ยุทธวิธีแก้หนี้ยูโรโซน กับนโยบายขยายเสียง

ณ วันที่ 09/10/2555
มาตามติดประเด็นที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนก่อน จากวาทะนายกรัฐมนตรีเยอรมนีนางแองเจลา เมอร์เคล ที่สนับสนุนแนวทางของนายมาริโอ ดาร์กี้ประธาน ECB ในประเด็นการช่วยเหลือยูโรโซน ผลของคำพูดดังกล่าวทำให้ yield ของพันธบัตรรัฐบาลสเปนปรับลดลงทันทีเทียบจาก yield พันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนที่อยู่ใกล้ระดับ 7% ลดลงเหลือประมาณ 6.45% จึงอาจจะกล่าวได้ว่าวาทะของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีมีมูลค่าหลายพันล้านยูโรทีเดียว ECB และรัฐบาลยูโรโซนยังไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่ยูโรเดียวเพื่อซื้อพันธบัตรสเปนก็ทำให้ปัญหาต้นทุนทางการเงินสเปนผ่อนคลายลงได้ และถ้าเรานับรวมผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ นายมาริโอ ดาร์กี้ พูดไว้ในช่วงปลายเดือนที่แล้ว yield พันธบัตรสเปนอายุ 10 ปีลดลงกว่า 76 basis points หรือกว่า 11% ทำให้ปัจจุบันสเปนมีส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตร อายุ 10 ปีเทียบเยอรมนี(benchmark) 5.04% ลดลงเกือบ 0.8%
 
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ในช่วง Great Depression ในช่วงปี 1930 ระบบธนาคารก็สร้างปัญหาไม่น้อยจากการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น หลังจากวิกฤติได้มีการออกกฎในการควบคุมธนาคาร (The Glass Steagall Act) โดยให้แยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial banking) และ ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment banking) กฎดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่เป็นลักษณะ Shadow banking เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางทางการเงินด้านการลงทุนตัวอย่างเช่น กองทุนป้องกันความเสี่ยง (hedge fund) ซึ่งธุรกิจนี้สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความซับซ้อนซึ่งเงินนั้นได้มาจากการก่อหนี้ ผลทางอ้อมคือทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างมากมาย การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ธนาคารที่รับฝากเงินเกิดความเสียเปรียบและเรียกร้องให้มีการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดธนาคารต่าง ๆ ก็ต่างเดินเข้าสู่วังวนแห่งผลประโยชน์และสร้างความเสี่ยงมากมายในการประกอบธุรกิจ ในยามที่เศรษฐกิจดีธนาคารเหล่านี้ สามารถสร้างรายได้จำนวนมากและทำให้ยิ่งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหาก็ทำให้ธนาคารเหล่านี้แทบเอาตัวไม่รอดจากธุรกรรมที่ทำเอาไว้ นี่คล้ายกับหนังเรื่องเก่าที่เอามาเล่าใหม่ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่วิกฤติครั้งนี้จบลงแล้วกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เคยผ่อนคลายให้กับภาคธนาคารจะต้องมีการสังคายนากันครั้งใหญ่ แม้tจะมีแรงเสียดทานบ้างจากบรรดานายธนาคารที่ยังคงต้องการรักษารายได้ที่สวยหรูในอนาคต ที่ผ่านมา FED และรัฐบาลสหรัฐฯ เองได้แย้มออกมาหลายครั้ง ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชนผู้เสียภาษีที่เรียกร้องให้บรรดาบริษัทรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 

 

ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
 
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนกันยายน 2555
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ