สคบ. คุมเข้มการขายทองผ่านโซเชียลมีเดีย

ณ วันที่ 06/12/2562

 

 

 

    ปัจจุบันการค้าในโลกออนไลน์ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม อย่างไรก็ดี ในระยะหลังปริมาณการฉ้อโกงการค้าในโลกออนไลน์ก็มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มมิจฉาชีพมักจะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ มาหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใช้สิทธิพิเศษ การให้กำไรที่งดงาม คุณภาพของสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อขายทองคำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเข้ามาควบคุมดูแล โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่ง ดร.ศรัณย์ รักษ์เผ่า ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านโฆษณา ได้ให้รายละเอียดถึงการดำเนินงานของ สคบ.

การหลอกลวงซื้อขายทองคำในตลาดออนไลน์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงไร

    ปัจจุบันวิธีการหลอกลวงการขายทองคำและสินค้าอื่น ๆ ในระบบออนไลน์มีมากขึ้น ซึ่งจะมาในรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการหลอกลงทุนในแชร์ทองคำ โดยให้เข้ามาเก็งกำไรราคา การซื้อขาย Forex หรือการลงทุนในสกุลเงินต่าง ๆ ล่วงหน้า ซึ่งนโยบายของ สคบ. ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ที่ต้องทำให้ผู้บริโภครับรู้เรื่องราวข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ว่าเป็นอะไร หากผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากการโฆษณาไป และผู้ขายไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่ระบุไว้ในโฆษณา ทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือราคา ก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ผู้ที่กระทำผิดจะต้องรับโทษอย่างไร

    ตามกฎหมายฉบับเก่าจะมีโทษปรับ 60,000 บาท จำคุก 6 เดือน แต่ตอนนี้ได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โทษจะเพิ่มเป็น 2 เท่า นอกจากนั้น ความผิดที่เกิดขึ้นต่อ 1 คนก็จะถือเป็น 1 กรรม ถ้าหลายๆ คนรวมกัน โทษก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ และฐานความผิดจะแบ่งเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการและผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความกับตำรวจ  แต่ในส่วนของ สคบ.จะเป็นการเอาผิดทางแพ่ง

การดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่หลอกลวง ทาง สคบ. ดำเนินการได้เองเลยหรือไม่ หรือต้องให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ

    เมื่อมีผู้บริโภคมาร้องเรียนกับ สคบ. ถ้าไม่ติดขัดเรื่องของกฎหมายเฉพาะ ทาง สคบ. สามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ได้ให้อำนาจ สคบ. ในการสั่งฟ้องคดีได้ทันที เพื่อความรวดเร็วในการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญหากพบว่า การโฆษณาใดที่เป็นเท็จหรือพูดเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ คณะกรรมการโฆษณาสามารถมีคำสั่งห้ามการโฆษณาในทุกสื่อได้ทันที ยกเว้นโฆษณา ในออนไลน์ก็อาจจะต้องแจ้งไปยังกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อระงับการโฆษณา หรือการแบนโฆษณาชิ้นนั้น

 

         

ปัจจุบันผู้ที่โฆษณามีรูปแบบหรือว่ากลยุทธ์ในการชักชวนหรือเชิญชวน ต่างจากเดิมมากน้อยเพียงไร

   ปัจจุบันจะเป็นลักษณะของการทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อก่อน โดยอาจจะให้สินค้ามาบ้าง แต่หลังจากนั้นก็บิดพลิ้ว หรือจะมีการสั่งของแล้วให้เก็บเงินปลายทาง แต่ผู้บริโภคไม่ได้ของตามที่โฆษณาไว้ อย่างเช่น ทองคำ ปัจจุบันก็จะเป็นทองคำเทียม ซึ่งเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ทองคำ แต่มีสีเหมือนทองคำเอาไปใช้ในเครื่องประดับ ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ของ สคบ. ได้ระบุว่า สินค้าเหล่านี้จะต้องชี้แจงรายละเอียด ไว้อย่างชัดเจนถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะของสินค้า ว่าส่วนประกอบของวัสดุนั้น ๆ คืออะไร เช่นต้องระบุว่าเป็นทองคำเทียมที่ทำเลียนแบบขึ้นมา

    ทั้งนี้ สคบ. อยากจะแนะนำว่าหากผู้บริโภคต้องการจะซื้อทองคำขอให้ไปซื้อตามร้านที่ได้รับการรับรองจากสมาคมค้าทองคำ และสคบ.แล้ว จึงจะได้ทองที่มีคุณภาพตามมาตรฐานทั้งเรื่องราคาและเปอร์เซ็นต์ทอง แต่บางครั้งราคาอาจจะแตกต่างกัน เรื่องของค่ากำเหน็จตามสถานที่จำหน่าย และลวดลายของทองคำ แต่ทั้งนี้ร้านค้าจะต้องระบุ ราคา เปอร์เซ็นต์ทอง ในฉลากให้ชัดเจนตามที่กฎหมายที่ระบุไว้

สคบ.มีหน่วยงานที่จะตรวจสอบเรื่องของการโฆษณาผ่านทาง Social หรือสื่ออื่น ๆ โดยตรงหรือไม่

   กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบโดยตรง และจะตรวจสอบดูแลและเฝ้าระวังอย่าง
ต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานที่ดูแลตรงนี้ก็ได้เปรียบเทียบปรับผู้ที่โฆษณาไม่ตรงกับความจริงไปประมาณ150 ราย รายละ 60,000 บาท ซึ่งเป็นโทษปรับสูงสุด เพราะเห็นว่าการโฆษณาเป็นการนำข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณะ ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้และหลงเชื่อได้รับความเสียหาย จึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่งการปรับ 60,000 บาทจะปรับผู้ประกอบการ 30,000 บาท และก็เจ้าของสื่ออีก 30,000 บาท แต่ใน พ.ร.บ.ตัวใหม่โทษจะเพิ่มเท่าตัว ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ค่อนข้างจะระมัดระวัง และก็ทำผิดน้อยลงเพราะว่าอัตราค่าปรับสูงมากขึ้น

สคบ.มีวิธีการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่เป็นชาวต่างชาติ ที่แฝงตัวมาโฆษณาออนไลน์ในไทยอย่างไร

    ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นของไทย ถ้าเป็นการซื้อขายออนไลน์ จะมี พ.ร.บ. ซื้อขายออนไลน์ควบคุมอยู่ ผู้ที่ทำกิจการจะต้องมาจดทะเบียนกับ สคบ. ถ้าทำผิดอะไร จะสามารถดำเนินการได้เลย แต่ถ้าหากทำธุรกิจขายตรงก็จะต้องไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดที่แสดงอยู่ในเว็บไซต์อยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้บริโภคต้องศึกษาตัวตนของผู้ขายให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ

    ส่วนกรณที่ผู้ค้าไปจดโดเมนต์ในต่างประเทศ ยอมรับว่าค่อนข้างจะมีปัญหาในการเอาผิด เมื่อผู้บริโภคมาร้องเรียน
กับ สคบ. ก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้โดยตรง แต่จะไปดำเนินการเอาผิดกับบริษัทที่ขนส่งสินค้าแทนในฐานะตัวการร่วม แต่โทษอาจจะไม่รุนแรงมากนัก เพราะว่าไม่ได้เป็นต้นทางจริง ๆ เพราะฉะนั้น อยากจะเตือนผู้บริโภคว่าการที่จะซื้อสินค้าออนไลน์จะต้องเช็คแหล่งหรือตัวตนของผู้ขายให้ชัดเจน ดูว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร ดูรหัสที่จดทะเบียนกับธุรกิจการค้า การจดทะเบียนกับ สคบ. เลือกทำธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียงหรือว่ามีฐานะมั่นคง สามารถจับต้องกับตัวสินค้าได้

สคบ.ได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมฯ ในการดูแลการซื้อขายทองคำผ่านทางออนไลน์อย่างไรบ้าง

    ที่ผ่านมา สมาคมค้าทองคำ กับ สคบ. ได้มีการร่วมมือกันมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของการตรวจสอบรับรองการค้าทองคำโดยมีการมอบตราสัญลักษณ์ให้กับร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ เพื่อเป็นการรับรองในเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค เนื่องจากทองคำเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรฐานตรวจสอบได้ มีการกำหนดราคาที่ชัดเจน ซึ่งการซื้อกับผู้ค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะมีความปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้ การซื้อขายทองคำในโลกออนไลน์ที่เป็นปัญหา ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของราคาถูก แต่จากการตรวจสอบแล้วจะไม่ใช่ทองคำจริง เพราะราคาทองคำจะมีการประกาศราคากลางชัดเจนจากสมาคมฯ ส่วนที่จะต่างกันก็เพียงแค่ค่ากำเหน็จ ดังนั้น การที่
จะมีการประกาศขายทองในราคาถูก ให้ตั้งข้อสงสัยก่อนเลยว่าน่าจะถูกหลอก แต่หากเป็นการลดค่ากำเหน็จ ก็ต้องมาดูว่าผู้ขายมีความน่าเชื่อถือเพียงไร และจะคุ้มค่าหรือไม่กับส่วนลดที่ได้รับ เมื่อเทียบกับไปซื้อที่ร้านขายทอง ซึ่งเราจะได้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าด้วยตัวเอง 

หากทราบว่าตนเองถูกหลอก สามารถติดต่อทาง สคบ.ได้อย่างไรบ้าง

    มีหลากหลายช่องทางที่ให้สามารถติดต่อเข้ามาได้ ทั้งทางออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นของ สคบ. หรือร้องเรียนทางโทรศัพท์ สายด่วนหมายเลข 1166 หากอยู่ต่างจังหวัดให้ไปที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ สคบ.จังหวัด คอยดูแลรับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่ และการดำเนินการก็ไม่ได้มีความยุ่งยากเหมือนในอดีต เพียงแค่จะต้องขอพิสูจน์ตัวตนผู้ที่มาร้องว่าไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ตัวตนได้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่นาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ขอแนะนำว่าให้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ประสานมายังที่ สคบ. เพื่อดำเนินการร่วมกับทางตำรวจ โดย สคบ.จะดำเนินการได้เฉพาะคดีแพ่ง ขณะที่ตำรวจจะดำเนินการในฝั่งของคดีอาญา

อยากทราบความคืบหน้าในการทำงานของสคบ. เรื่องของการตรวจรับรองผู้ประกอบการค้าทองคำในต่างจังหวัด

    จากการลงไปตรวจสอบที่ผ่านมา ร้านค้าต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะดูแลกันดี สินค้าหรือการให้บริการต่าง ๆ จะได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ แต่กลุ่มที่จะเป็นปัญหาคือร้านค้าที่อยู่นอกระบบ จึงอยากให้ประชาชนส่งเสริมร้านค้าที่มีการตรวจสอบมีการรับรองมากกว่า เพราะหากทุกคนซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ ก็จะทำให้ร้านค้านอกระบบก็จะต้องตายจากไป ทำให้การค้าขายได้มาตรฐานมากขึ้น นอกจากนั้น บทบาทของชมรมร้านทองในต่างจังหวัดก็มีความสำคัญเพราะจะช่วยกันดูแลมาตรฐานในการประกอบการของบรรดาผู้ค้าในพื้นที่ด้วยกันเอง

    ในส่วนการลงพื้นที่ของ สคบ. นอกจากจะร่วมตรวจสอบแล้ว ก็ได้เข้าไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กฎระเบียบต่าง ๆ ของ สคบ. ให้กับบรรดาผู้ประกอบการได้รับทราบ โดยได้เชิญเข้ามานั่งพูดคุยกัน ซึ่งผู้ประกอบการร้านทองก็ได้ให้ความร่วมมือและได้ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนไป