กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Policy) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลระบบการเงินของโลก ซึ่งมีหน้าที่หลักก็คือ การจัดระเบียบระบบการเงิน และกำกับดูแลเศรษฐกิจของโลกให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย รวมทั้งการสร้างเงินสำรองระหว่างประเทศใดประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างเช่น ประเทศไทยที่เคยขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้วและด้วยบทบาทของ IMF คงหลีกไม่พ้นกับการเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ทองคำ
จุดกำเนิดเริ่มต้นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็มีความเกี่ยวพันกับสินทรัพย์ทองคำ เนื่องมาจากว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อคอยดูแลไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากระบบการเงิน ภายหลังจากที่มีการล่มสลายของระบบการเงินของโลกอย่างระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ซึ่งจากชื่อก็บ่งบอกได้อย่างดีว่า ทองคำได้มีบทบาทสำคัญในระบบการเงินนี้ โดยที่เงินตราของประเทศต่าง ๆ จะถูกกำหนดค่าที่แน่นอนเทียบกับ น้ำหนักของสินทรัพย์ทองคำ ซึ่งก็คืออัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง จากการที่ยังไม่มีเงินสกุลหลักของโลก เหมือนอย่างในปัจจุบันที่สามารถกล่าวได้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลกและเรียกอัตราดังกล่าวว่า Mint Parity และได้เปลี่ยนเป็น การกำหนดค่าเสมอภาค (Par Value) ที่กำหนดให้เทียบค่าเงิน ในประเทศเทียบกับน้ำหนักทองคำที่แน่นอน คือ 1 ทรอยออนซ์ (หรือประมาณ 28.349 กรัม) เพื่อให้มีความสะดวกในการติดต่อค้าขายกันระหว่างประเทศ แต่ได้กลายเป็นว่าทุกประเทศต่างแข่งกันลดค่าเงินของตัวเองเพื่อให้มีความได้เปรียบจากการค้าขายในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคุกรุ่น สุดท้ายแล้ว ระบบมาตรฐานทองคำก็ได้ล่มสลายไป
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของระบบมาตรฐานทองคำก็คือ การขาดผู้ดูแลในการกำกับระบบมาตรฐานการเงินให้เศรษฐกิจโลกสามารถเคลื่อนไปพร้อมกันได้ ดังนั้นเมื่อระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) ได้ขึ้นมาทดแทน จึงได้มีการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ขึ้นมา โดยมีหน้าที่หลักในการกำกับให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าเงินของตัวเองได้ตามใจชอบ นั่นคือ กำหนดให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงประเทศเดียวที่จะสามารถใช้ทองคำในการหนุนหลังค่าเงิน ของตัวเอง และให้ประเทศอื่น ๆ กำหนดค่าเงินของตัวเองภายใต้ ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอีกที โดยสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 1% ทั้งกรณีอ่อนค่าและแข็งค่าจากค่าเสมอภาค เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่าง ๆ ได้เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงเสถียรภาพทางการเงินของโลกได้อยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง ดังนั้นแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศจึงเหมือนกับการโดนแทรกแซงไปโดยปริยายจากการควบคุมดังกล่าว
นอกจากนี้ภารกิจหลักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังต้องคอยช่วยเหลือประเทศสมาชิก เมื่อยามที่ประเทศเหล่านั้น ต้องเผชิญกับการขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์ ก็เปรียบเสมือนการให้อภิสิทธิ์ประเทศ สหรัฐอเมริกาเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของระบบการเงินโลกก็ได้บังเกิดขึ้นอีกครั้ง จากการใช้จ่าย เกินตัวในการทำสงครามเวียดนามของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประสบปัญหาอย่างหนัก ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ได้เริ่มมองเห็นแล้วว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผูกติดอยู่กับทองคำนั้นอยู่ในภาวะที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยที่สุดแล้วในปี 2514 ประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้ทองคำหนุนหลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นจุดจบของระบบเบรตตันวูดส์เช่นกัน ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ก็ได้เปลี่ยนจากการกำหนดค่าเงินที่ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นการกำหนดโดยตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา บทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่อทองคำจะถูกจำกัดในรูปแบบของระบบการเงินของโลก แต่ด้วยความที่ทองคำยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ที่มีการสำรองไว้ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีการสำรองเงินทุนในรูปของทองคำเป็นอันดับ 3 ของโลกในเดือนเมษายน 2555 ประมาณ 2,814.10 ตัน ดังนั้นบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงได้กลายมาเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของผู้ถือสินทรัพย์ทองคำรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของกองทุน การเงินระหว่างประเทศได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ อาทิ การให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศในยูโรโซน เหตุฉะนี้แล้วอาจกล่าวได้ว่าบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังมีความสำคัญต่อทองคำสืบเนื่องมายังปัจจุบันด้วย
ที่มา : คอลัมน์ “GOLD FUTURES” บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด
วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ
www.goldtraders.or.th