยู่มากเช่นกันที่จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม และส่งให้ ราคาทองคำกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะไปเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงส่งให้ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้มักจะมีผลเชิงบวกต่อราคาทองคำ ดังนั้นนักลงทุนที่ลงทุนในทองคำ จึงควรให้ความสำคัญ และติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ขอบคุณภาพจาก : www.108acc.com
ที่มา : จุลสารทองคำ เดือน สิงหาคม 2557
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ