สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ อีกหนึ่งตลาดทองคำที่น่าจับตา

ณ วันที่ 20/04/2559

 

    สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกจับตามากที่สุดในกลุ่มเออีซี เพราะพื้นที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 1.3 เท่า แต่มีประชากรน้อยกว่า และที่สำคัญมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ ประกอบกับรัฐบาลทหารที่ได้ปกครองประเทศอย่างเข้มงวดมาอย่างยาวนาน ได้ผ่อนคลายนโยบายในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการปกครองและการค้า เพื่อต้องการนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี โดยอนุญาตให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตและการจัดการ ส่งเสริมให้มีการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ พื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่องของเกษตรกรรม เหมืองแร่ (เช่น หิน สังกะสี ดีบุก ทองแดง และ ทองคำ เป็นต้น) ป่าไม้ และอุตสาหกรรม

    อย่างไรก็ตาม การทำการค้าในพม่ายังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่ห้ามมิให้เอกชนนำเข้าหรือส่งออก ยกเว้นรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่สามารถทำได้ ซึ่งทองคำ และอัญมณีก็อยู่ในกลุ่มสินค้าต้องห้ามด้วย

    นอกจากนั้น รัฐบาลทหารยังเป็นผู้ผูกขาดระบบการค้า การลงทุน การธนาคาร ทำให้ผู้ที่จะทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะต้องยื่นขอจดทะเบียนที่กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ และจำกัดวงเงินเปิด L/C ของผู้นำเข้า ไม่เกิน US$ 50,000 ต่อเดือน โดยที่ผู้นำเข้าต้องเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ ที่ Myanmar Investment and Commercial Bank (MICB) หรือ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) เป็นต้น ซึ่งธนาคารพาณิชย์ในพม่ายังผูกขาดโดยรัฐบาล และฐานะของธนาคารก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ

    นอกจากนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าต (Kyat) ของรัฐบาลยังแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดมาก ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการที่จะถูกประเทศทางตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อประมาณสิ้นเดือนตุลาคม 2556 ธนาคารกลางพม่าจึงได้ประกาศเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีว่า มีปริมาณทองคำสำรองเป็นจำนวน 7.1539 ตัน และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวน US$ 8.1 พันล้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

    มาดูเรื่องของการค้าทองคำในพม่ากันบ้าง ที่ผ่านมามีตลาดค้าทองคำที่ไม่อ้างอิงตลาดต่างประเทศ มีการกำหนดราคาทองคำแตกต่างจากมาตรฐานในระดับนานาชาติ เป็นผลทำให้ราคาทองคำอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาตลาดโลก เช่น ลอนดอน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาหลัก คือ เรื่องความ บริสุทธิ์ของทองคำเพราะขาดเกณฑ์มาตรฐานในการวัด และจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ทำให้การค้าทองคำในลักษณะที่มีการนำเข้าหรือส่งออกเป็นเรื่องยาก และเป็นอุปสรรค ต่อการทำธุรกิจข้ามชาติ ดังนั้น ทองคำจึงเหมาะที่จะเป็นเพียงสินค้าสำหรับคนมีฐานะในประเทศจะเก็บไว้เพื่อเป็นทุนสำรองส่วนตัว

    ทองคำในพม่าจะซื้อขายในหน่วยของ kyat tha หรือ tical ปกติแล้ว 1 tical = 0.576 ounces หรือเท่ากับ 16.3293 กรัม ตามข้อมูลของเว็บไซค์ www.naungmoon.com/p/predict.html ระบุว่าถ้าเป็นทองคำ 99.99% (24K) แล้ว 1 tical = 16.606 กรัม ตัวอย่างเช่นในวันที่ 2 สิงหาคม 2556 มีอัตราแลกเปลี่ยน US$ 1 = 979 kyats แล้วทองคำ 99.99% มีค่า US$ 42/กรัมจะหมายถึง 1 tical ของทองคำ = US$ 697.452 เป็นต้น

    ปัจจุบันประเทศพม่ามีการทำเหมืองทองคำมากขึ้น โดยเป็นการลงทุนร่วมกับต่างชาติ ซึ่งเป็นเหมืองขนาดใหญ่ 8 เหมือง ขนาดเล็กอีกหลายร้อยเหมือง และมีกฎหมายบังคับเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างเอกชนกับรัฐในอัตราส่วน 30:70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้กำหนดให้สัมปทานแก่บริษัทจากประเทศจีน ไทย และเกาหลีใต้ เท่านั้น ส่วนบริษัทจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย จะทำเหมืองในรูปแบบของ third-party

    ส่วนสถานที่พบแร่ทองคำมากที่สุดหลังจากการสำรวจแล้วอยู่ในเขตสะกาย (Sagaing Division) บริเวณตำบลกอลีง (Kawlin Township) ซึ่งคาดว่าจะสามารถขุดสินแร่ทองคำได้ถึง 6 ล้านตัน และในเขตมัณฑะเลย์ (Mandalay Division) บริเวณตำบลเปียนมานา หรือ ปยินมะนา (Pyinmana Township) และตำบลตะเบ็ดจิน (Thabeikkyin Township) และอีกหลายแห่งในรัฐกะฉิ่นและรัฐฉาน (ข้อมูลจาก www.bullionstreet.com/tag/Burma-gold/10)

    สำหรับธุรกิจทองคำแท่งในพม่าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง เมื่อมีประกาศอย่างเป็นทางการในราวเดือนธันวาคม 2556 โดย Myanmar Gold Development Public Company ว่าจะมีการขายทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐานสากลภาย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ในลักษณะของ coins และ bars ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น เครื่องจักรจากฮ่องกง และเทคนิคการผลิตทองคำจากประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

    ปัจจุบันนี้ ประเทศพม่ามีการขายทองคำบริสุทธิ์ 99.99%และใช้หน่วยกรัม แทนที่จะเป็นหน่วย tical โดยสามารถหาซื้อได้ตั้งแต่ขนาด 2.5 กรัม ถึง 100 กรัม ในราคาเริ่มต้นประมาณ 250,000 kyats หรือ ประมาณ US$ 200 และที่น้ำหนัก 100 กรัม มีราคาประมาณ 4 ล้าน kyats ขึ้นอยู่กับราคาในวันนั้น

    ส่วนราคาทองคำรูปพรรณในตลาดค้าทองคำของประเทศก็มีความไม่แน่นอนสูง ตัวอย่างเช่น ตามรายงานของสำนักข่าว คนเครือไท (www.khonkhurtai.org) ในวันที่ 12 มกราคม 2553 ว่าราคาทองคำในพม่าพุ่ง หลังทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 2 หมื่นจั๊ต หรือประมาณ 690 บาท โดยที่ราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 599,800 จั๊ต หรือประมาณ 20,541 บาท ในขณะที่ราคาทองคำตามประกาศสมาคมค้าทองคำของประเทศไทยในวันเดียวกันมีราคาขายออกบาทละ 18,100 บาท

    ปัจจุบันบริษัทที่สามารถผลิตทองคำแท่ง 99.99% มีหลายบริษัท เช่น National Prosperity Gold Production Group Limited (NPGG), SHWE HTEE, Waminn Group of Companies (WM Gold Refinery) เป็นต้น

    ประเทศพม่าประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์ จนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งชาติพันธุ์ เช่น พม่า ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ยะไข่ จีน มอญ อินเดีย เป็นต้น มีภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ และยังมีภาษาที่ใช้งานกันอีกกว่า 18 ภาษา มีเมืองหลวงใหม่ที่เรียกว่า กรุงเนปยีดอ (Naypyidaw) หรือส่วนมากคนจะคุ้นกันในชื่อ เนปิดอว์ มีระบบการปกครองโดยรัฐบาลทหารภายใต้สภาสันติภาพ และการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council) โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 7 ภูมิภาค (หรือบ้างก็เรียกว่า เขต) คือ เขตตะนาวศรี เขตหงสาวดี เขตมัณฑะเลย์ เขตมาเกว เขตย่างกุ้ง เขตสะกาย และเขตอิรวดี ตามกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และ 7 รัฐ คือ รัฐกะฉิ่น รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน (ไทยใหญ่) รัฐชิน รัฐมอญ และรัฐยะไข่ สำหรับชนกลุ่มน้อย

    ประเทศพม่ามีศาสนสถานทางพุทธศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานอันยาวนานอย่างเช่น พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ที่ก่อสร้างมานานกว่า 2,500 ปี ด้วยความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา มีการหุ้มด้วยแผ่นทองคำโดยพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และพุทธศาสนิกชนชาวพม่ามาหลายยุคหลายสมัย จนมีการกล่าวขานกันว่าทองคำที่โอบหุ้มพระมหาธาตุเจดีย์เชวดากองเป็นน้ำหนักถึง 1,100 กิโลกรัม

    สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ชาวพุทธจะต้องแวะไปสักการะคือ พระธาตุไจก์ ทิโย ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของพระธาตุอินทร์แขวน ที่ต่างชาติเรียกขานกันว่าเป็น Golden Rock Pagoda เพราะอยู่บนก้อนหินสีทองขนาดใหญ่กว่า 600 ตัน ที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ท้าทายแรงดึงดูดของโลก และเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมาร์เองต้องไปสักการะให้ได้ในรอบชีวิตของตน

                         

ทีมบรรณาธิการขอขอบพระคุณ พันตำรวจเอกเขมรินทร์ หัสศิริ รองผู้บังคับการประจำกองการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ที่ให้ข้อมูลและความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อบทความนี้

ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 45 เดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2558