ณ วันที่ 07/10/2559
การฟอกเงิน (Laundry) เป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้ดูเสมือนว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฏหมาย เพื่อให้ “เงินสกปรก” หรือเงินที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้ดูเหมือนเป็น “เงินสะอาด” เพื่อสามารถนำเงินที่ถูกฟอกไปใช้ในการกระทำความผิดอาญาต่อไป
“เงินสกปรก” เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง?
เงินสกปรก มาจากหลายช่องทาง ซึ่งทาง ปปง. จัดให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดในด้านการค้ามนุษย์ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดยักยอกทรัพย์ของสถาบันการเงิน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก อั้งยี่ หรือซ่องโจร เป็นต้น
การฟอกเงิน เกี่ยวกับธุรกิจทองคำอย่างไร?
มิจฉาชีพหรือคนร้ายมักใช้วิธีการหลายๆรูปแบบในการฟอกเงิน หนึ่งในวิธีการฟอกเงินนั้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจทองคำโดยตรง นั่นคือ เงินสกปรก ถูกนำมาซื้อทองคำ โดยเฉพาะทองคำแท่ง จากร้านค้าทอง เพื่อนำไปเก็บไว้ และนำไปขายต่อไป ซึ่งเงินที่ได้จากการขายทองคำดังกล่าวก็จะกลายเป็นเงินสะอาด สะท้อนการฟอกเงินผ่านทางธุรกิจทองคำของเรา เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิดในการสอดส่องพฤติกรรมต้องสงสัยในการฟอกเงิน เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศมีความเสี่ยงสูงในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการมาตรการทางการเงิน (Financial Task Force หรือ FATF) ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมกับนานาประเทศเป็นอย่างมาก
ความผิดฐานฟอกเงินมีอะไรบ้าง และมีโทษหนักเบาอย่างไร?
(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังขณะการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
(2) กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะ ที่แท้จริง การได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ธุรกิจทองคำ มีหน้าที่อย่างไรในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชรพลอย หรือทองคำ จัดเป็นผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 (2) ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีหน้าที่ รายงานธุรกรรมเงินสด และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง.
ธุรกรรมที่ผู้ค้าทองต้องรายงาน คือ
- ธุรกรรมเกี่ยวกับเงินสด ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
- ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (ไม่ต้องพิจารณาวงเงิน) เมื่อลูกค้ามีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าอาจซื้อ-ขายทองคำ เพื่อการฟอกเงิน หรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เช่น มีการปกปิดร่องรอยเจ้าของเงินที่แท้จริง หรือ ทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับสภาพฐานะของลูกค้า เป็นต้น
นอกจากหน้าที่การรายงานธุรกรรมแล้ว ผู้ประกอบอาชีพค้าทองคำ ยังมีหน้าที่ตรวจธุรกรรม และช่วยป้องกันการฟอกเงิน โดยการจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (ตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป) และเก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงตน และบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมของลูกค้า เพื่อให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. ในการถึงข้อมูลของลูกค้าในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบคือ ข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวกของลูกค้า
เรียบเรียงโดย : ศูนย์วิจัย ทองคำ