ปัญหาทองปลอม ที่มิจฉาชีพได้นำไปหลอกขายฝากตามร้านทองต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจค้าทองในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตเองก็ตาม ที่ผ่านมา สมาคมค้าทองคำได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และพยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาทองปลอมขึ้นเมื่อปี 2554 อีกทั้งสมาคม ฯ ได้จัดตั้งกลุ่มไลน์สมาชิกร้านทอง เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ทำให้สมาชิกสามารถอัพเดทข่าวสารได้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ
ความผิดเกี่ยวกับการนำทองปลอมมาขาย หรือขายฝากร้านทอง
กรณีที่มีคนเอาทองปลอมมาขาย หรือขายฝากกับร้านทอง สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 314 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และยังสามารถดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการละเมิดเครื่องหมายการค้า (ยี่ห้อร้านค้าส่ง) เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ข้อสำคัญคือ ขอเพียงมีหลักฐานที่ชัดเจน โดยไม่ต้องรอให้การกระทำความผิดสำเร็จ ก็สามารถดำเนินคดีได้ในข้อหาพยายาม หรือมีเจตนาในการกระทำความผิด
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้จัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาทองปลอม โดยรวบรวมเงินจากร้านทองที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (ค้าส่ง , เยาวราช) เพื่อให้ทนายความดำเนินคดีกับคนร้ายในข้อหาปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าอีกด้วย
แนวทางปฏิบัติในการแจ้งความดำเนินคดี
- การเอกสารประกอบการแจ้งความ
1.1 หลักฐานในการยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ในกรณีบุคคลธรรมดา คือ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือจดทะเบียนพาณิชย์ หากเป็นกรณีนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ บริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ จะต้องมีหนังสือรับรองฯ ซึ่งออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
1.2 ใบค้าของเก่า ซึ่งร้านค้าทองคำที่มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อทอง จำเป็นต้องจดใบอนุญาตค้าของเก่าด้วย
1.3 หนังสือมอบอำนาจ กรณีที่ผู้เสียหาย (เจ้าของร้าน) ไม่สะดวก หรือไม่มีเวลาที่จะไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ผู้เสียหายสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่น ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ แต่ผู้ที่จะเป็นผู้รับมอบอำนาจควรเป็นบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เช่น พนักงานคนที่รับซื้อทองจากผู้ต้องหา เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจต้องเป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และจะต้องให้การเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิดของผู้ต้องหา
เอกสารประกอบการมอบอำนาจในกรณีต่างๆ
กรณีบุคคลธรรมดา เอกสารประกอบ คือ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน
กรณีนิติบุคคล เอกสารประกอบ คือ 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล โดยให้เขียนลงนามและรับรองสำเนาถูกต้องบนเอกสารทั้งหมด (หนังสือมอบอำนาจต้องติดอากรแสตมป์)
1.4 เอกสารหลักฐานแสดงการกระทำความผิดของผู้ต้องหา เช่น ใบรับขายฝาก ทองปลอมที่นำมาหลอกขายฝาก (สามารถขอคืนได้หลังจากส่งพิสูจน์หลักฐานแล้ว) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ต้องหา ภาพจากกล้องวงจรปิด (ถ้ามี) ทุกอย่างต้องนำฉบับจริงไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน
- การให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ต้องแจ้งกับพนักงานสอบสวน
2.1 เบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะสอบถามเกี่ยวกับประวัติ เช่น ชื่อ อาชีพ อายุ ที่อยู่ ชื่อบิดา มารดา เบอร์โทรศัพท์ รายได้ต่อเดือน เป็นต้น
2.2 พนักงานสอบสวนจะเริ่มสอบถามถึงความเกี่ยวข้องในคดีหรือเกี่ยวพันในคดี ซึ่งผู้แจ้งมีความเกี่ยวข้องในคดีโดยเป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และพฤติการณ์ในคดี ซึ่งอาจแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 พนักงานสอบสวนจะสอบถามเกี่ยวกับประวัติ รวมถึงวัตถุประสงค์ หรือวิธีการในการประกอบกิจการของผู้เสียหาย เช่น นายหรือบริษัท …… ประกอบกิจการค้าขายทองคำ รวมถึงการรับซื้อหรือขายฝากทองคำ ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ มาเป็นเวลา …… ปี
ส่วนที่ 2 จะถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ วัน เดือน ปี และเวลาที่เกิดเหตุ เช่น วันที่ 12 มกราคม 2567 เวลา ……น. นาย …… ได้นำสร้อยคอ …… ลาย …… ยี่ห้อ …… น้ำหนัก …… กรัม จำนวน …… เส้น มาขายฝากในราคา …… บาท โดยยืนยันว่าเป็นสร้อยคอทองคำแท้ ซึ่งทางร้านผู้เสียหายโดยนาย …… พนักงานของร้านได้ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยวิธี …… ซึ่งเชื่อว่าได้เป็นทองคำแท้ ประกอบกับบริเวณตะขอของสร้อยคอดังกล่าวมีการ ประทับตราหรือยี่ห้อของร้าน (ร้านผู้ผลิตหรือร้านขายส่ง) …… ซึ่งเป็นตรายี่ห้อที่น่าเชื่อถือ ถึงแหล่งผลิตทองคำในวงการซื้อขายทองคำ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นทองคำแท้ ผู้เสียหายจึงได้มอบเงินให้แก่ผู้ต้องหาเป็นเงินจำนวน …… บาท ต่อมาหลังจากนั้น ทางร้านโดย …… ได้ทำการตรวจสอบสร้อยคอเส้นดังกล่าวด้วยวิธี …… ซึ่งจากการตรวจสอบ ผลปรากฏว่าสร้อยคอเส้นดังกล่าวเป็นทองคำปลอม การกระทำดังกล่าวจึงทำให้นาย …… ได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นาย …… จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ในกรณีผู้ต้องหายังไม่ถูกจับกุม พนักงานสอบสวนจะถามถึงตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหา เช่น ส่วนสูง สีผิว ทรงผมแบบใด มีตำหนิที่ใดบ้าง เช่น ปาก จมูก หู ตา คิ้ว เป็นอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกหมายเรียกหรือหมายจับของพนักงานสอบสวนต่อไป แต่หากมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ผู้เสียหายก็สามารถยืนยันตามบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย
ทั้งนี้ การแจ้งความร้องทุกข์ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่อง และรู้ตัวผู้กระทำผิด หากเลยเวลาดังกล่าวคดีจะขาดอายุความ