ผลตรวจทองคำแท่งที่โคราชไม่พบสิ่งแปลกปลอม

จากกรณีที่ ร้านทองในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับซื้อทองคำแท่ง 99.99 % ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวน 2 แท่ง เบื้องต้นเจ้าของร้านได้ทำการตรวจสอบด้วยการนำไปพ่นไฟด้วยความร้อนสูง และพบสิ่งแปลกปลอม จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นทองยัดไส้ ก่อนที่จะส่งมาให้สมาคมค้าทองคำ ตรวจพิสูจน์ ด้วยวิธีมาตรฐานสากล

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่าหลังจากที่สมาคมฯ ได้ รับทองแท่งดังกล่าวมา ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจดูเบื้องต้น แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจ จึงได้ส่งให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สวอ. ซึ่งมีเครื่องมือและวิธีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสากล เป็นผู้ตรวจพิสูจน์

กรณีที่เกิดขึ้นทางร้านที่รับซื้อได้ใช้การตรวจสอบด้วยวิธีการเผาไฟ  ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น และอาจจะมีข้อผิดพลาด  จึงทำให้เนื้อทองบางส่วนมีสิ่งแปลกปลอมปะปนมา  แต่เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องการให้เรื่องนี้กระจ่าง  จึงส่งมาให้สมาคมฯ ดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

นายจิตติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหากรณีที่ กลุ่มมิจฉาชีพนำทองปลอม ทองยัดไส้ ทองเปอร์เซ็นต์ต่ำ นำมาหลอกจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ  โดยที่ผ่านมาได้พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับ การตรวจสอบทองคำเบื้องต้น ทั้งวิธีการสังเกตรูปลักษณ์ภายนอก ตรวจสอบน้ำหนัก รวมถึงการตรวจสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ

ดร.พรสวาท วัฒนกูล ผู้อำนวยการ สวอ.  กล่าวว่า

            สืบเนื่องจากกรณีที่มีภาพข่าวมีการนำทองคำแท่งปลอม (รูปที่ 1) ซึ่งตามเนื้อข่าวระบุว่าเป็นทองคำแท่งที่มีการยัดไส้ด้วยวัสดุที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไร มาหลอกขายที่ร้านทองในจังหวัดนครราชสีมา มาเปิดเผยตามสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางในช่วงระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2556 ตามที่ทราบแล้วนั้น สมาคมค้าทองคำได้ประสานงานกับร้านทองเจ้าของทองคำแท่งดังกล่าวเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของการปลอมปน และ ได้นำตัวอย่างทองคำแท่งดังกล่าว (รูปที่ 2) มาตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556

 

รูปที่ 1 (ขอบคุณภาพข่าวจากไทยรัฐออนไลน์) รูปที่ 2

 

            สถาบันได้ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทองคำแท่งดังกล่าวอย่างละเอียดโดยแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ส่วนและมีผลการตรวจสอบดังต่อไปนี้

1. ส่วนของทองคำที่เกิดการหลอมเหลวหลุดออกมาจากการเผาไฟ (รูปที่ 3) ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนโลหะสีเหลืองปนดำ เมื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิคเอ็กซ์-เรย์ฟลูออเรสเซนต์ (X-Ray Fluorescence) และ ไฟร์แอสเซย์ (Fire Assay) ซึ่งเป็นวิธีตามมาตรฐานสากลพบว่าทองคำชิ้นดังกล่าวมีการปนเปื้อนของทองแดง (Cu) 4.93% และ สังกะสี (Zn) 2.26% โดยมีความบริสุทธิ์ของทองคำ 92.80% เท่าน

รูปที่ 3

 

            2. ส่วนของทองคำแท่งที่เหลือทั้งหมด (รูปที่ 4) ซึ่งมีลักษณะเป็นทองคำแท่ง 99.99% ยี่ห้อ Valcambi ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีรูตรงกลางที่เกิดจากการหลอมละลายหลุดออกไป เมื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคเอ็กซ์-เรย์ฟลูออเรสเซนส์ และ เทคนิค ICP-OES ตามมาตรฐานสากลพบว่ามีความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำ 99.99% หลังจากตรวจสอบโครงสร้างภายในด้วยเทคนิค Ultrasonic Testing ก็ไม่พบว่าสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่ในส่วนที่เหลือของทองคำแท่ง และ เมื่อผ่าพิสูจน์ทองคำแท่งชิ้นดังกล่าวออกทั้งตามแนวนอนและแนวขวางก็ไม่พบว่ามีสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่เลย ตามรูปที่ 5

รูปที่ 4 รูปที่ 5

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ได้จัดส่งผลการทดสอบดังกล่าวให้กับทางสมาคมค้าทองคำเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 เพื่อให้ไปหาข้อสรุป สอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของการปนเปื้อนร่วมกับทางตำรวจและคู่กรณีที่เกี่ยวข้องเพื่อยุติคดีความที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การแถลงข่าวในวันนี้

 

ผอ.สวอ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สวอ.มีเครื่องมือที่จะช่วยตรวจสอบ และรับรองเป็นการเฉพาะ และในเรื่องของมาตรฐานการตรวจรับรองของ สวอ. อยู่ในระดับสากล หากผู้ประกอบการ  ต้องการให้ สวอ.ตรวจรับรองโลหะมีค่า ก็สามารถทำได้

 

ตัวอย่างภาพข่าวฯ

http://www.thairath.co.th

http://www.thanonline.com

Counters
ผู้ชม