ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สะท้อนทัศนคติเชิงบวกเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.08 จุด สู่ระดับ 59.59 จุด จากเดือนก่อน 55.51 จุด สะท้อนทัศนคติต่อราคาทองคำในประเทศเชิงบวกต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มผู้ลงทุน ทัศนคติเชิงบวกเกิดขึ้นหลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรหลังจากราคาฟื้นตัวน่าจะหนุนให้ราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวขึ้นต่อนอกจากนี้อุปสงค์ตามเทศกาลตรุษจีนและการอ่อนตัวของค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ด้านปัจจัยลบกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มของการแข็งค่า
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อยแต่ยังสะท้อนทัศนคติเชิงบวกต่อราคาทองคำ โดยดัชนีลดลง 9.19 จุดมาอยู่ที่ระดับ 53.24 จุด
จากคำถามว่ากลุ่มตัวอย่างจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้าหรือไม่ พบว่า 39.94% ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า ขณะที่ 37.15% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า และ 22.91% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่
โดยสรุปดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและยังสะท้อนมุมมองเชิงบวกเป็นเดือนที่สองติดต่อกันเนื่องจากค่าดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ หลังทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าการเก็งกำไรในตลาดทองคำจะช่วยหนุนราคาทองคำรวมถึงอุปสงค์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ด้านบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่มีมุมมองราคาทองคำระหว่างเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นเทียบเดือนมกราคม 2559 โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 8 ตัวอย่าง คาดว่าราคาทองคำในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจำนวน 5 ตัวอย่าง คาดว่าจะใกล้เคียงกันเดือนมกราคม 2559 จำนวน 1 ตัวอย่าง และคาดว่าราคาเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงเทียบเดือนมกราคมจำนวน 2 ตัวอย่าง สำหรับราคาทองคำในตลาดโลกกรอบสูงสุดที่กลุ่มตัวอย่างคาดไว้ระหว่าง 1,160-1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ แต่มีความถี่หนาแน่นบริเวณ 1,160-1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดให้น้ำหนักระหว่าง 1,060-1,120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยมีค่าความถี่หนาแน่นอยู่บริเวณ 1,080 – 1,120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดระหว่าง 19,000 – 20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และมีค่าความถี่หนาแน่นในช่วง 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 17,500-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีค่าความถี่หนาแน่นในช่วง 18,000 – 18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือนกุมภาพันธ์ ฉบับเต็มได้ที่นี่