มารู้จัก “ทองคำ” ประเทศมาเลเซีย เสือเหลืองแห่งอาเซียน

ณ วันที่ 07/06/2559

 

 

 

    สหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม AEC ที่ประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต ซึ่งเดิมเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ด้วยค่าแรงที่ถูกไปอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ด้านกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่เน้นนโยบายเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น และเคลื่อนไหวไปตามกระแสเศรษฐกิจโลก เช่น สนับสนุนการค้าเสรี ปรับโครงสร้างภาษี เปิดรับการค้าการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ตะวันตก โดยให้ไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน คงทน และมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า

    ในยุคหลังของการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะพบว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาเซียนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแนวหน้าของหลายประเทศ เพราะสามารถดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้าประเทศ ในมาเลเซียเองก็มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกที่มีบทบาทมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และยังเคยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมาแล้ว

    ส่วนเหมืองแร่ทองคำแม้ว่าจะยังไม่เป็นตลาดทุนหลักของมาเลเซีย แต่ก็อยู่ในระดับที่กำลังเติบโต เห็นได้จากการที่มีบริษัทต่างชาติ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เข้ามาลงทุนทำเหมืองในรัฐกลันตัน ปะหัง ตรังกานู ซาบาห์ และยะโฮร์ จนเรียกกันว่าเป็น Golden Belt ของประเทศ

    การลงทุนในทองคำแท่งสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ Paper Gold และ Physical Gold การลงทุนแบบ Paper Gold หมายถึง การตกลงกันระหว่างนักลงทุนและธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะเป็นผู้กำหนดราคาทอง นักลงทุนจะถือ Passbook ที่ออกให้โดยธนาคารและสามารถ ซื้อ/ขาย กับธนาคารนั้นๆได้ตลอดเวลา แต่จะไม่มีทองคำแท่งจริงให้กับนักลงทุน มีธนาคารหลายแห่งที่เสนอรูปแบบการลงทุนแบบ Investment Gold นี้ เช่น Public Bank, Maybank, CIMB Bank, UOB Bank, Kuwait Finance House, Al Rajhi Bank เป็นต้น

    ส่วนการลงทุนแบบ Physical Gold นั้นนักลงทุนสามารถซื้อ/ขายทองคำแท่ง 99.99% ได้โดยตรงกับธนาคารทั่วไป หรือบริษัทเอกชน (Gold Trading Companies) ที่มีอยู่หลายแห่ง เช่น ธนาคาร Maybank, UOB Bank, Bank Negara Malaysia และ Public Gold (Trading Company) เป็นต้น ธนาคารหรือบริษัทเอกชนเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดราคาซึ่งก็จะแตกต่างกันบ้าง ตามตัวอย่างตารางเปรียบเทียบ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

 

    เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้วที่ทองคำไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมของมาเลเซีย ประชาชน/ผู้ทำธุรกิจเครื่องประดับสามารถซื้อหาทองคำแท่งได้จากบริษัทเอกชนได้โดยตรง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นระหว่างธนาคารหรือบริษัทค้าทองคำแท่งเอกชน ในยุคที่ผ่านมาราคาทองคำแท่งนั้นถูกกำหนดโดย 2 สมาคมใหญ่ ที่เป็นที่รู้จักกันในวงการค้าทองคำแท่งและจิวเวลรี่ (เพราะมี สมาชิก มากกว่า 6,000 บริษัท) คือ Federation of Goldsmiths and Jewelers Associations of Malaysia (FGJAM) และ Gold Bullion Entrepreneurs Association of Malaysia (GBEAM)

     แต่หลังจากที่มาเลเซียมีกฎหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้า ประกอบกับข้อกำหนดต่างๆ ของธนาคารแห่งชาติ Bank Negara Malaysia เกี่ยวกับทองคำแท่ง เป็นผลทำให้สมาคมใหญ่ทั้งสอง ต้องระงับการกำหนดราคาทองคำแท่งไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พร้อมโต้แย้งว่าการกำหนดราคาในลักษณะนี้เป็นการชี้นำตลาด ซึ่งไม่เหมาะกับตลาดทองคำแท่งในประเทศที่มีการแข่งขันสูง แต่ต้องการให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดทองคำแท่ง เป็นตัวกำหนดทิศทางราคาทองคำในประเทศ

    ทั้งนี้ ชาวมาเลเซียในปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูง เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงส่งผลให้ตลาดทองรูปพรรณ และเครื่องประดับอัญมณีมีขนาดใหญ่ คือประมาณ 25 ตันต่อปี ส่วนใหญ่นิยมเครื่องประดับประเภททองคำเพื่อการเก็บออมหรือเป็นของขวัญ

    ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับทองคำ 99.99% (24K) หรือ 91.6% (22K) ในมาเลเซียมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับ เชื้อชาติ และศาสนา เช่น ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุด นิยมเลือกซื้อเครื่องประดับทองคำและ เข็มกลัดลวดลายดอกไม้ ใบไม้ เพื่อไว้ใช้ประดับเสื้อและผ้าคลุม ศีรษะฮิญาบ แต่จะไม่นิยมรูปสัตว์ เพราะตามหลักข้อบังคับการแต่งกายของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า “ออรัต (Aurat)” นั้น จะห้ามนำรูปสัตว์ใหญ่มาตกแต่งร่างกาย

    อีกกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดรองลงมา แต่มีกำลังซื้อที่สูงกว่าคือ ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน กลุ่มนี้จะนิยมเครื่องประดับทองคำเพื่อการออมและสวมใส่ คล้ายคนไทย ขณะที่คนรุ่นใหม่จะชอบเครื่องประดับแนวตะวันตกที่เป็นทองคำขาวและเพชร นอกจากนี้ ก็ยังมีพวกที่นิยมพระเครื่องไทยเลี่ยมกรอบทอง เพื่อไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเสริมสิริมงคลในการดำเนินธุรกิจ

    กลุ่มสุดท้ายมีขนาดเล็กที่สุดคือ ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ซึ่งนิยมเครื่องประดับทองคำเช่นกัน แต่เน้นการออกแบบ และการแกะสลักลวดลายแบบอินเดีย ที่มีตัวเรือนประดับด้วยเพชร ทับทิมหรือมรกต โดยรวมแล้วตลาดทองรูปพรรณประเภท 22K จะเป็นที่ต้องการมากกว่า เช่นเดียวกับตลาดส่งออกเครื่องประดับทองคำของมาเลเซีย ซึ่งมีขนาดประมาณ 50 ตันต่อปีก็เป็นทอง 22K

    สำหรับสถานที่จัดจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีและทองคำมีทั่วไป เช่น ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีห้างสรรพสินค้า Surai KLCC ใกล้กับตึกแฝดปิโตรนาส และห้าง Sunway Pyramid อยู่ในเขตบันดาร์ ซันเวย์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับทองคำที่มี in-house brands เป็นของตัวเอง อีกหลายบริษัท เช่น Poh Kong Holding Bhd, Tomei Group, Niche Capital Emas Holdings Bhd, DeGem Bhd, Habib Jewels Sdn Bhd เป็นต้น

    บริษัทผู้ค้าที่มีชื่อเสียงในมาเลเซียก็มีมาก เช่น Emas Sri Pinang Gold Shop, Kedai Emas Sri Harmoni, Diamond and Platinum, Wah Chan, Lazo Diamond, The Carat Club และ My Diamond เป็นต้น ส่วนบริษัทต่างชาติก็มี เช่น Tiffany & Co จากสหรัฐอเมริกาและ Pranda Jewelry จากไทย เป็นต้น

    ในอดีตเครื่องประดับทองคำอัญมณีในมาเลเซียถูกจัดให้เป็นสินค้าประเภท duty free ภายใต้นโยบาย tax free policy นั่นคือ ไม่มีภาษีนำเข้า ภาษีขาย และ surcharge tax แต่ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดให้เรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการของทองคำเครื่องประดับทอง หยก เพชร ที่เรียกว่า GST (Goods and Services Tax) ในอัตรา6% ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าค่อนข้างมาก

    อย่างไรก็ตาม มาเลเซียก็มีกฎหมายยกเว้นภาษี GST ให้กับทองคำแท่ง โดยมีข้อกำหนดให้ เป็น Investment Precious Metals (IPM) ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นทองคำแท่งที่รับรองคุณภาพจาก London Bullion Market Association มีความบริสุทธิ์อย่างน้อย 99.5% และเป็นองค์ประกอบของการลงทุน ซึ่งกฎหมายนี้มีผลตั้งแต่เมษายน 2558 ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองคำและอัญมณีต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในระบบภาษี GST ปัญหานี้ยังส่งผลไปถึงผู้ผลิตทองคำแท่งในประเทศที่ยังไม่มีการรับรองคุณภาพจาก LBMA

    ดังนั้น FGJAM และสมาคมใหม่ Malaysia Gold Association จึงพยายามเจรจาต่อรองกับรัฐบาลและศุลกากรมาเลเซีย เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบนี้ต่ออุตสาหกรรมโลหะมีค่า เหมืองแร่ ช่างทอง และกลุ่มผู้ค้าอัญมณีเครื่องประดับ และอยู่ในขั้นตอนนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการยกเว้น หรือหลักการคิดภาษี GST ที่จะแบ่งเบาภาระให้กับผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยให้รัฐเสียประโยชน์น้อยที่สุด

    จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจ เปิดและประสบความสำเร็จในการดึงทุนจากต่างชาติเข้าประเทศได้มากเป็นอันดับสามในอาเซียน แม้ว่าในปี 2558 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะลดลงไปบ้าง รวมถึงการลงทุนอาจต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ขาดแคลนแรงงานในระดับล่าง และปัจจุบันยังมีปัญหาวิกฤติแรงกดดันของนายกรัฐมนตรี ราจิบ ราซัค เกี่ยวกับเงินก้อนโตในกองทุนพัฒนามาเลเซีย 1 MDB

    แต่ทั้งนี้ ต้องถือว่ามาเลเซียเองยังคงความได้เปรียบในหลายเรื่องเช่น มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากจนจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภคดีที่สุดในเอเชีย รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ มีแรงงานคุณภาพดี และมีระเบียบวินัย มีนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อผลักดันและยกระดับประเทศให้อยู่ในกลุ่ม High-Income Country เป็นต้น

    มาเลเซียจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งในกลุ่ม AEC ที่น่าสนใจ และไม่ควรมองข้ามสำหรับนักลงทุน และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอัญมณี เครื่องประดับทองคำที่ต้องการจะไปขยายตลาดและการบริการในมาเลเซีย

    สหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) หรือที่หลายคนรู้จักในฉายาเสือเหลืองแห่งอาเซียน เนื่องจากมีเสือโคร่งมาลายูเป็นสัตว์ประจำชาติ มาเลเซียเป็นประเทศที่ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วน คือ มาเลเซียตะวันตกบนคาบสมุทรมลายูติดกับไทยและสิงคโปร์ และมาเลเซียตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว ดินแดนทั้งสองส่วนนี้แบ่งแยกกันโดยทะเลจีนใต้ เป็นระยะทางกว่า 650 กิโลเมตร พื้นที่ประเทศจะเล็กกว่าไทยอยู่เกือบสองแสนตารางกิโลเมตร และมีประชากรน้อยกว่าไทยอยู่ราว 30 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมาก็จะเป็นพุทธ คริสต์ ฮินดู และศาสนาอื่นๆ อีกตามลำดับ

    ในประเทศมาเลเซียมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ คือ มาลายู จีน อินเดีย และคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่เรียกว่าโอรัง อัสลี เช่น ชาวซาไก เนกริโต เป็นต้น

    สำหรับประวัติโดยย่อของดินแดนแห่งนี้มีว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยที่เก่าแก่ของอินโดนีเซีย จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 1944 จึงเป็นจุดเริ่มของอาณาจักรต้นกำเนิดมาเลเซียที่มีผู้ปกครองคนแรกคือเจ้าชายปรเมศวร ซึ่งได้สร้างหมู่บ้านประมงเล็กๆ ให้กลายเป็นอาณาจักรและศูนย์กลางการค้าระหว่างอาณาจักรที่เรียกว่ามะละกา โดยเริ่มการค้าขายอย่างจริงจังกับชาวจีนในราชวงศ์หมิง

    หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2054 มะละกาก็ตกไปอยู่ในการปกครองของโปรตุเกส เป็นเวลานานกว่า 130 ปี ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในการปกครองของชาวดัตช์อีกกว่า 80 ปี สุดท้ายอังกฤษได้ขยายจักรวรรดิอาณานิคมแผ่อำนาจครอบครองทั้งมะละกา ปีนัง และสิงคโปร์ บังคับให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษ นานกว่า140 ปี

    หลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชก็มีการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามีรัฐบาลกลางทำหน้าที่ดูแลเรื่องสำคัญต่างๆ ในระดับนโยบายและความมั่นคง ขณะที่แต่ละรัฐ ก็จะมีรัฐบาลของตัวเองดูแลด้านศาสนา ประเพณี สังคม เกษตรกรรม การคมนาคม เป็นต้น

    ในสหพันธรัฐฯ จะมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุขที่เลือกตั้งจากกลุ่มเจ้าผู้ปกครองรัฐสุลต่าน ทั้ง 9 รัฐ (จริงๆ แล้วมาเลเซียมี 13 รัฐ แต่มีเจ้าผู้ปกครองเพียง 9 รัฐ) ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน และดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี หัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี

    มาเลเซียใช้หน่วยเงินตราเป็น ริงกิต สัญลักษณ์ย่อคือ RM และรหัสเงินตราคือ MYR (โดยประมาณ 1 ริงกิต = 8.50 บาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559)

ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 49 เดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2559