ทองคำ…อีกทางเลือกในการออมที่ไม่ควรมองข้าม

ทองคำถือเป็นการออมในรูปแบบหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยการซื้อขายทองในประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะการซื้อขายโดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเอง  ไม่ได้ผ่านตลาดการค้า และมีการแลกเปลี่ยนสินค้า (Physical products) เกิดขึ้นจริง ณ ราคาซื้อ-ขาย ที่กำหนดในแต่ละวัน โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ คือบุคคลทั่วไป และจะเป็นการซื้อขายทองรูปพรรณ ในรูปของเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ, กำไล, ต่างหู, ฯลฯ เพื่อสวมใส่เอง หรือเป็นของกำนัลในเทศกาลต่างๆ มากกว่าที่จะนิยมซื้อในรูปของทองคำแท่ง ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่การซื้อขายส่วนใหญ่จะกระทำโดยนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย มีการซื้อขายทั้งที่ส่งมอบในปัจจุบันกับการซื้อขายผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทองคำเป็นทางเลือกในการออมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เมื่อพิจารณาถึงข้อดีต่างๆ ของการซื้อทองคำ เช่น เป็นแบบการออมที่มีความปลอดภัย, มีราคาซื้อขายที่ประกาศให้ทราบอย่างแน่ชัดในแต่ละวัน, เป็นการรักษาความมั่งคั่งให้กับผู้ถือครองในระยะยาว  จากการเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำกับอัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้พลว่า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจะมากกว่าการเพิ่มขึ้นขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ยกเว้นในช่วงกลางปี 1999 มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากทองคำ ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณสามารถนำไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายผ่านทางค้าทองทั่วไปในราคารับซื้อซึ่งได้กำหนดไว้ในแต่ละวัน,  มีความเป็นอิสระจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ของผลตอบแทนที่ได้จากทองคำกับหุ้น, พันธบัตร และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในแต่ละเดือนตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และพบว่าค่าความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ทองคำเป็นอีกทางเลือกในการกระจายความเสียงจากการลงทุนในยามที่คาดว่าอัตราผลตอลบแทนจากตลาดหุ้นหรือราคาพันธบัตรมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง

          อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อทองคำนั้น ควรจะต้องคำนึงถึงต้นทุนในด้านอื่น ๆ เช่น

          ต้นทุนในการเก็บรักษา เนื่องจากการซื้อขายทองคำจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นจริง แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนจริงเกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ผู้ซื้อทองจะต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาเอง หรือนำไปฝากกับธนาคารแต่ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาเพิ่ม

          ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขาย โดยปกติแล้ว ราคารับซื้อและขายออกของทองคำแท่งจะมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 100 บาท โดยราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อ ส่วนการขายทองรูปพรรณนั้นร้านค้าทองต่างๆ จะพวกเพิ่มค่ากำเหน็จไปในราคาขายด้วย โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทขึ้นไปต่อเส้น นอกจากนั้น ในการรับซื้อทองมักจะมีการหักค่าเสื่อมจากราคาทองรูปพรรณที่รับซื้ออีกด้วย

          การถือครองทองคำไม่ได้มีการระบุกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงจากการถูกลักขโมยและนำไปขายต่อได้ แตกต่างกับการซื้อพันธบัตรที่ต้องมีการระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร หรือการซื้อหุ้นที่จะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ ทำให้การแอบอ้างความเป็นเจ้าของในหลักทรัพย์ทำได้ยาก

          ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดราคาทองคำในประเทศนั้น ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท/ ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาทองคำในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาทองในตลาดโลก

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกจากระดับปัจจุบัน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ทองคำเป็นทางเลือกหนึ่งในการออมที่น่าสนใจ โดยปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ได้แก่ความต้องการซื้อทองคำแทนที่การลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะยังคงดำเนินต่อไป จากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนหันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ รวมไปถึงทองคำมากขึ้น

          โดยข้อมูลจาก World Gold Council ได้ระบุว่า ในปี 2004 นั้น ความต้องการซื้อทองคำในโลกอยู่ที่ประมาณ 3,484 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ8.2 จาก 3,221 ตันในปี 2003  ปริมาณทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากปริมาณทองคำที่ผลิตจากเหมืองต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณ 2,034 ตัน  ลดลงจากปี 2003 ซึ่งผลิตได้ 2,313 ตัด ถึงร้อยละ 12 นอกจากนั้น ข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางประเทศต่างๆ 15 ประเทศในยุโรป (The 2nd Central Bank Gold Agreements : CBGA 2) ได้กำหนดให้ธนาคารเหล่านั้นสามารถขายทองคำได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500 ตัน และยอดขายรวมตลอด 5 ปีข้างหน้า (2005-2009) ไม่เกิน 2,500 ตัน

          อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางเหล่านั้นจะขายทองคำน้อยกว่าที่ระบุในข้อตกลง โดยทองคำที่อกขายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในโลกในปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 19.4 จากปี 2003

          ทิศทางของปริมาณทองคำในตลาดโลกในปีนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับผลการประชุมระหว่าง IMF กับรัฐมนตรีคลังในกลุ่มประเทศจี 7 ในเดือน เม.ย. นี้ เกี่ยวกับการนำทองคำของ IMF มาช่วยชำระหนี้ให้ประเทศที่ยากจน ว่าจะมีข้อสรุปเช่นใด ซึ่งหากว่าการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปให้ IMF ขายทองคำออกมาก็อาจจะกดดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงได้

          ในส่วนของปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกถูกกำหนดในรูปของเงินดอลลาร์ การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ จะทำให้ราคาทองคำในสกุลเงินนั้น ๆ ถูกลงได้ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างราคาทองคำในตลาดโลกในรูปเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้น กับราคาทองที่ลดลงเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินบาท ว่าผลกระทบด้านใดจะมากกว่า ซึ่งจากการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท กับราคาทองคำในประเทศตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมานั้น พบว่าในช่วงเวลาที่เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การซื้อทองคำในประเทศไทยสามารถจะเป็นรูปแบบการลงทุนประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคตนอกจากการเป็นเครื่องประดับ ทั้งนี้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐ และเอกชนในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายทอง โดยการสนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันต่าง ๆ เข้ามีบทบาท ทั้งการเป็นผู้ซื้อ และผู้ขาย จากในปัจจุบันที่การซื้อขายจะอยู่แต่ในกลุ่มรายย่อย

          การส่งเสริมให้มีการออกตราสารต่างๆ ที่อ้างอิงกับทองคำ เช่น ตั๋วทองคำ หรือหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีผลตอบแทนอิงกับราคาทอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเก็บรักษาทองคำจริง ตลอดจนการผลักดันให้ทองเป็นสินค้าที่สามรถซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์การทำการตลาดและสนับสนุนให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น โดยการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ทั้ง หุ้น, หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน ล้วนแล้วแต่มีการประชาสัมพันธ์ และมีการแข่งขันกันทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงทุนในทองคำยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การซื้อทองคำจะเป็นช่องทางการลงทุนที่มีความน่าสนใจ แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนเช่นเดียวกันกับการลงทุนในตราสารประเภทอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนเช่นกัน..

 

 

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่8 

คอลัมภ์ ดัชนีทองคำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย