ณ วันที่ 01/03/2567
แหล่งแร่ทองคำแห่ง “ดินแดนสุวรรณภูมิ”
ประเทศไทย หรือที่รู้จักมักคุ้นกันดีในชื่อ “สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ดินแดนทอง” แล้วมีผู้ถอดเป็นภาษาไทยในภายหลังว่า “แหลมทอง” โดยที่มาของชื่อนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากหลักฐานทางโบราณวัตถุเครื่องทองต่างๆ รวมถึงพงศาวดาร และจดหมายเหตุที่บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ อีกทั้ง ยังมีปรากฏหลักฐานว่า มีชาวบ้านชาวไทยในอดีต ส่วนหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยการร่อนเสาะหาแร่ทองคำจากบางแหล่ง เช่น บ้านบ่อทอง ในจังหวัดชลบุรี หรือแหล่งแร่ทองบางสะพาน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อใช้ความรู้ทางธรณีวิทยา ทำให้รู้ถึงสภาพการสะสมตัวของแร่ทองคำในอีกหลายแห่ง ซึ่งกระจายตัวในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยการเกิดแหล่งแร่ทองคำสามารถแบ่งออกตามลักษณะการเกิดได้ 2 แบบ คือ
1.แบบปฐมภูมิ
แบบปฐมภูมิ คือ แหล่งแร่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา มีการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อน ผสมผสานกับสารละลายพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่าง ๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร พบการฝังตัวของแร่ทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน แหล่งแร่ทองคำแบบนี้จะมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ต่อเมื่อมีทองคำมากกว่า 3 กรัมในเนื้อหินหนัก 1 ตัน หรือมีทองคำหนัก 1 บาท (15.2 กรัม) ในเนื้อหินหนักประมาณ 5 ตัน (ประมาณ 2 ลูกบาศก์เมตร)
2.แบบปฐมทุติยภูมิ
แบบปฐมทุติยภูมิ หรือแหล่งลานแร่ คือการที่หินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิได้มีการสึกกร่อนผุพัง แล้วสะสมตัวในที่เดิมหรือถูกน้ำชะล้างพาไปสะสมตัวในที่ใหม่ ในบริเวณต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือ ในตะกอนกรวดทราย ในลำน้ำ
ข้อมูลจากสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า แหล่งแร่ทองคําในประเทศไทย มีจํานวน 32 แหล่ง ปริมาณทรัพยากรแร่ทองคําประมาณ 148 ตัน จากลักษณะทางธรณีวิทยาของการเกิดแร่ และการกระจายตัวของแหล่งแร่ สามารถแบ่งพื้นที่แหล่งแร่ทองคําที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทยออกเป็นแนวหรือโซนใหญ่ๆ ได้ทั้งหมดจํานวน 5 แนวหลัก ประกอบด้วย
แนวแร่ทองคําที่ 1 : แนวเลย – เพชรบูรณ์ – ปราจีนบุรี
แหล่งแร่ทองคําบริเวณนี้จัดเป็นแนวที่พบว่า มีศักยภาพทางแร่ทองคําสูงที่สุดในจำนวนแนวหลักทั้ง 5 แนว โดยเริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว เช่น
-แหล่งแร่ทองคําเขาพนมพา จังหวัดพิจิตร
-แหล่งแร่ทองคําภูทับฟ้า จังหวัดเลย เป็นต้น
จากการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีแหล่งแร่ทองคํา จํานวน 7 แหล่ง ซึ่งมีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคําถึง 64 ตัน
บริเวณพื้นที่ จังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ แร่ทองคำที่พบเกิดในสายแร่ควอตซ์ปะปนกับสายแร่ซัลไฟต์ ที่เกิดจากกระบวนการแปรสัมผัส
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งภูถ้ำพระ อําเภอเมือง จังหวัดเลย
-แหล่งภูทับฟ้า อําเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
-แหล่งภูปักธง อําเภอเมือง จังหวัดเลย
-แหล่งบ้านซำเจียง อําเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
-แหล่งบ้านเทพประทาน อําเภอน้ําโสม จังหวัดอุดรธานี
บริเวณพื้นที่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ แร่ทองคำที่พบเป็นสายแร่ควอตซ์ เกิดในหินภูเขาไฟที่ถูกแปรสภาพ และเกิดในแร่ซัลไฟต์ ร่วมกับแร่เหล็ก และแร่ทองแดง
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งน้ําก้อ อําเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
-แหล่งชาตรี รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตร – เพชรบูรณ์
-แหล่งเขาพนมพา อําเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร
-แหล่งบ้านบ่อทอง อําเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี
-แหล่งทุ่งตาแก้ว อําเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
บริเวณพื้นที่ จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ แร่ทองคำที่พบเป็นสายแร่ควอตซ์ เกิดในหินภูเขาไฟที่ถูกแปรสภาพ ร่วมกับแร่เหล็ก หรือฝังประในหินที่ถูกแปรสภาพ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งบ้านบ่อทอง อําเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
-แหล่งบ้านบ่อนางชิง อําเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว
-แหล่งบ้านบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
-แหล่งเขาวงกต อําเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
แนวแร่ทองคําที่ 2 : แนวเชียงราย – แพร่ – ตาก
แหล่งแร่ทองคําบริเวณนี้ พบว่าแร่ทองคํามักจะพบเฉพาะทางด้านใต้ของแนวเทือกหินภูเขาไฟ โดยเริ่มตั้งแต่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดเชียงราย พะเยา ผ่านอําเภอลอง ผ่านอําเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ต่อเนื่องถึง อําเภอเถิน อําเภอแม่พริก จังหวัดลําปาง จากการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณีพบแหล่งแร่ทองคํา จํานวน 16 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคํา 45.5 ตัน
บริเวณพื้นที่ จังหวัดเชียงราย พะเยา
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ และทุติยภูมิ แบบปฐมภูมิพบอยู่ในแร่ควอตซ์ และอุณหภูมิสูงที่เกิดแทรกอยู่ในหินแกรนิต แบบทุติยภูมิ พบอยู่ในตะกอนหินทราย หรืออยู่ใต้ชั้นกรวดตามลำน้ำ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งห้วยซอ อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
บริเวณพื้นที่ จังหวัดลําปาง แพร่ สุโขทัย
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ เป็นแร่ทองคำที่เกิดร่วมกับสายแร่ควอตซ์ และฝังประในเนื้อหินภูเขาไฟแปรสภาพ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งห้วยคําอ่อน อําเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
-แหล่งห้วยแม่ปาด อําเภอลอง จังหวัดแพร่
-แหล่งดอยแก้วน้อย อําเภอลอง จังหวัดแพร่
-แหล่งหนองบ้านปู อําเภอลอง จังหวัดแพร่
-แหล่งดอยผาผึ้ง อําเภอลอง จังหวัดแพร่
-แหล่งบ้านเค็ม อําเภอลอง จังหวัดแพร่
-แหล่งบ้าน-ป่าคา อําเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
-แหล่งแม่ตา – แม่ฟ้า อําเภอแจ้ห่ม จังหวัดลําปาง
แนวแร่ทองคําที่ 3 : แนวชลบุรี – นราธิวาส
แนวแร่ทองคําหลักแนวนี้พบแร่ทองคําอยูใน 3 จังหวัด โดยเริ่มจากจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และคาดว่าต่อเนื่องลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส โดยมีอ่าวไทยปิดกั้นอยู่ จากการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณีพบแหล่งแร่ทองคํา จํานวน 7 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคําประมาณ 6 ตัน
บริเวณพื้นที่ จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ พบอยู่ในสายแร่ควอตซ์ เกิดในหินสการ์น ร่วมกับแร่เหล็ก หรือฝังประในหินที่ถูกแปรสภาพ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งบ้านบ่อทอง อําเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
-แหล่งบ้านบ่อนางชิง อําเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว
-แหล่งบ้านบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
-แหล่งเขาวงกต อําเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
บริเวณพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ พบอยู่ในแร่ควอตซ์ แบบอุณหภูมิสูง ที่เกิดแทรกอยู่ในหินแกรนิต
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งบ้านโต๊ะโม๊ะ อําเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
แนวแร่ทองคําที่ 4 :แนวเชียงราย – ลําปาง – แม่ฮ่องสอน
แนวแร่ทองคําแนวนี้ สามารถพบทางตอนบนเหนือสุดของประเทศระหว่างชายแดนไทยกับประเทศพม่า มาทางทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงราย ผ่านลงมาทางตะวันตกของเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงจังหวัดตาก
จากการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณี จัดแนวแร่ทองคํานี้เป็นพื้นที่ศักยภาพทางแร่ ไม่จัดเป็นพื้นที่แหล่งแร่
บริเวณพื้นที่ จังหวัดเชียงราย พะเยา
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดทุติยภูมิ พบอยู่ในตะกอนดินทราย หรืออยู่ใต้ชั้นกรวดตามลำน้ำ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งบ้านยางแม่ต่างกลาง อําเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
-แหล่งบ้านผาฮี้ อําเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
-แหล่งบ้านปางหนุน อําเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
แนวแร่ทองคําที่ 5 :แนวกาญจนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ – พังงา
แนวแร่ทองคําหลักแนวนี้ แร่ทองคําที่พบจะเป็นลักษณะการสะสมตัวแบบทุติยภูมิตามลําน้ํา ลําห้วยต่าง ๆ และมักจะพบรวมกับแร่ดีบุกที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น แหล่งแร่ตะโกปิดทอง จังหวัดราชบุรี เขากระทะคว่ํา และเขาโพธิ์อิน จังหวัดพังงา แหล่งแร่ทองคําที่อําเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ จากการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณี พบแหล่งแร่ทองคํา จํานวน 2 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคํา 32.5 ตัน
บริเวณพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา
ลักษณะการเกิดแร่ทองคำ เป็นชนิดปฐมภูมิ และทุติยภูมิ แบบปฐมภูมิพบอยู่ในแร่ควอตซ์ ที่มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อน หรือฝังประในเนื้อหินที่ถูกแปรสภาพ แบบทุติยภูมิ พบอยู่ในตะกอนดินทราย หรืออยู่ใต้ชั้นกรวดตามลำน้ำ
ตัวอย่างแหล่งศักยภาพและแหล่งแร่ทองคํา ได้แก่
-แหล่งบ้านป่าร่อน อําเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
-แหล่งเขาใหญ่คลองกระโดน และเขาเจ้า อําเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
-แหล่งบ้านปิล๊อกคี่ อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
-แหล่งห้วยกรือกะปุ๊ อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ชาวบ้านร่อนหาผงแร่ทองคำ ณ บางตะพาน หรือบางสะพาน / วารสารทองคำ ปีที่11 ฉบับที่41 เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2557
แหล่งอ้างอิง
แผนที่และข้อมูลแหล่งแร่ของประเทศไทย ทองคำ 2559 : https://www.dmr.go.th/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3-2559/
มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 1211 หน้า 72 : https://www.nesdc.go.th/suvarnabhumi/articles_center/golden_land/golden_land.htm
Gold Traders Association : https://www.goldtraders.or.th/pageview.aspx?page=6