ทองคำกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่(Gold Bubble) หรือไม่?!

มาถึงวันนี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าอาจจะค้างคาใจใครหลาย ๆ คนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนมาถึงวันนี้หลายคนฟันธงไปแล้ว หลายคนยังมีความหวัง และหลายคนก็ยังสองจิตสองใจ นั่นก็คือสองคำถามคาใจว่าช่วงปลายปีที่แล้วที่ราคาทองคำขึ้นไปถึง $1,900/oz นั้น เป็นฟองสบู่หรือเป็น Gold Bubble หรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรมชาติของราคาทองคำที่ไม่แปลกอะไร แล้วราคาปัจจุบันที่ $1,600/oz นี้ นับว่ายังเป็น Bubble อยู่อีกมั้ย
 
ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันก่อนครับว่า ทำไมเรื่องฟองสบู่นี้ถึงได้กลับมาพูดกันกับทองคำ ถ้ายังจำได้เมื่อหลายปีก่อน ราคาทองคำแกว่งตัวอยู่วันละ $5~$10 เวลาราคาปรับตัวแรง ๆ $20 เราก็จะบอกว่ามันผันผวน แล้วพอราคาปรับตัวอย่างมีทิศทาง เราก็มักจะบอกว่าเวลาราคาโดนทิ้งก็จะทิ้งครั้งละ $100 หรือขึ้นก็ขึ้นครั้งละ $100 จากนั้นก็กลับมาแกว่งตัวแคบ ๆ $5~$10 เหมือนเดิม พอมาปีที่แล้ว ช่วงเดือนสิงหาคม เราเห็นราคาทองปรับตัวบวกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ $1,600/oz ไปจนถึง $1,900/oz จากนั้นก็ทิ้งกลับลงมาที่ $1,700/oz แล้วก็ขึ้นไป $1,900/oz อีกรอบ ก่อนจะทิ้งแรง ๆ กลับลงมาที่ $1,600/oz อีกครั้งในเดือนกันยายน เราจึงบอกว่าเล่นกันทีละ $300 อย่างนี้ไม่ปกติ น่าจะเป็นฟองสบู่
 
     ในอีกมุมมองหนึ่ง นักลงทุนที่เล่นทองยาว ๆ หน่อยก็อาจมองราคาทองคำช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นว่าราคาทองคำเป็นขาขึ้นมาโดยตลอด แกว่งตัวอยู่รอบ ๆ เส้นแนวโน้มเดิม ๆ ที่ลากได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 เมื่อเห็นราคาทองคำวิ่งขึ้นไปเหนือเส้นแนวโน้มที่ลากมาอย่างชัดเจนตามรูปที่ 1 ก็สรุปว่าราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไปหรือเป็นฟองสบู่ และปัจจุบันที่ราคา $1,600/oz ก็ยังนับว่าสูงเกินกว่าแนวโน้มที่ควรเป็น
 
     เอาละครับ ถ้าเรามองตามทั้งสองมุมมองข้างต้น เราก็คงเห็นเช่นเดียวกันว่าราคาทองคำเป็นฟองสบู่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมุมมองข้างต้นนี้อาศัยความเคยชินบนสมมติฐานว่าทองคำได้รับการลงทุนและหวังส่วนต่างของราคาหน่วยเป็น $/oz ซึ่งอาจไม่ใช่สมมติฐานที่ดีนัก เนื่องจากในโลกของการลงทุนที่เป็นจริงแล้ว ไม่มีนักลงทุนมืออาชีพคนใด วัดกำไรขาดทุนด้วยปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ทุกคนวัดกำไรขาดทุนโดยใช้หน่วยร้อยละกันทั้งนั้น
ในการพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนจริง ๆ แล้วนั้น เราพิจารณาเป็นร้อยละ ซึ่งมีเครื่องมือช่วยเหลือทางภาพที่สำคัญคือ การใช้สเกลล็อกในการวาดกราฟ โดยจะมีการย่นย่อแกนตามตัวเลขที่เพิ่มขึ้น โดยใช้คุณสมบัติของเลขยกกำลัง ซึ่งมีข้อดีคือ ในช่องห่างเท่ากันก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลง เป็นร้อยละที่เท่ากัน ในการวาดกราฟราคาบนสเกลแบบนี้จึงช่วยให้เราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของราคาในรูปร้อยละได้ดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งในที่นี้เราเลือกใช้ค่า e เป็นฐานของเลขยกกำลังในการวาดกราฟเพื่อความสะดวกต่อการนำกราฟไปใช้ต่อ ได้ผลดังภาพ
 
     จากภาพเราจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2005 มาจนถึงปัจจุบัน กราฟราคาทองคำบนสเกลล็อกมีการแกว่งตัวรอบ ๆ เส้นแนวโน้ม ขาขึ้นมาโดยตลอด และไม่ได้มีการกระโดดออกไปไกลกว่าเส้นดังกล่าวมากนัก โดยเราเห็นได้ว่าขณะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปถึง จุดสูงสุดในปีที่แล้ว สูงเกินกว่าเส้นแนวโน้มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ภาพปัจจุบันอาจแสดงถึงราคาที่ต่ำเกินไปด้วยซ้ำ ทำให้เราเห็นว่าราคาทองคำไม่ได้เป็นฟองสบู่หรือ Gold Bubble รุนแรงดังที่มีการพูดกัน ในทางกลับกัน ราคาปัจจุบันดูต่ำกว่าเส้นแนวโน้มมากเกินไปจนน่ากลัวว่าทองคำจะกลับเป็นขาลงด้วยซ้ำ หากยังคงอยู่ในระดับนี้หรือเพิ่มขึ้นด้วยอัตราช้า ๆ ต่อไป
 
 

   กล่าวโดยสรุปแล้ว เราเห็นว่าราคาทองคำที่ขึ้นไปถึง $1,900/oz ในปีที่แล้วนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเป็นฟองสบู่แต่ว่าเป็นแบบอ่อน ๆ เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันราคาทองคำที่ระดับ $1,600/oz ดูต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนน่ากลัวว่าราคาทองคำอาจเริ่มกลับตัวเป็นขาลงได้ในไม่ช้า

 

 

ที่มา : คอลัมน์ “GOLD FUTURES” โดย บริษัท ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด

วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ

www.goldtraders.or.th