ช่างทองเมืองเพชรบุรีศิลปะแห่งนพคุณเมืองทักษิณ

ณ วันที่ 22/12/2557

 

 

  ฝีมือการผลิตทองรูปพรรณของไทย ขึ้นชื่อว่ามีความงดงาม ซึ่งลวดลายต่าง ๆ ได้ถูกสืบทอดมาจากช่างทองสกุลต่าง ๆ ของไทย ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนางานทองคำมาจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งลวดลายแต่ละลาย นอกจากจะเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่งดงามวิจิตรบรรจงแล้ว ยังเป็นเอกลักษณ์ของช่างทองสกุลต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์ในภูมิภาคนั้นได้อย่างชัดเจน โดยสกุลช่างทองของไทยมี 3 สกุลหลัก ประกอบด้วย สกุลช่างทองสุโขทัย สกุลช่างทองเมืองเพชร และสกุลช่างถมนคร ซึ่งเรื่องราวของแต่ละสกุล ก็จะมีจุดเด่นและความน่าสนใจที่ต่างกันไป ซึ่งจะทยอยนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง

      สำหรับในฉบับนี้ขอนำเสนอ ช่างทองสกุลเพชรบุรี หรือช่างทองเมืองเพชร ผู้ผลิตทองรูปพรรณที่มีรูปทรงและลวดลายดัดแปลงมาจากธรรมชาติ และสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ลูกสน เต่าร้าง ดอกพิกุล ดอกมะลิ ปลา เป็นต้น ซึ่งต้นกำเนิดสันนิษฐานว่า สืบทอดฝีมือมาจากช่างทองหลวง หนึ่งในสิบช่างสิบหมู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ ทรงโปรดให้มีการก่อสร้างพระราชวังต่าง ๆ ขึ้นในจังหวัดเพชรบุรี นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี(เขาวัง) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังรามราชนิเวศน์ และก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ด้วยเหตุนี้ทำให้ช่างสิบหมู่ในพระราชสำนักได้มารวมตัวกันอยู่ที่เมืองเพชรบุรี และงานศิลปะชั้นสูงจากวังหลวง จึงหลั่งไหลมาสู่เมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ศิลปะการทำขนมไทย รวมถึงศิลปะการผลิตทองคำ ที่ช่างทองพื้นบ้านเพชรบุรีได้มีโอกาสเป็นลูกมือหรือผู้ช่วยช่างหลวง ส่งผลให้ฝีมือช่างทองพื้นฐานของเพชรบุรีได้รับการพัฒนา จนทำให้เครื่องทองเมืองเพชรกลายเป็นศิลปหัตถกรรมล้ำค่าที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ยากจะหาจากที่ใดเสมอเหมือน เพราะเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผสมผสานความงดงามของธรรมชาติ และประโยชน์ใช้สอยของทองไว้อย่างกลมกลืน

เครื่องทองเมืองเพชรบุรีถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ายิ่งของชาติ และได้ถูกสืบทอดมายังรุ่นต่อรุ่น พร้อมกันนั้นได้มีการพัฒนาลวดลายและรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทองคำสกุลเพชรบุรี ประกอบด้วย

   “ขัดมัน” เป็นชื่อสร้อยคอ มีลักษณะเป็นห่วงกลมเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน โดยช่างจะใช้ตะไบลบเหลี่ยมห่วงของสร้อยตลอดเส้น “สี่เสา หกเสา และแปดเสา” เป็นลวดลายการถักห่วงกลมขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นสร้อยคอและสายสะพายแล่ง สร้อยสี่เสาจะมีขนาดเล็ก สร้อยหกเสามีขนาดปานกลาง ส่วนสร้อยแปดเหลี่ยมจะมีขนาดใหญ่ “สมอเกลียว” เป็นสร้อยที่ทำจากลวดลายทองคำขดเป็นห่วงแล้วเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ปะวะหล่ำ หรือปะวะหล่ำทรงเครื่อง ซึ่งเลียนแบบมาจากโคมจีน

    “ลูกสน” มีลักษณะคล้ายลูกสนทะเล ประกอบด้วยโครงลวดทองขนาดเล็กต่อประกอบกัน “เต่าร้าง” เป็นชื่อเรียกตุ้มหู มีลักษณะคล้ายพวงของผลเต่าร้าง “ลูกไม้ปลายมือหรือเล็บมือ” เป็นทองรูปพรรณประเภทสร้อยข้อมือ ประกอบด้วยทรงกระบอกขนาดเล็กคั่นด้วยทอง ทำเป็นรูปดอกพิกุลหรือเป็นรูปห้าแฉก คล้ายฝ่ามือและฝ่านิ้ว “ดอกพิกุล” เป็นลวดลายทอง นิยมใช้ตกแต่งหรือประกอบทองรูปพรรณลวดลายอื่น “ดอกมะลิ” เป็นทองรูปพรรณมีลักษณะคล้ายดอกมะลิกำลังบาน โดยกลีบดอกมะลิแต่ละดอกจะประดับเพชรซีก ยาวรี ด้วยวิธีการตีขอบ

     “ก้านบัว” กำไลข้อเท้าสำหรับเด็กในสมัยก่อน มีลักษณะเป็นห่วงขนาดใหญ่ กลมเกลี้ยง “บัวสัตตบงกช” เป็นลายทองรูปพรรณ เลียนแบบบัวสัตตบงกช มีชื่อเรียกในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า กระดุม “บัวจงกลและมณฑป” เป็นลวดลายของช่างเขียนลายไทย ซึ่งช่างทองได้นำมาออกแบบเป็นปิ่นปักผม “ประจำยาม” ช่างทองได้ดัดแปลงลายประจำยามมาทำเป็นจี้ มีสองชนิดคือ จี้ตัวผู้กับจี้ตัวเมีย “เสมหรือปลา” เป็นลวดลายที่ช่างทองสมัยโบราณนิยมทำเป็นแผ่นทอง และดุนให้เป็นลวดลายเสมหรือปลา

     “ผีเสื้อ” เป็นทองรูปพรรณที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์จากโครงสร้างของผีเสื้อ “งู พญานาค และมังกร” เป็นลวดลายทอง ซึ่งดัดแปลงจากสัตว์ประเภทงู ช่างนิยมทำเป็นแหวนงูประเภทต่าง ๆ โดยเป็นการแกะสลักผสมผสานการเคาะและดุนลวดลายลงบนแผ่นทองคำ ซึ่งตีขึ้นเป็นรูปกำไล “ตะขาบ” เป็นลวดลายทองรูปพรรณที่เลียนแบบตัวตะขาบ นิยมทำเป็นสร้อยข้อมือ

    “พิรอด” ในสมัยโบราณพิรอดเป็นแหวนซึ่งถักด้วยผ้ายันต์หรือด้ายดิบ นิยมใช้เป็นเครื่องราง ช่างทองได้ดัดแปลงลวดลายมาทำเป็นแหวนพิรอด “ตะไบ” เป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกทั่ว ๆ ไป แต่ช่างทองเมืองเพชรบุรีใช้วิชาการสลักลวดลายสร้างเอกลักษณ์เฉพาะยิ่งขึ้น ด้วยการตะไบทั้งสองข้างของแหวนให้เป็นร่องลึก เป็นที่มาของชื่อแหวนตะไบ

    เมื่องานฝีมือจากช่างทองหลวงได้หลอมรวมกับศิลปะทองคำพื้นบ้าน ก่อให้เกิดสกุลช่างทองเพชรบุรี และเริ่มผลิตทองคำทั้งในรูปแบบของทองรูปพรรณ และภาชนะทองคำต่าง ๆ โดยมีช่างทองคนแรกของเพชรบุรีคือ นายหวน ตาลวันนา ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวไกร ทองสัมฤทธิ์ ผู้เป็นทายาทตระกูลทองสัมฤทธิ์ ระบุว่า นายหวน ผู้เป็นหลานของพระยาตาลวันประเทโศ อดีตเจ้าเมือง เพชรบุรี และได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 มีหน้าที่ดูแลรักษาพระราชวังพระนครคีรี และเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประทับแรม ณ จังหวัดเพชรบุรี ท่านต้องมารับราชการเป็นประจำ

     นอกจากนี้นายหวนยังมีความสามารถในการทำทองรูปพรรณ แกะสลักลวดลายได้ทุกอย่าง แม้แต่สร้อยเพชร ทองรูปพรรณสมัยใหม่ ท่านก็ทำได้ โดยใช้เครื่องมือสมัยโบราณ รวมทั้งท่านเป็นช่างทองที่ซื่อสัตย์ จึงเป็นที่เชื่อถือของคนทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม นายหวน ประกอบอาชีพช่างทองประมาณ 30 ปี ก็ต้องเลิกอาชีพนี้ไป เพราะนัยน์ตาไม่ดีพอที่จะทำทองฝังเพชรพลอยได้ สำหรับการทำทองรูปพรรณในสายนายหวน ไม่ปรากฏมีผู้ใดสืบทอดการทำทองรูปพรรณในตระกูลช่างสายนี้เลย

     อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า สกุลช่างทองเพชรบุรี ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก 4 ตระกูล ซึ่งปรากฏต่อมาภายหลังจากนายหวน เสียชีวิตลง คือ ตระกูลสุวรรณช่าง และตระกูลทองสัมฤทธิ์ ตระกูลชูบดินทร์ และช่างทองร้านซุ่นเซ็ง ช่างทองชาวจีน ที่ไม่ปรากฏว่าเป็นตระกูลใดอีกด้วย ตระกูลช่างทองทั้ง 4 อาศัยอยู่แถบหัวถนนพาณิชย์เจริญ ตั้งแต่บริเวณวัดเกาะ และศาลเจ้าบ้านปืน จนถึงบริเวณตรอกท่าช่อง บ้านเรือนในย่านดังกล่าวมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้2 ชั้น สร้างทอดยาวไปตามถนน

     สำหรับช่างทองตระกูลสุวรรณช่าง ต้นตระกูลของช่างตระกูลนี้ คือนายโช สุวรรณช่าง มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2416-2490 นายโช เรียนวิชาช่างทองจากนายต่าย เทศศิริ ซึ่งเป็นชาวบ้านท่าช่อง ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อฝึกทำทองจนคล่องดีแล้ว จึงรับงานอยู่ที่บ้าน งานที่รับทำได้แก่ สร้อย ปิ่น แหวน และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ลูกค้าสั่งทำ เมื่อนายโชถึงแก่กรรม นางทองคำ (สุวรรณช่าง) เกษนรา จึงรับผิดชอบควบคุมการทำทองเอง มีช่างอื่น ๆ และนายชุ่ม สุวรรณช่าง สืบทอดเป็นรุ่นสุดท้าย

     ส่วนช่างทองตระกูลทองสัมฤทธิ์ ช่างทองสายนี้ เดิมเป็นชาวทองเหลืองข้างวัดป่าแป้น อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยเริ่มจากนายเกษ เกษตรีกร ซึ่งเป็นปู่ทวดของตระกูลทองสัมฤทธิ์ และเป็นต้นตระกูล เกษตรีกร นายเกษเป็นทหารช่างในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่เป็นช่างทหาร ทำเครื่องทองเหลือง ประเภทกระดุมชั้นยศ ยอดหมวก และเครื่องประดับของทหาร เป็นต้น ต่อมาลูกสาวคือนางแก้วได้แต่งงานกับนายจ้อย ถมปัด ซึ่งก็เป็นช่างทองเหลืองเช่นกัน ต่อมาลูกหลานของนายจ้อย และนางแก้วได้อพยพบ้านจากวัดป่าแป้น มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนพาณิชย์เจริญ โดยลูกสาวของนายจ้อยและนางแก้ว คือนางเสงี่ยม ถมปัด ได้แต่งงานกับนายใหม่ ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นช่างเขียนและช่างทอง และปู่ก็เป็นช่างทอง 2 คน คือ นายเทพ และนายผ่าน มีฝีมือในการการทำแหวนงู และสร้อยประจำยาม ที่เป็นที่เลื่องลือ

     ต่อมานายใหม่ และนางเสงี่ยม (ถมปัด) ทองสัมฤทธิ์ ได้หันมาทำทองรูปพรรณที่ถนนพาณิชย์เจริญ และตั้งชื่อร้านว่า ทองสัมฤทธิ์ แต่ปัจจุบันทุกท่านที่กล่าวมาได้ถึงแก่กรรมแล้ว เหลือเพียงลูกศิษย์ซึ่งได้เคยฝึกทำทองกับนางพับ ได้แก่ นางเนื่อง นางฉิว นางปรุง นางหลิน นางเลียบ ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะนางเลียบได้ชื่อว่ามีความประณีตในการทำสร้อยอย่างยิ่ง ส่วนนางเนื่อง และนางฉิว มีความสามารถในการทำทองรูปพรรณทุกแบบ แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าทั้งนางฉิวและนางเลียบยังมีการทำทองหรือมีผู้สืบทอดหรือไม่ รวมทั้งร้านซุ่นเซ็งซึ่งเป็นช่างทองชาวจีน ไม่มีผู้สืบทอดงานช่างทองด้วยเช่นกัน

     ส่วนตระกูล “ชูบดินทร์” ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล “ทองสัมฤทธิ์” ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านงานช่างทองแก่ลูกหลานและศิษย์ไว้หลายคน แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว บางคนก็อายุมากและสุขภาพไม่ดีจึงเลิกทำทอง มีแต่นางเนื่อง แฝงสีคำ (นามสกุลเดิม ชูบดินทร์) อายุ 96 ปี ช่างทองเชื้อสายตระกูล “ชูบดินทร์” เพียงคนเดียวที่ยังคงทำทองอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้นางเนื่อง มีผู้สืบทอดคนเดียว ซึ่งเป็นลูกสาวของนางเนื่อง คือ นางสาวมณฑา แฝงสีคำ

      ทั้งนี้ นางเนื่อง เริ่มฝึกวิชาช่างทำทองรูปพรรณมาตั้งแต่อายุ 17 ปี กับลุงลับ และป้าพับ ชูบดินทร์ เมื่ออายุ 29 ปี ได้สมรสกับนายพร แฝงสีคำ และได้ยึดอาชีพทำทองตลอดมาตราบจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าป้าเนื่องจะมีอายุมากแล้ว แต่ยังคงทำทองอยู่ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด และตั้งใจว่าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าสังขารจะไม่อำนวย โดยใช้กรรมวิธีทำทองรูปพรรณและเครื่องประดับตามแบบโบราณ คือเป็นงาน“ศิลปหัตถกรรม” อย่างแท้จริงตามวิธีแบบโบราณ โดยใช้เครื่องมือทำทอง ได้แก่ ปากคีบ ไม้พัน (พันลวดทอง) เครื่องชักลวด คีม ตาเต็ง ที่เป่า แล่น ไม้หักชั้น ทั่ง ค้อน บ่อทองเหลือง ตะไบเล็ก ตะไบใหญ่ เบ้าหลอมทอง ตะเกียง โต๊ะทำทอง เครื่องเป่าทอง กรรไกร งานของป้าเนื่องจึงยังคงดำรงคุณค่าอันเนื่องมาจาก “ฝีมือ” ที่ไม่อาจมีใครเทียบเคียง แต่ละวันจะมีลูกค้าจากที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาสั่งทำทองอยู่มิได้ว่างเว้น

     นี่คือ แง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่างทองสกุลเพชรบุรี ที่เคยเฟื่องฟู วันนี้หลงเหลือเพียงอดีตที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรีเท่านั้น

                      

                   

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 27 เดือนกันยายน – ตุลาคม พ.ศ.2553