ย้อนรอยอดีตอันเรืองรองของธุรกิจค้าทองคำ ผ่านพิพิธภัณฑ์ทองคำฯ “ตั้งโต๊ะกัง”

ณ วันที่ 22/04/2558

 

 

     ธุรกิจการค้าทองคำ อยู่คู่ถนนเยาวราชและประเทศไทยมาเกือบ 2 ศตวรรษ โดยในช่วงแรกเป็นการเอาข้าวของมาแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างพ่อค้าชาวไทยกับชาวต่างชาติ จนกระทั่งได้ใช้เงินเป็นสื่อกลาง แต่ ณ ตอนนั้นคนยังไม่เชื่อในเงินตรา จนกระทั่งมีชาวจีนนำทองเข้ามาเป็นแผ่น สมัยก่อนเค้าเรียกทองใบ จะเป็นการซื้อขายจนถึงการจัดตั้งเป็นร้านค้าอย่างเช่นในปัจจุบัน โดยมีจุดกำเนิดแถวสำเพ็ง และราชวงศ์ ซึ่งในช่วงแรก เยาวราชยังเป็นคลองอยู่ โดยในยุคแรกๆ ร้านทองมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น เซ่งเฮงหลี ตั้งโต๊ะกัง อี่สื่อมุ่ย ซึ่งร่องรอยความรุ่งเรืองของธุรกิจการค้าทองคำในอตีตแทบจะหาชมได้ยาก ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ทางห้างทองตั้งโต๊ะกัง ได้รวบรวมเครื่องไม้เครื่องมือในยุคโบราณมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ไว้ให้คนยุคหลังได้ใช้เป็นที่ศึกษา

     คุณไชยกิจ ตันติกาญจน์ ผู้สืบทอดกิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเป็นรุ่นที่ 4 ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปในการจัดทำ “พิพิธภัณฑ์ทองคำห้างทองตั้งโต๊ะกัง” พร้อมกับพาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยกล่าวว่าห้างทองแห่งนี้มีอายุเกือบๆ 140 ปีแล้ว โดยมี “โต๊ะกัง แซ่ตั้ง” ซึ่งเป็นคุณทวด เป็นผู้ก่อตั้ง โดยในอดีตร้านทองไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ไม่ได้มีทองโชว์หน้าร้านหรือมีสต๊อกทองเก็บไว้ขาย จะมีก็แค่โต๊ะทำงานของช่างทอง ซึ่งจะนั่งทำไปตามที่ลูกค้ามาสั่งทำ ทำเป็นชิ้นๆ งานไป เพิ่งจะมาเริ่มทำเป็นสต๊อกก็ช่วงหลังๆ เมื่อรู้ว่าลูกค้าซื้อลายนี้ประจำ น้ำหนักขนาดนี้ประจำ ก็ทำเผื่อไว้เลย ลูกค้ามาก็ไม่ต้องมานั่งคอยรับของไปได้เลย

     ส่วนตึก 7 ชั้นแห่งนี้ ยังอายุถึง 80 ปี โดยคุณปู่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพราะในตอนนั้นได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑ ก็เลยสร้างตึกใหม่ขึ้นเพื่อจะรับตราตั้งนี้ โดยมีสถาปนิกชาวฮอลันดาออกแบบตัวตึก ซึ่งถือว่าเป็นตึกที่โดดเด่นมากในเยาวราชสมัยนั้น และในปัจจุบันตึกแห่งนี้ยังได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

     คุณไชยกิจ ได้เล่าถึงความเป็นไปเป็นมาของการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ว่า เมื่อเยาวราชมีความเจริญรุ่งเรือง มีการค้าขายในหลากหลายรูปแบบ ตึกแห่งนี้จากเคยใช้เป็นที่อยู่ที่ทำงาน ก็เปลี่ยนเป็นแค่ที่ทำงานเท่านั้น ทำให้บริเวณตั้งแต่ชั้น 4 ขึ้นไปที่เคยเป็นที่พักจึงถูกปิดเอาไว้เฉยๆ แต่ก็มีข้าวของเครื่องไม้เครื่องมือที่บรรพบุรุษสะสมมาเต็มไปหมด จึงทำให้สภาพเริ่มทรุดโทรม ก็เลยอยากจะพัฒนาให้ดูดี

     “ตอนแรกที่เข้าไปปรับปรุงตกแต่งตึกและจัดเก็บข้าวของต่างๆ นั้น ก็ได้มีบรรดาเครื่องมือที่ใช้ทำทองในสมัยก่อนอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย จึงมีความคิดว่า เครื่องมือช่างเหล่านี้ถ้าโยนทิ้งก็คือสูญ ไม่มีค่าอะไรเลย และถ้าชั้น 4-6 ยังถูกปิดร้างก็จะยิ่งโทรม ก็เลยมีความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ทองคำขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ถึงวิธีการทำทองในอดีต ซึ่งใช้ฝีมือล้วนๆ และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็เปิดให้ได้ชมเมื่อประมาณเกือบ 12 ปีมาแล้ว” คุณไชยกิจ กล่าว

     ทั้งนี้ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 6 นั้น ภายในเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทอง เช่น แม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำ ซึ่งทำเป็นบล็อกมีลวดลายต่างๆ เช่น รูปสัตว์นานาชนิด รูปสัญลักษณ์ รูปโลโกต่างๆ เวลาจะทำลวดลายก็นำแผ่นทองคำมาวางบนแม่พิมพ์แล้วใช้แรงกระแทกบนแม่พิมพ์ ก็จะเกิดลายขึ้น

     ตะรางชั่งไม้โบราณที่ไว้ใช้ชั่งน้ำหนักทองก่อนที่จะมีตราชั่งดิจิตอลอย่างสมัยนี้ มีไหน้ำกรดที่ใช้เก็บนำกรดเพื่อใช้ในการสกัดทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งในสมัยนี้ก็เปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกกันหมดแล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีเครื่องมือประเภทปากคีบ คีมหนีบ ค้อน ตะไบ กรรไกร ฯลฯ ที่ใช้สำหรับทำลวดลายของทอง แล้วก็ยังมีเบ้าหลอมทอง แท่นตีทอง และมีเตาต้มทองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำทองให้ชมกันอีกด้วย

     นอกจากนั้นก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างป้ายร้านที่เคยใช้ในอดีต ภาพเก่าๆ ทั้งภาพบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งห้างทองแห่งนี้ และยังมีครุฑสองตัวซึ่งเป็นครุฑตัวแรกๆ ของห้างทองตั้งโต๊ะกัง หลังจากได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑจากรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังมีโต๊ะช่างทองที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาทรงทดลองทำทองเมื่อครั้งที่เสด็จฯ มายังห้างทองตั้งโต๊ะกังอีกด้วย

     และนอกจากจะได้ชมเครื่องไม้เครื่องมือการทำทองแล้ว ก็ยังมีการสาธิตการหลอมทองให้ได้ชมกัน และถ้าโชคดีมาถูกเวลาที่ช่างทองไม่ยุ่งอยู่กับงานมากนัก ก็จะได้ชมการทำงานของช่างทองซึ่งหาชมได้ยากยิ่งนักเป็นการปิดทริปนี้อีกด้วย

ที่มา : เล่าขานตำนานทอง วารสารทองคำฉบับที่ 19 เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2551

ขอบคุณภาพจาก : www.sac.or.th
www.manager.co.th