ณ วันที่ 19/12/2560
ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ธันวาคม 2560 โดยดัชนีปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จากระดับ 48.72 จุด มาอยู่ที่ระดับ 45.13 จุด ซึ่งลดลงมา 3.59 จุด หรือคิดเป็น – 7.37 % โดยดัชนีฯ ปรับลดลงมาเป็นเดือนที่สาม และไม่สามารถยืนอยู่เหนือระดับ 50 จุดได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีก โดยมีปัจจัยทางด้านทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่สุด ส่วนปัจจัยที่มีผลรองลงมาเชื่อว่าเป็นเพราะการแข็งค่าของเงินบาท แรงขายเก็งกำไรของกองทุน และเงินทุนไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์เสี่ยง
จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 280 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 60.71 ของกลุ่มตัวอย่าง คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือน ธันวาคม 2560 ขณะที่ร้อยละ 22.14 ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ส่วนอีกร้อยละ 17.15 คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำในช่วงเดือน ธันวาคมนี้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่คาดว่าจะซื้อทองคำปรับขึ้นมาคิดเป็นร้อยละ 10.51 จากเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าราคาทองคำที่ปรับลดลงมีผลต่อความต้องการซื้อทองคำที่เพิ่มมากขึ้น
สรุป กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ธันวาคม 2560 จะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน พฤศจิกายน 2560 จำนวน 5 ราย และคาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น จำนวน 3 ราย ส่วนคาดว่าทองคำจะลดลงมีจำนวน 2 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองเดือน ธันวาคม 2560 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบราคาบริเวณ 1,221 – 1,320 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ ความบริสุทธิ์ 96.5 % ให้กรอบราคาบริเวณ 19,001 – 20,500 บาท ต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทย ให้กรอบบริเวณ 32.21 – 33.00 บาทไทย ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงปลายปี ให้ซื้อสะสมในราคาที่ต่ำกว่า 1,270 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
ด้าน ดร. อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยจากการสำรวจความรู้พื้นฐานและพฤติกรรมการซื้อหรือขายทองคำของประชาชนไทย โดยการสุ่มตัวอย่างให้กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถาม พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 รู้ว่าทองคำ 1 บาท หนักประมาณ 15 กรัม โดยคนส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) รู้ว่าทองคำ 1 บาท เท่ากับ 4 สลึง
ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68 เคยซื้อทองรูปพรรณ โดยซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับ สร้อยคอและแหวนเป็นที่นิยมมากที่สุด และประมาณร้อยละ 75 เลือกซื้อทอง 96.5% โดยให้เหตุผลว่ามีลวดลายให้เลือกหลากหลาย มีร้านทองให้ซื้อขายได้สะดวก และมีราคา รับซื้อ-ขาย ตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศ
ประชาชนร้อยละ 45 เคยมีประสบการณ์การขายทองรูปพรรณ โดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินยามฉุกเฉิน ทั้งนี้พบว่าความถี่ในการขายทองคำไม่บ่อยนัก กล่าวคือ มากกว่า 6 เดือนต่อครั้ง นั่นคือคนส่วนใหญ่ซื้อเพื่อการเก็บออม ทั้งทองรูปพรรณและทองคำแท่งน้ำหนัก 1 บาท เป็นที่นิยมของประชาชน มีเพียงร้อยละ 20 ของกลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อทองคำแท่ง และเป็นการซื้อเพื่อการลงทุนเป็นหลัก โดยคาดหวังกำไรตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปต่อทองคำหนึ่งบาทที่ซื้อ ประมาณร้อยละ 50 รู้จักเวบไซต์สมาคมค้าทองคำ และร้อยละ 48 ตรวจสอบราคาทองคำจากเวบไซต์นี้
มีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่รู้จักและเคยใช้บริการช่องทางทองคำออนไลน์ หรือทองแท่งออนไลน์ โดยกลุ่มที่รู้จักและเคยใช้บริการได้แก่กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีรายได้สูง และประกอบธุรกิจส่วนตัว
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
– รายงานศูนย์วิจัยทองคำ ประจำเดือน ธันวาคม 2560 ฉบับเต็ม
– รายงานผลการวิจัย โครงการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคทองคำในประเทศไทย
– เอกสารประกอบการบรรยาย โดย บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด