องค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษา ร่วมมือตั้งศูนย์วิจัยทองคำ หวังเป็นตัวกลางรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์วิจัยเชิงลึก

ณ วันที่ 07/04/2556
องค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษา ร่วมมือตั้งศูนย์วิจัยทองคำ หวังเป็นตัวกลางรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์วิจัยเชิงลึก และสะท้อนมุมมองผู้ประกอบการด้านทองคำ ผู้ลงทุนทองคำ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมทองคำต่อไปในอนาคต พร้อมแถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำครั้งแรก เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเชิงวิชาการสำหรับการศึกษาและการลงทุนต่อไป
 
ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่องค์กรภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ เฉกเช่นเดียวกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่พร้อมให้การสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนในการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและสังคมอย่างแพร่หลาย
 
การจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำ ถือเป็นบทบาทสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมทองคำที่กำลังมีการเติบโตอย่างมากในประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึงพาข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว อีกทั้งจะต้องเป็นข้อมูลเชิงลึกซึ่งมีการวิเคราะห์และวิจัยจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ ศูนย์วิจัยทองคำจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะองค์กรกลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึก พร้อมทั้งวิเคราะห์วิจัย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และนักลงทุน รวมถึงผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าสามารถนำข้อมูลที่ได้จากศูนย์ฯ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนทำให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
 
การจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำ เป็นความร่วมมือขององค์กรภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บริษัทจีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ สมาคมค้าทองคำ และสมาคมเพชรพลอยเงินทอง ซึ่งแต่ละองค์กรมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมทองคำในประเทศให้มีความมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ
 
นายวราวุธ เบญจาพุทธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำว่า ในฐานะตัวแทนซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้กับนักลงทุนเพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับการลงทุนที่ไร้ข้อมูลพื้นฐาน บริษัทฯจึงริเริ่มที่จะจัดตั้งองค์กรเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ และข้อมูลเชิงลึกให้กับนักลงทุนที่ต้องการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน และได้เล็งเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมาคมค้าทองคำ และสมาคมเพชรพลอยเงินทอง เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำ
 
บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของนักลงทุนให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิผลที่ดีและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างคุ้มค่าด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านศูนย์วิจัยทองคำที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมทองคำให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้เช่นเดียวกัน
 
นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวถึงการให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำว่า สมาคมค้าทองมีความตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร และปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ดังนั้นสมาคมฯจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยทองคำขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันข้อมูลของผู้ประกอบการค้าทองคำ ในการนำมาใช้ค้นคว้าวิจัย วิเคราะห์เชิงปริมาณ และคุณภาพ สำหรับเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับวงการค้าทอง และด้านการลงทุนของประเทศต่อไปในอนาคต
 
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนมีนาคม ว่า จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 535 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผู้ลงทุนทองคำ 428 ตัวอย่าง และผู้ค้าทองคำ 107 ตัวอย่าง พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ประจำเดือนมีนาคมอยู่ที่ 44.07 จุด ซึ่งสะท้อนมุมมองในเชิงลบต่อราคาทองคำ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีผลต่อราคาทองคำ ได้แก่ การเก็งกำไร การแข็งค่าของค่าเงินบาทและทิศทางของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
 
หากแยกดัชนีตามกลุ่มตัวอย่างจะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำของกลุ่มนักลงทุน อยู่ที่ 42.52 และ กลุ่มผู้ค้าทองอยู่ที่ 49.47 แสดงว่ากลุ่มนักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อความเชื่อมั่นราคาทองคำมากกว่ากลุ่มผู้ค้าทองคำ จะเห็นได้จากค่าดัชนีฯของกลุ่มผู้ค้าทอง ซึ่งมีค่าใกล้ค่ากลางที่ 50 มากกว่ากลุ่มนักลงทุน โดยค่ากลางมีหมายความว่ากลุ่มตัวอย่างคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้า ทั้งกลุ่มนักลงทุน และกลุ่มผู้ค้าทองคำมีมุมมองเชิงบวกที่ตรงกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ในช่วงสามเดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 75.72 จุด แยกเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนดัชนีอยู่ที่ระดับ 73.29 จุด กลุ่มผู้ค้าอยู่ที่ระดับ 80.48 จุด สะท้อนมุมมองในเชิงบวก หรือเชื่อมั่นว่าราคาทองคำในประเทศจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
 
ดร. ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวถึง หลักเกณฑ์และข้อมูลในการจัดทำความเชื่อมั่นราคาทองคำ ว่า ดัชนีชี้วัดราคาทองคำ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง เช่น กลุ่มผู้ค้าทองคำ ผู้ลงทุนในทองคำทั้งทองแท่งและทองรูปพรรณ กองทุนทองคำ รวมทั้งผู้ที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) โดยสอบถามเรื่องทัศนคติต่อราคาทองคำในช่วง 1 และ 3 เดือนข้างหน้า และถ่วงน้ำหนักด้วยวิธีทางสถิติ นอกจากนี้ ยังระบุให้กลุ่มตัวอย่างกำหนดปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ เพื่อสะท้อนมุมมองของกลุ่มตัวอย่าง ให้ทราบถึงปัจจัยที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด โดยจะมีการนำเสนอในรูปแบบของรายงานผลเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งกระบวนการวิจัยนี้ผ่านการพิจารณาถึงความครอบคลุมและความเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของราคาทองคำในช่วงเวลาที่กำหนด
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ จะจัดทำเป็นประจำทุกเดือน โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน website ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมาคมค้าทองคำ สมาคมเพชรพลอยเงินทอง บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด หอการค้าจังหวัดทุกแห่ง และพันธมิตร สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับผลการวิจัยได้ที่ 02-673-9911 ต่อ 650 หรือ kamoltun@gtwm.co.th
 
ที่มา : newswit.com