ณ วันที่ 18/07/2555
“กราฟทางเทคนิค” เครื่องมือพิชิตการลงทุนทอง
สวัสดีสมาชิกวารสารทองคำทุกท่านครับ ราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีถือว่าผันผวนในกรอบที่ค่อนข้างกว้าง (ระหว่าง 1,564–1,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและการลงทุนจำเป็นต้องให้ความระมัดระวัง การมีเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
การเลือกเครื่องมือในการประกอบการตัดสินใจลงทุนในทองคำ แนวทางที่ถือเป็นที่นิยมและกำลังเติบโตอย่างมากจากตลาดภายในประเทศคือการวิเคราะห์จากกราฟทางเทคนิค (Technical Analysis) ซึ่งในมุมมองส่วนตัวประกอบกับการใช้งานจริงในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแนะนำการลงทุนในทองคำและสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า(Gold Futures) ต้องบอกว่าTechnical สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่าปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากทองคำนั้นไม่สามารถหามูลค่าที่เหมาะสมได้ ราคาทองคำที่ขึ้นลงเป็นไปตามอารมณ์ของตลาดและอารมณ์ที่ว่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้กราฟทางเทคนิคสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี ด้วยคุณสมบัติที่ใช้เป็นเครื่องมือที่วัดอารมณ์ของตลาด นอกจากนี้การศึกษา Technical ยังใช้เวลาน้อยกว่าและใช้เวลาในการวิเคราะห์น้อยกว่าเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนในประเทศจะหันมาให้ความสนใจศึกษา Technical อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเรากลับไปมองศาสตร์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคเมื่อสัก 8-9 ปีที่แล้ว การหาหนังสือที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคดี ๆ บนแผงหนังสืออาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันมีการเขียนและการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการใช้กันในการวิเคราะห์สินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ค่าเงิน รวมไปถึงทองคำ ซึ่งแน่นอนว่า Technical ยังเป็นเครื่องไม้เครื่องมือประจำตัวของนักวิเคราะห์เช่นกัน
ประโยชน์ของการวิเคราะห์ทางเทคนิคมีอยู่หลายประการ แต่ส่วนที่สำคัญคือเรื่องของการหาจังหวะในการเข้าซื้อและหาจังหวะในการขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกำหนดกำไรขาดทุนของนักลงทุน นอกจากนี้เครื่องมือทางเทคนิคยังบอกถึงแนวโน้มของราคาและจุดที่ต้องระมัดระวัง หลายครั้งที่ผ่านมาปัจจัยทางเทคนิคสามารถบอกสัญญาณได้รวดเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมากับการใช้เครื่องมือทางเทคนิค ผมว่า 70-80% สามารถบอกได้ ซึ่งสำหรับนักลงทุนก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการลงทุน ในมุมมองของผู้ค้าทองคำ การบริหารจัดการสต็อกทองคำที่ตนเองมีอยู่นั้นก็ถือเป็นหัวใจในการดำเนินกิจการผู้ค้าหลายท่านสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำจากการบริหารสต็อกทองคำที่มีอยู่นอกเหนือจากการค้าทองปกติ จากประโยชน์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในทองคำหรือจะเป็นผู้ค้า การเรียนรู้เครื่องมือในแขนงนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
การศึกษาการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิค (Technical Analysis) ทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่ง่ายคือ การซื้อหนังสือมาอ่านเองที่บ้าน แต่หลายครั้งที่วิธีนี้ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ บางครั้งด้วยเนื้อหาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องวินัยในการอ่าน อีกวิธีที่ปัจจุบันนี้ก็หาได้ไม่ยากคือหลักสูตรสัมมนา ซึ่งมีทั้งที่เสียค่าเรียนและที่ไม่เสียค่าเรียน ในหลักสูตรที่เสียค่าเรียนก็ต้องบอกว่า เท่าที่เก็บข้อมูลมาถือว่าราคาค่อนข้างสูงเอาการ ส่วนที่เปิดหลักสูตรสัมมนาฟรีก็มีหลายประเภทตั้งแต่เบื้องต้นถึงขั้นสูง แต่เป็นที่น่าแปลกครับว่า เท่าที่สอบถามจากผู้อบรมที่ผ่านหลักสูตรการวิเคราะห์ทางเทคนิคมา มักจะบอกว่าฟังไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งอาจจะเกิดจากความรู้พื้นฐานของผู้เรียนและการกำหนดเนื้อหาของผู้สอน เนื่องจากกรอบเวลาที่ใช้อาจจะมีระยะเวลาที่จำกัดทำให้ต้องพยายามลดขนาดข้อมูลในการสื่อสาร รวมถึงตัดทอนบางส่วนเพื่อให้กระชับและครอบคลุมในเรื่องการใช้งาน แต่อย่างไรก็ดี การศึกษาทางเทคนิคเชื่อว่าจะเป็นกระแสที่ติดไปกับตลาดทุนไทยและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการจะเริ่มก่อนในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การนั่งวิเคราะห์บนกราฟราคา สำหรับวันนี้ลากันไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ
ที่มา : คอลัมน์ “GOLD FUTURES” โดย บริษัท จีทีเวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ