ณ วันที่ 18/05/2558
เมื่อพูดถึงเรื่องของกฎหมาย หลายคนอาจส่ายหน้าหรือเบือนหน้าหนี เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในการดำเนินชีวิตของเราเกือบทุกเรื่องต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ หากเรารู้เรื่องข้อกฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีกฎหมายหลายฉบับเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง “Laws of gold” จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้ท่านที่มีปัญหาสามารถส่งเรื่องราวเข้ามาปรึกษาหรือสอบถามข้อมูล เพื่อจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาหรือการปฏิบัติ
ในฉบับแรกเราคงจะมาคุยในเรื่องที่ทางสมาคมค้าทองคำได้พยายามรณรงค์ และขอความร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา นั่นก็คือการจัดการกับกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำปลอมมาหลอกขายหรือขายฝาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นเชื้อโรคอันร้ายกาจที่คอยบั่นทอนการทำธุรกิจค้าทองคำ และสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจนี้ปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ที่ผ่านมาการจัดการกับคนกลุ่มนี้ยังคงทำให้ได้ไม่เต็มที่มากนัก เพราะร้านค้าผู้เสียหายมักจะยินยอมที่จะยอมความกับกลุ่มมิจฉาชีพ เพียงแค่ว่าไม่อยากเสียเวลา และไม่อยากเป็นคดีความ ซึ่งทางสมาคมฯ ก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินคดีอย่างเต็มที่เช่นกัน
เรามาดูกันว่าขั้นตอนในการดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพที่เราจับกุมได้ต้องทำอะไรบ้าง อันดับแรก ต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่ร้านตั้งอยู่ ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแจ้งความไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน ซึ่งการแจ้งความตาม กฎหมาย คือการไปมอบคดีให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจำเลย จนกว่าคดีจะถึงที่สุด จากนั้นตำรวจจะตั้งข้อหาโดยจะดูพฤติการณ์เป็นหลัก หากเอาทองปลอมมาหลอกขาย จะโดนข้อหาฉ้อโกง ส่วนลงมือกระทำความผิดสำเร็จหรือไม่ก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริงอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในการแจ้งความ เจ้าของร้านต้องจดจำและเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องจดจำรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายให้ได้ หากจับตัวคนร้ายได้ต้องไปยืนยันหลักฐาน ของกลาง และชี้ตัวผู้ต้องหา หากเจ้าของร้านไม่สะดวกไปแจ้งความ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้คนอื่นไปแทนได้โดยมีเอกสารประกอบคือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบค้าของเก่า ว่าเป็นการรับซื้อทอง ส่วนเรื่องของพยานหากเจ้าของไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ควรมอบอำนาจให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ไปดำเนินคดี เพราะท้ายที่สุดในคดีอาญาศาลจะรับฟังประจักษ์พยาน ซึ่งอาจจะเป็นลูกจ้างก็ได้
ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของชั้นพนักงานสอบสวนและสุดท้ายก็คือการพิจารณาของศาล ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ผู้เสียหายสามารถมอบหมายให้ทนายเข้าไปเป็นโจทก์ร่วม เพื่อจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้โดยเจ้าของร้านผู้เสียหาย อาจต้องไปให้ข้อมูลเพิ่มหลังแจ้งความ หากพนักงานสอบสวนต้องการ และไปขึ้นศาลอีกครั้งเพื่อสืบพยาน ซึ่งทั้งหมดเป็นขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมาย
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้เสียหายมักจะไม่ไปแจ้งความดำเนินคดีซึ่งจะส่งผลต่อการเอาผิดของผู้ต้องหา ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าความผิดในคดีฉ้อโกง บทลงโทษไม่หนักมากและผู้ต้องหาสามารถยื่นประกันตัวได้ แต่หากว่าที่ผ่านมาผู้ต้องหามีความผิดติดตัวอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากมีผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดี ก็จะทำให้การพิจารณาลงโทษ จะมีน้ำหนักมากขึ้น และบทลงโทษก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้น การที่ผู้เสียหายได้รวมตัวกันไปแจ้งความอาจจะทำให้บทลงโทษทางกฎหมายเปลี่ยนไปเช่นกัน อย่างเช่น หากคนร้ายไปลงมือหลอกลวงร้านค้าเพียงร้านเดียว ก็อาจมีความผิดเรื่องการหลอกลวง แต่หากมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความหลายคนโทษฐานความผิดอาจจะเพิ่มเป็นอั้งยี่ หรือซ่องโจร ซึ่งจะทำให้ฐานความผิดรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่ผู้เสียหายยอมความกับกลุ่มมิจฉาชีพด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม มันก็เป็นเหมือนปล่อยสัตว์ร้ายกลับเข้าสู่ป่าอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ย่อมจะออกมาทำร้ายผู้เสียหาย หรือไม่ก็ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีก ซึ่งจะเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้น ซึ่งจากการติดตามข้อมูลก็จะพบว่ากลุ่มที่ลงมือปฏิบัติการ จะมีเพียงไม่กี่กลุ่ม และส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเดิมๆ ที่เปลี่ยนสถานที่ลงมือปฏิบัติการ
แต่หากทุกคนร่วมใจกันแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้มีผลติดตัวไปกับผู้ต้องหา ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงกับเรื่องการประกันตัวด้วยคือการใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษ ถ้ายังทำผิดซ้ำๆ เดิมๆ ศาลจะถือว่าไม่หลาบจำ และอาจไม่รอลงอาญา หรือกำหนดโทษที่หนักขึ้นได้ โดยโทษของการฉ้อโกงไม่หนักมาก คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าทำครั้งแรกก็อาจจะได้ประกันตัว แต่หากของกลางมีการละเมิดเครื่องหมายการค้า ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า ซึ่งโทษจะหนักกว่า แต่ผู้เสียหายเป็นคนละคนกันคือกรณีฉ้อโกงผู้เสียหายก็คือร้านทองค้าที่ถูกหลอกขาย แต่หากทองปลอมที่เอามาหลอกขายมีตราเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของตราได้จดเครื่องหมายไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ที่นำมาหลอกขายก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ด้วย ซึ่งมีโทษหนักกว่าคือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี และใช้ศาลทรัพย์สินทางปัญญา เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีแพ่ง
ข้อมูลข้างต้นเป็นรายละเอียดคร่าวๆ ที่อยากจะให้ร้านค้าที่เป็นผู้เสียหายได้รับทราบ และได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อย อาจจะมีมากมายกว่านี้ ซึ่งหากร้านค้าใดต้องการจะปรึกษาข้อกฎหมาย หรือมีข้อสงสัยและต้องการจะสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่สมาคมค้าทองคำ
ที่มา : “Laws of Gold” วารสารทองคำ ฉบับที่ 44 เดือน มีนาคม – เมษายน 2558
ขอบคุณภาพจาก : www.pracharkomnews.com
www2.manager.co.th