ณ วันที่ 21/04/2558
ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นการนำเอาชื่อของศิลปะทองคำไปบรรจุไว้ในคำขวัญของพื้นที่ แต่ที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี การผลิตทองคำของที่นี่มีเอกลักษณ์ และได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกแหล่งผลิตทองคำที่มีคุณภาพและงดงาม จนได้รับการบรรจุไว้ในคำขวัญของอำเภอ นั่นก็คือ “เมืองอิฐแกร่ง แหล่งเกษตรกร เขตอุตสาหกรรม คุณธรรมหมอพระ ศิลปะช่างทอง”
การผลิตทองรูปพรรณของช่างทองที่นี่ เป็นการทำทองแบบโบราณ และได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งได้คิดค้นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไว้มากมาย อาทิ ลายลูกฆ้อง ลายฝักแค ลายก้ามปู ลายก้ามกุ้ง ลายพิกุล เป็นต้น ขณะเดียวกันบรรดาลูกหลานที่สืบทอดต่อก็ได้คิดค้นและประดิษฐ์ลวดลายใหม่เพิ่มขึ้นให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเช่น ลายกระดุมทอง ลายประคำโป่ง ลายไข่ปลาทรงเครื่อง
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากศิลปะทองโบราณที่งดงาม และสร้างชื่อเสียงให้กับที่นี่แล้ว ยังมีศิลปะการทำทองอีกแขนงหนึ่งซึ่งสร้างชื่อให้กับที่นี่ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การทำทองจิ๋ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ และเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่ชื่นชอบในการสะสมเครื่องทองจิ๋วเหล่านี้
นายทำนอง รุ่งสีทอง จากร้านรุ่งสีทอง ร้านทองเก่าแก่ในพื้นที่ อ.พานทอง ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า ก่อนที่จะมาทำทองจิ๋ว ก็ได้สืบทอดวิชาการทำทองมาจากคุณพ่อ ที่เป็นชาวจีนได้อพยพมาเป็นลูกจ้างทำทองอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ อ.พานทอง จากนั้นก็ได้เปิดร้านรับจ้างทำทองมาโดยตลอด จนฝีมือเป็นที่ยอมรับ และได้มีร้านค้าทอง รวมถึงประชาชนได้มาจ้างทำทองเป็นจำนวนมาก โดยที่ตัวเองก็ได้ช่วยงานที่บ้านและได้ซึมซับความรู้วิชาการทำทองมาตั้งแต่เด็ก โดยได้เริ่มหัดทำอย่างจริง ๆ จัง ๆ มาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนมาถึงวันนี้ก็ผ่านประสบการณ์มากว่า 60 ปี แต่ในขณะนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะอายุมากขึ้น สายตาไม่ค่อยดี แต่ก็ได้ลูกสาว ลูกชาย มาช่วยงาน โดยตนได้หันมาคุมงาน และคอยถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูก ๆ ช่างทองในร้าน และผู้ที่สนใจแทน
คุณลุงทำนองฯ กล่าวต่อถึงการดำเนินธุรกิจว่า ในช่วงแรกจะเป็นการทำทองตามออเดอร์ ต่อมาก็ได้ต่อยอดมาเป็นทองจิ๋ว เพราะเห็นว่าทองคำมันเป็นแร่ที่สวยงาม เหลืองอร่าม หากได้มาผลิตเป็นของที่ระลึก น่าจะสวยงามและทรงคุณค่า ก็เลยทดลองทำออกมา และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามากเลย จากนั้นเมื่อข่าวสารได้กระจายออกไปก็มีออเดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะให้ทำเป็นตะกร้าบ้าง ปิ่นโตบ้าง รถยนต์โบราณบ้าง แล้วก็งานชิ้นเล็ก ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ
ทองคำจิ๋วของที่นี่เป็นงานแฮนด์เมด ทำทีละชิ้น มีการย่อส่วนมาให้ตรงตามแบบที่สุด โดยจะให้ช่างแต่ละคนเป็นคนลงมือทำงานเป็นชิ้นงานออกมาเลย ไม่มีการประดิษฐ์แต่ละส่วนแล้วนำมาประกอบกัน วิธีการทำทองจิ๋ว เริ่มจากการแกะลายจากสิ่งของที่ลูกค้าเอามาให้ เราดูทุกชิ้น เพราะชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องได้สัดส่วนและเหมือนของจริงที่สุด ทั้งด้านนอกและด้านใน ถ้าเป็นรถ เราก็จะพยายามทำให้เหมือนทั้งซี่ล้อ หรือแม้กระทั่งเบาะภายใน ที่สำคัญ ชิ้นงานของที่นี่จะไม่ใช้การหล่อ หรือปั๊ม ทำจากทองแผ่นเรียบ ๆ นำมารีด ตัด ขึ้นรูป แล้วนำแต่ละชิ้นมาประกอบกัน
คุณลุงทำนองฯ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้จะไม่ใช้เครื่องจักรแต่ก็สามารถทำได้หลายชิ้น ซึ่งการทำทองจิ๋วจะยากตรงชิ้นแรก หากชิ้นแรกทำได้แล้ว ชิ้นต่อ ๆ มาก็จะง่าย เพราะช่างจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ขนาดเท่าไร จะประกอบอย่างไร ซึ่งต้องแกะจากจินตนาการ ถ้าคิดออก ทุกอย่างก็เดินหน้าได้
“งานทำทองจิ๋วที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ การทำรถโบราณจิ๋วถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งตอนนั้นเมื่อช่างเค้ารู้ว่าจะทำถวาย เครียดมาก เพราะกลัวว่าจะออกมาไม่ดี แต่ในที่สุดแล้วก็ทำได้ดี นอกจากนั้นก็จะมีชุดเชี่ยนหมากโบราณ และชุดขันโตก ที่มีลูกค้ามาว่าจ้าง ซึ่งจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่สุด แต่หากเป็นเครื่องทองโบราณ ก็ต้องเป็น “สร้อยฟ้า” ซึ่งมีลูกค้ามาจ้างทำเพื่อถวายแด่หม่อมศรีรัศมิ์ ตรงนี้ถือเป็นงานเด่นของเรา” คุณลุงทำนองฯ กล่าว
ส่วนลูกค้าคนอื่น ๆ ที่มาสั่งทำ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เก็บสะสม หรือนำไปเป็นของชำร่วยในโอกาสต่าง ๆ รวมไปถึงทำเพื่อเป็นของขวัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนายทหารแถวเพชรบุรี เลยปราณบุรีไป มาทำเข็มขัดทอง ทำไปถวายกรมหลวงชุมพรฯ คงจะไปบนบานไว้
คุณลุงทำนองฯ กล่าวว่า จากสภาวการณ์ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจพอสมควร ซึ่งที่ได้รับผลกระทบคงจะหนีไม่พ้นช่างทำทอง และการหันมารับจ้างผลิตทองจิ๋ว ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะตลาดทองจิ๋ว ผมว่ามันก็ยังดีอยู่นะครับ คืองานตรงนี้มันเป็นงานที่แปลก ฉีกแนวออกไป สำหรับคนที่มีเงิน คนที่มีฐานะ เพราะเค้าไม่ค่อยเกี่ยงเรื่องราคา ถ้าสามารถทำในสิ่งที่เค้าต้องการได้
ทั้งนี้ คนที่จะทำทองจิ๋วได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต มีทักษะ ตั้งใจที่จะทำงาน คือใจรักในชิ้นงานประเภทนี้ก็สามารถทำได้ เพราะตลาดยังเปิดกว้างสำหรับคนที่มีความสามารถ ที่สำคัญ ช่างทองส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานจากการใช้น้ำประสานอยู่แล้วจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพียงแต่เพิ่มประสบการณ์อีกนิดก็น่าจะทำได้ หรือไม่ก็พยายามสร้างงานให้ฉีกแนวจากงานเดิม ๆ ออกไป มันก็จะมีงานเข้ามารองรับได้ แต่ไม่ควรใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปในทางที่ผิด
“ผมมีแนวความคิดอย่างนี้ครับ ถ้างานที่มันแปลกจากเดิม ๆ ของเดิม ๆ ลวดลายเดิม ๆ ผมว่าอยู่ได้ อยู่ได้ตรงที่ลวดลายความสวยงาม ความอ่อนช้อยของแต่ละชิ้นงาน ผมว่าอยู่ได้ คนที่ต้องการงานศิลปะสวย ๆ งาม ๆ ยังมีอีกเยอะ คนที่มีอันจะกินโดยที่เค้าไม่ได้คำนึงถึงว่าราคาทองมันอยู่ในระดับนี้นะ ขอให้ถูกใจเท่านั้นเอง บางคนยังบอกว่า นี่ซื้อไปก็ไม่ได้ใส่ ไม่ได้ใช้นะ เอาไปเก็บ ถึงเวลาว่าง ๆ หยิบออกมาจากในตู้มาดู มันมีความสุขแล้วล่ะกับชิ้นงานสวย ๆ ตรงนี้ผมคิดว่าช่างอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ช่างทองต้องมีการพัฒนาฝีมือตัวเอง อย่าอยู่กับที่” คุณลุงทำนองฯ กล่าว
สำหรับอนาคตของการทำทองจิ๋วของที่นี่ ก็พร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับผู้ที่มีใจรัก และมีความสนใจ แม้กระทั่งเด็ก ๆ และเยาวชน ซึ่งวิชาความรู้ในสาขานี้ไม่มีการเขียนเป็นตำรา อยากจะได้ต้องมาเรียนรู้เอาเอง
ที่มา : เล่าขานตำนานทอง วารสารทองคำฉบับที่ 24 เดือนมี.ค. – เม.ย. 53