ณ วันที่ 19/01/2558
ความงดงามที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า คือ พุทธสถาปัตยกรรมอันวิจิตรตระการตาราวเทวานฤมิต ซึ่งเกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในถิ่นถนนเยาวราช ประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เพื่อให้เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ หลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง
พระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ทำให้ประชาชนทั่วไปได้อิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มบุญกันถ้วนหน้า
เพื่อรังสรรค์พระมหามณฑปให้มีความงดงามยิ่งใหญ่ควรคู่กับการเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีมหามงคล การออกแบบพระมหามณฑปจึงเป็นไปอย่างพิถีพิถัน ด้วยการรวบรวมอัจฉริยศิลปินระดับชาติหลากหลายสาขามาร่วมกัน โดยมี น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายออกแบบ สร้างสรรค์พุทธสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าหลังนี้ โดยยึดถือ 3 หลักปรัชญาในการออกแบบ คือ ความศักดิ์สิทธิ์และสง่างาม ด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสง่างาม น่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ครบถ้วนทั้งพุทธศิลป์ สถาปัตยศิลป์ และวิจิตรศิลป์
ความมั่นคงถาวร ด้วยมุ่งหวังให้เป็นภูมิสถาปัตยกรรมใหม่ของย่านเยาวราช และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าสืบไปชั่วลูกหลาน การออกแบบจึงคำนึงถึงอายุการใช้งานของวัสดุเป็นหลัก โครงสร้างของอาคารจึงเป็นคอนกรีต เสริมเหล็ก และคัดสรรวัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องความคงทนถาวร อาทิ หินอ่อน มาใช้ในการก่อสร้าง
ความร่วมสมัย เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย แต่สร้างสรรค์ คำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ใช้สอย และบริบทแวดล้อมเป็นหลัก โดยรวมเอาพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็นเข้าไว้ในอาคารหลังนี้ ได้แก่ นิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช และพื้นที่จอดรถ
ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ พระมหามณฑปเป็นอาคารจัตุรมุขทรงปราสาท ซึ่งโอฬารด้วยขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร โครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตสำเร็จ ผนังภายนอกบุด้วยหินอ่อนไวท์คาร์ราร่า ส่วนประกอบเครื่องยอด เช่น บันแถลง เป็นโลหะหล่อปิดทอง ประดิษฐานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ไว้ที่หน้าบัน ยอดสูงสุดของพระมหามณฑปเป็นฉัตร 7 ชั้น
ภายในพระมหามณฑป มีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นบนสุด เป็นลานประทักษิณสำหรับประกอบศาสนกิจ และประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ ซึ่งย่างก้าวแรกเมื่อเข้าสู่บริเวณนี้ มิได้มีเพียงความยิ่งใหญ่ สง่างาม ตระการตา ที่สายตาได้สัมผัส แต่ภายในจิตใจของเรา ยังได้สัมผัสกับความงามแห่งความสงบ และความปีติอันลึกซึ้งด้วย
เมื่อเดินลงมาสู่ชั้นที่ 3 เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของหลวงพ่อทองคำ บอกเล่าเรื่องราวการหล่อองค์พระด้วยแบบจำลอง รวมทั้งเทคนิคการเททอง ซึ่งแสดงถึงความวิจิตรบรรจงของช่างทองสมัยโบราณ ในชั้นนี้ยังมีห้องฉายหนังที่ตกแต่งภายในอย่างสวยงาม แสดงประวัติพระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ ภายในจะมืดสนิท มีเพียงเรื่องราวบอกเล่าฉายสะท้อนขึ้นมาจากจอ โดยมีเสียงบรรยายภาษาจีน และภาษาอังกฤษ สำหรับผู้เข้าชมชาวต่างชาติด้วย
ชั้นที่ 2 เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของถนนเยาวราช การจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามา ด้วยหุ่นขี้ผึ้งขนาดเสมือนจริง ผูกเป็นเรื่องราวบอกเล่าประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษที่นั่งเรือเดินทางรอนแรมมาอย่างยากลำบาก เริ่มจากการเป็นลูกจ้างแบกหาม รับจ้างทำงาน จนสร้างฐานะเป็นเจ้าสัว ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ทั้งยังจำลองบรรยากาศเหมือนเรือ โดยมีแสง สี เสียง ให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังเดินอยู่ในเรือ ซึ่งเป็นบรรยากาศเหมือนที่คนจีนรุ่นแรก ๆ นั่งมา ให้ผู้ที่เข้าชมเกิดจินตนาการคล้อยตามได้อย่างน่าอัศจรรย์ ห้องถัดมามีการสร้างผังแบบจำลองถนนเยาวราชตลอดทั้งสายอย่างละเอียด
ชั้นที่ 1 จะเป็นเหมือนบทสรุปและการรวบรวมสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นคนจีน เช่น เวที การแสดงงิ้ว ตลาด และผังเมืองจำลองของเยาวราชมาไว้ให้ดู
ท่านที่มีจิตศรัทธาสนใจไปสักการะหลวงพ่อทองคำ เชิญได้ที่ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ของทุกวัน เฉพาะชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 0-2623-3329 โทรสาร 0-2623-1372-3
พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อ ทองคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย และได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Records เมื่อ ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว (ประมาณ 2.50 เมตร) ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว (ประมาณ 3.04 เมตร) น้ำหนักทองคำ 5.5 ตัน และเป็นทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา ซึ่งจัดว่าเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูง ทำให้องค์พระสุกปลั่ง วิจิตรงดงามยิ่งนัก (ความหมายของ “ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา” มาจากมาตราทองคำของไทยโบราณตั้งไว้ ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือ ทองหนัก 1 บาท มีค่า 4 บาท ทองเนื้อเจ็ด คือ ทองหนัก 1 บาท มีค่า 7 บาท เป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ส่วนคำว่า สองขา หมายถึง 2 สลึง)
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
พ.ศ. 2549 ออกแบบฐานรากพระมหามณฑป
มี.ค. 2550 ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหามณฑป
พ.ค. 2550 – เม.ย. 2551 ก่อสร้างพระมหามณฑป
5 ธ.ค. 2550 เคลื่อนย้ายพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรเข้าสู่พระมหามณฑป
ม.ค. – ธ.ค. 2551 ตกแต่งพระมหามณฑป
ธ.ค. 2551 พระมหามณฑปเสร็จสมบูรณ์
25 ธ.ค. 2552 – 1 ม.ค. 2553 สมโภชพระมหามณฑป
ขอบคุณภาพจาก : www.ilovetogo.com/
www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=morkmek&month=07-2011&date=12&group=10&gblog=22
ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 23 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553