ณ วันที่ 21/03/2567
Golden Boy ประติมากรรมสุดงดงาม มูลค่าหลายล้านบาท
Golden Boy ประติมากรรมที่หล่อขึ้นจากสำริด และนำไปกะไหล่ทอง ทำให้ผิวของประติมากรรมนั้นมีความโดดเด่นสวยงาม จนนักโบราณคดีมากมาย ต่างยกย่องว่างดงามที่สุดนี้ ถูกค้นพบโดยชาวบ้านที่ปราสาทบ้านยาง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2518 ต่อมาถูกลักลอบขายในราคา 1 ล้านบาท จากนั้นถูกส่งออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ The Met (The Metropolitan Museum of Art) สหรัฐอเมริกา นครนิวยอร์ค “Golden Boy” มีอายุราวๆพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี สูง 129 เซนติเมตร โดยเชื่อกันว่า “Golden Boy” คือประติมากรรมภาพตัวแทนของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมร ผู้สถาปนาปราสาทพิมาย ซึ่งแนวคิดนี้ มาจากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ The Met สหรัฐอเมริกานั่นเอง
แต่อย่างไรก็ดี รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นแย้งในประเด็นนี้ และเชื่อว่า “Golden Boy” เป็นรูปสนองพระองค์ของ “พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2” ซึ่งเป็นกษัตริย์ยุคเขมรโบราณ ก่อนหน้ารัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หลายปี โดยทฤษฎีนี้มีเหตุผลรับรอง 2 ประการ ดังนี้
เหตุผลประการที่ 1 คือ รูปแบบการนุ่งผ้าของ “Golden Boy” ไม่เหมือนกับภาพสลักที่ปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทสำคัญของราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งมีพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ แม้ไม่ทราบปีก่อสร้างปราสาทพิมายที่แน่ชัด แต่หากอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฏในจารึกกัลปนา ที่สลักบริเวณโคปุระของปราสาทได้ระบุว่า ใน พ.ศ. 1655 ได้มีการกัลปนา (อุทิศผลประโยชน์ให้เจาะจง) ข้าวของเครื่องใช้เรียบร้อยแล้ว นั่นจึงแสดงว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างเสร็จตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1655
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ชี้ประเด็นว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ครองราชย์ใน พ.ศ. 1623 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1650 และรูปสนองพระองค์จะต้องทำเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว หาก “Golden Boy” เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จริง ลักษณะผ้านุ่งของ “Golden Boy” ก็ควรจะต้องเหมือนกับรูปแบบการนุ่งผ้าที่พบตามภาพสลักที่ปราสาทพิมาย แต่ “Golden Boy” กลับนุ่งผ้าแตกต่างออกไป
ภาพสลักที่ปราสาทพิมาย (ภาพจาก รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล)
เหตุผลประการที่ 2 คือ รูปแบบการนุ่งผ้าของ “Golden Boy” เหมือนกับประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ระบุว่า ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะการนุ่งผ้าเหมือนกับประติมากรรมสำริด ที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 โดยปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นปราสาทที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2) โดยพระองค์ทรงสั่งให้ขุนนางไปสร้างกำแพงที่ปราสาทแห่งนี้ และต่อมาใน พ.ศ. 1585 ขุนนางทั้งหลาย ได้กระทำการกัลปนาอุทิศ ดังนั้น ประติมากรรมจากปราสาทแห่งนี้ก็ต้องหล่อขึ้นในยุคนี้ด้วย
ประติมากรรมพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย )
ซึ่ง รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ยืนยันว่า ประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่นี้ เป็นรูปสนองพระองค์ ของ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1” ประเด็นสำคัญคือ ประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ มีรูปแบบศิลปะหลายประการเหมือนกับ “Golden Boy” เช่น รูปแบบการนุ่งผ้า คือนุ่งผ้าเว้า ขอบผ้าข้างหน้าต่ำกว่าข้างหลัง ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นของที่สร้างร่วมสมัยในศิลปะแบบบาปวน
นอกจากนี้ “Golden Boy” ก็ยังมีรูปแบบศิลปะที่เหมือนกับประติมากรรมพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่พบในปราสาทแม่บุญตะวันตก ประเทศกัมพูชา ซึ่งชิ้นนี้มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
ประติมากรรมพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่พบในปราสาทแม่บุญตะวันตก ประเทศกัมพูชา (ภาพจาก www.efeo.fr)
ด้วยข้อมูลที่สอดคล้องกันนี้ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ จึงมั่นใจว่า “Golden Boy” เก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จึงเป็นเหตุผลที่ว่า “Golden Boy” ไม่ใช่รูปสนองพระองค์ของเจ้าปฐมวงศ์มหิธรปุระ หากแต่เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยได้รับแจ้งคืน Golden Boy จากสหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดส่งคืนช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2567
ประติมากรรมสำริด โกลเด้นบอย (Golden Boy) ที่ถูกตีความว่าเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
แหล่งอ้างอิง
ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/history/article_127165?utm_source=dable
ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/history/article_126814
picture
: https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2024/02/DT5214-scaled.jpg
: https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2024/02/14-scaled.jpg
: https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2024/02/CAM13764.jpg