ประวัติสมาคม

การค้าขายทองคำในยุคแรกสภาพปัญหาและพัฒนาการของตลาดค้าทองคำของไทย

ในอดีต วงการค้าทองคำ จะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบการค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เปอร์เซ็นต์ทอง โดยผู้ค้าทองบางรายผลิตทอง 99% บางรายก็ผลิตทอง 97% มีการแข่งขันโดยการทำการตลาด เรื่องค่ากำเหน็จ การแจกของชำร่วย การกำหนดเวลาเปิด – ปิดร้าน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข

กำเนิด “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง”

เมื่อสภาพปัญหาดังกล่าวได้เริ่มรุนแรงมากขึ้น ทางผู้ประกอบการร้านค้าทองรายใหญ่ในย่านถนนเยาวราช จึงได้มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  
เพื่อให้การแข่งขันมีความเสมอภาค  พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการค้าทองร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นควรที่จะจัดรวมกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น โดยจัดตั้งเป็นชมรม
ภายใต้ชื่อ  “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง”

การก่อตั้ง “สมาคมค้าทองคำ” และผลงานของสมาคมค้าทองคำ

ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง” ได้มุ่งมั่นพัฒนาการทำการค้า และความ
ร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ เมื่อการค้ามีการพัฒนามากขึ้น ภาครัฐจึงนำกฎ
ระเบียบต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น เรื่องการจัดเก็บ
ภาษี ฯลฯ แกนนำในชมรมฯ จึงมีความเห็นว่าควรที่จะจัดตั้งเป็นสมาคมอย่าง
เป็นทางการ
จนกระทั่งปี พ.ศ.2526 ทางกลุ่มชมรมฯ ก็ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็น
สมาคมขึ้นภายใต้ชื่อ “สมาคมค้าทองคำ” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2526 โดย
สมาชิกสมาคมในระยะแรกประกอบด้วยร้านค้าทองในย่านเยาวราช และ
ต่อมาได้มีสมาชิกที่ประกอบธุรกิจค้าทองคำจากทั่วประเทศเข้ามาเพิ่มเติม ขึ้นเป็นลำดับ

วัตถุประสงค์ของสมาคมค้าทองคำ ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับ การค้าทองคำ
  2. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับ บุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบ
วิสาหกิจของสมาชิก สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าทองคำ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การ
ประกอบธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมการเงิน หรือ เศรษฐกิจ
  3. ประสานความสามัคคี และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทางวิชาการข่าวสารการค้า ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับการตลาดการค้าทองคำ
  4. ขอสถิติ หรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิก เกี่ยวกับการดำเนินการค้าทองคำ ทั้งนี้ด้วยความยินยอมจากสมาชิก
  5. ส่งเสริมคุณภาพของทองคำที่สมาชิกเป็นผู้ผลิต หรือจำหน่ายให้เข้าสู่มาตรฐานที่ดี ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงการผลิต และการค้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
  6. ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมคุณภาพทองคำให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
  7. ส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ทองคำมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  8. ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจของสมาชิกดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
  9. ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
  10. ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ
  11. ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านงานสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้าพุทธศักราช 2509
  12. ไม่ดำเนินการในทางการค้า หรือการเมืองอย่างใดทั้งสิ้น

ผลงานที่ผ่านมาของสมาคมค้าทองคำ

ด้านโครงสร้างภาษีอากร

ปัญหาโครงสร้างภาษีอากรนับเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจค้าทองคำและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาคมฯ ได้มีบทบาทผลักดัน
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเอื้อต่อการ
ประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการค้าทองคำทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีศุลกากร สำหรับการนำเข้าทองคำแท่ง

สืบเนื่องจากในสมัยก่อนการนำเข้าทองคำแท่งจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 35%   ส่งผลให้มีการลักลอบนำทองคำเข้ามาในประเทศเป็น
จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม  โดยสมาคมฯ ให้มุมมองว่า ทองคำ เปรียบเสมือนเงินตรา และสามารถนำมาเป็นทุนสำรองระหว่าง
ประเทศได้เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเสนอรัฐบาลในขณะนั้นให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าทองคำแท่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของ
เศรษฐกิจ และเป็นแนวทางที่เป็นสากล จนรัฐบาลมีความเห็นที่สอดคล้องกันและมีการปรับลดอัตราภาษีเหลือ 5%  และต่อมาได้ ลดลงเหลือ 0%
ในปี 2535  ซึ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภค สามารถซื้อทองคำแท่งในราคาที่สะท้อนความเป็นจริงกับตลาดโลก ทำให้ตลาดการค้าขายทองคำใน
ประเทศไทยเกิดการขยายตัวอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจค้าทองคำ ภาษีโภคภัณฑ์, 
ภาษีการค้า, ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)

การจัดเก็บภาษีในรูปแบบเดิมมีปัญหาในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมาก ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลทำให้กำลังซื้อของประชาชน
และความต้องการที่จะเปลี่ยนทองรูปพรรณใหม่ปรับลดลง  เนื่องจากต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ส่งผลให้ธุรกิจการค้าทองคำไม่ขยายตัวสมาคมฯ จึงเป็น
ตัวแทนผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี VAT โดยการให้ข้อมูล และเปรียบเทียบผลดีผลเสีย ซึ่งผลจากการที่สมาคมฯ ผลักดันในครั้งนั้น 
ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล โดยจัดเก็บภาษีเฉพาะส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากราคา
ทองคำแท่ง  ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2543  และส่งผลทำให้ตลาดการค้าขายทองรูปพรรณของประเทศไทยเกิดการขยายตัวอย่างมากเช่นกัน

การสร้างมาตรฐานเปอร์เซ็นต์ทอง 96.5% ทั่วประเทศ

นอกจากเรื่องการจัดระเบียบภาษีในวงการค้าทองคำแล้ว  อีกหนึ่งผลงานที่ถือว่าสร้างความประทับใจให้กับร้านค้าทองคำทั่วประเทศก็คือ การร่วมกับสำนักงาน
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการสร้างมาตรฐานทองรูปพรรณให้มีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5% เริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือการควบคุม
โรงงานผู้ผลิตหรือร้านค้าส่งทุกรายให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด ไปจนถึงปลายทางก็คือร้านค้าปลีก  โดยมีการสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์
ของทองอยู่เสมอ ถือเป็นการตรวจจากต้นน้ำ  เมื่อต้นน้ำดี ปลายน้ำย่อมดีตามไปด้วย

ทำให้ในปัจจุบัน ปัญหาทองเขียวหรือทองเปอร์เซ็นต์ต่ำที่พบบ่อยครั้งในอดีต หมดไปจากท้องตลาด  ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับทองรูปพรรณที่ได้
มาตรฐาน  แม้ว่าในช่วงแรกของการดำเนินงานจะมีแรงต้าน เพราะเห็นว่าการที่จะสร้างมาตรฐานเดียวกันนั้นยุ่งยาก แต่เมื่อผู้ค้าทองส่วนใหญ่เข้าใจว่าการ
ปฏิบัติตามมาตรฐานแล้ว จะทำให้การค้าทองได้รับความน่าเชื่อถือ และส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจในอนาคต  ผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มให้ความร่วมมือ|
และเข้าร่วมในการดำเนินงาน

ในอดีตผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อทองก็จะมุ่งหน้ามายังเยาวราชเพราะเข้าใจว่าเป็นทองที่มีมาตรฐาน  แต่เมื่อมีการจัดทำโครงการนี้ขึ้น มีเครื่องหมายที่ประกาศ
รับรองจาก สคบ. และ สคบ. มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงมาตรฐานดังกล่าว ก็ทำให้บรรดาร้านค้าทองทั่วประเทศมีผลประกอบกิจการ
ค้าขายที่ดีขึ้น และทำให้เห็นชอบกับแนวทางการดำเนินงานของสมาคมค้าทองคำ

การให้ความคุ้มครองผู้บริโภคโดยการประกันราคารับคืนทองรูปพรรณ

สมาคมค้าทองคำ ได้ให้ความร่วมมือภาครัฐ ในการประชาสัมพันธ์ให้ร้านทองประกันราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณของตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า หากซื้อทอง
จากร้านนั้น ๆ และเมื่อนำมาขายคืน จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ร้านทองเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของสมาคมฯ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค 
และทำให้การค้าขายทองคำของไทยมีความคล่องตัวขึ้น

การจัดการปัญหาทองปลอม

จากการที่มีกลุ่มมิจฉาชีพ ผลิตทองปลอมออกมาเพื่อหลอกขาย หรือขายฝากให้แก่ร้านทองทั่วไป ในรูปแบบของทองรูปพรรณเก่า  โดยลักษณะพฤติกรรมของ
คนร้ายจะกระทำเป็นขบวนการ และมีความยากลำบากในการเอาผิด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก่อความเสียหายโดยภาพรวมจำนวนมหาศาล

สมาคมฯ จึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลปัญหานี้ และได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 
สภาทนายความ ฯลฯ   โดยที่ผ่านมาได้มีการทลายแหล่งผลิตทองปลอม และกลุ่มแก๊งต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และยังได้จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ
ทั่วประเทศ ในโครงการ “รู้ทันทองปลอม สัญจร” ซึ่งจัดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันทำให้ปัญหาทองปลอมลดน้อยลงเป็นอย่างมาก

การกำหนดและประกาศราคาทองคำของประเทศไทย

สมาคมค้าทองคำ เป็นผู้กำหนดและประกาศราคาทองคำของประเทศไทย โดยได้รับการยอมรับเป็นราคาอ้างอิงกลางของประเทศไทย  ทั้งจากหน่วยงาน
ภาครัฐเอกชน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สมาคมค้าทองคำ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมฯ คอยกำกับดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขายโดยการตัดสินใจปรับ ขึ้น-ลง ราคา
ทองคำในประเทศแต่ละครั้ง ทางสมาคมฯ จะพิจารณาองค์ประกอบของราคาทองคำในตลาดโลกค่าเงินบาท อัตราค่า Premium รวมถึง Demand และ 
Supply ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยกล่าวได้ว่า ตลาดค้าทองคำของไทยนั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และสามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาด|
อย่างแท้จริง