ณ วันที่ 19/06/2566
เรายังคงอยู่กับสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ คุณพิศาล เตชะวิภาค หรือ “อาจารย์ต้อย เมืองนนท์” รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 1 ได้ให้ข้อมูลไปแล้ว 6 อันดับ
ประกอบไปด้วย เหรียญหลวงพ่อโสธร ปี 2460 ของวัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล จ.ชัยนาท เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังวรวิหาร บางขุนเทียน ธนบุรี เหรียญพระแก้วมรกต 2475 (บล็อกนอก) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “รุ่นฉลองพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475” เหรียญหลวงพ่อทองศุข รุ่น 2 วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี และเหรียญไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างปี พ.ศ. 2495
ต่อไปเรามาชมกันต่อที่ อันดับ 7 และ 8 ของ 10 อันดับสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ
เหรียญฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ปี 2500
มาในฉบับนี้ จะเป็นอันดับ 7 คือ เหรียญฉลอง 25 พุทธศตวรรษปี 2500 สำหรับ “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” ทางราชการได้จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและแจกจ่ายแก่ข้าราชการทั่วประเทศ รวมถึงพ่อค้า ประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนในการจัดสร้าง“พุทธมณฑล” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งชาวพุทธถือกันว่า “กึ่งพุทธกาล” การจัดสร้างมีทั้งหมด 3 เนื้อ คือ เนื้อชิน เนื้อดิน และเนื้อทองคำ
โดยเนื้อทองคำ มีแบบลักษณะและขนาดเดียวกับพระเนื้อชิน ใช้ทองคำหนักประมาณ องค์ละ 6 สลึง สร้างจำนวน 2,500 องค์ มีพิธีพุทธาภิเษกถึง 2 ครั้ง ที่พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระราชาคณะ และพระเกจิอาจารย์ ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ทำให้ “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” นี้ นับเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส และเป็นที่นิยมทั้งในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง พระบูชา และพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง ว่ากันว่าราคาที่หาเช่ามาบูชาในปัจจุบันสูงถึง 1 ล้าน ถึง 1 ล้าน 5 แสนบาท
แต่เหรียญแพงสุด คือ เหรียญนาค สร้างไม่ถึง 100 เหรียญ ไว้แจกเฉพาะพระเกจิ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มานั่งปรกในการปลุกเสก ซึ่งมีทั้งพระไทย ลาว พม่า มอญ เขมร เวียดนาม ขณะที่เหรียญเงิน แจกพระทั่วไป แจกผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่น่าจะเกิน 500 เหรียญ
เหรียญหลวงปู่ทวด
อันดับ 8 คือ เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ วัดช้างให้ จ.ปัตตานี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในโอกาสที่พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พัดยศพื้นขาวฝ่ายวิปัสสนา โดยสร้างขึ้นทั้งหมด 4 เนื้อ คือเนื้อทองคำ จำนวนสร้างไม่น่าจะเกิน 20 เหรียญ เนื้อเงิน ไม่น่าจะเกิน 100 เหรียญ เนื้อทองแดง สร้างประมาณ 3,000 เหรียญ และเนื้ออัลปาก้า สร้างประมาณ 20,000 เหรียญ
แต่จากการสำรวจในวงการพระเครื่องพบว่าเหรียญทองคำมีมากกว่า 20 เหรียญ ซึ่งจากประวัติไม่คาดคิดว่าจะมีราคาแพง โดยในช่วงที่มีความต้องการครอบครองสูงๆ ราคาพุ่งไปไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนั้น จะมีเหรียญหลังเตารีด ซึ่งไม่ได้ตั้งใจสร้างแต่เป็นทองคำที่ตกไปอยู่ที่ก้นบล็อก