ณ วันที่ 20/02/2556
ประชาคมอาเซียน ผลกระทบต่อธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย ตอนที่ 2
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับประชาคมอาเซียนจากบทความในเล่มที่ผ่านมากันแล้ว มาในฉบับนี้ เราจะมาดูถึงผลกระทบทางบวก หรือผลดีต่อประเทศไทยว่า จะมีอะไรบ้าง และเราควรจะใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อช่วงชิง ความได้เปรียบกับโอกาสที่เข้ามา
ประการแรก ก็คือ จะมีตลาดสินค้าและบริการที่ใหญ่ขึ้น นักธุรกิจไทยจะมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านคน เพราะทั้ง 10 ประเทศนี้ต่างก็มีจำนวนมหาศาลพอสมควร โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 220 ล้านคน บวกกับ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 87 ล้านคน เวียดนาม 84 ล้านคน ไทยอีกประมาณ 63 ล้านคน นับว่าจะการเพิ่มโอกาสทางการค้าเนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่โตขึ้น และจะเอื้อให้ การผลิตในลักษณะที่ผลิตมากขึ้นต้นทุนต่ำลงย่อมมีโอกาสมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้แต่ละประเทศก็ต้องออกแรง ขยันหาตลาดและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการหาลูกค้าเช่นกัน
กลยุทธ์ในด้านการตลาดการหาลูกค้าจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศ ย่อมนำกลยุทธ์ที่เขาเคยประสบความสำเร็จหรือเหนือกว่าเราออกมาใช้ และจะมีการนำวัฒนธรรมในการบริโภค สินค้าเข้ามาให้นักการตลาดของเราได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคสินค้า และบริการ ตลอดจนลูกเล่นทางการค้าของเขา รวมทั้งความเชื่อต่างๆ การปรับตัวของธุรกิจภายในประเทศ จะต้องทันต่อเหตุการณ์และสภาพของตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครปรับตัวหรือมีการเตรียมการที่ดี ย่อมได้ผลใน ทางบวก แต่ในทางตรงกันข้ามหากพ่อค้าของเราปรับตัวช้า จะสูญเสียโอกาสและอาจจะสูญเสียฐานของลูกค้าเดิม ไปด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง ประเทศไทยจะได้อานิสงส์ ในการที่จะกลายมาเป็นเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน เงินลงทุน จากต่างประเทศได้มากขึ้นเพราะต่อไปนี้การขยายการลงทุนจากต่างประเทศมาไทยจะกระทำได้ง่ายขึ้น หากเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ และประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ หลายประการ โดยเฉพาะทัศนคติ ของคนไทยที่มีต่อนักลงทุนชาวต่างชาตินั้นดีมาก แม้ว่าบางครั้งการลงทุนของต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน การจ้างงาน หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยประเทศไทยเลย แต่คนไทยก็ไม่เคย รังเกียจนักลงทุนเหล่านี้ เหมือนดังประเทศอื่น อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุน ประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่า เปิดโอกาสมากกว่าหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ แม้กระทั่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือพม่า เป็นต้น
กลยุทธ์ในด้านการลงทุนและการเงิน ของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทันการเข้ามาของต่างชาติ การเปิดเสรีมากเกินไปนอกจากจะทำให้ฐานะของประเทศไทยเกิดความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ไทยจะไม่สามารถหา ประโยชน์ได้มากเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เปิดเสรีในด้านนี้ กฎหมายหรือกฏเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐด้านการลงทุน และการเงินจะต้องรื้อปรับระบบกันใหม่ในขณะนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศได้รับผลดีอย่างเต็มที่ และต้องหามาตรการ ในการลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนและการเงิน ทุกรูปแบบ แต่มิใช่เป็นการสกัดกั้นอย่างมีอคติต่อนักลงทุน ชาวต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้รวมทั้งกฎหมายที่ว่าด้วยการถือครองอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดินเป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว วันข้างหน้าคนไทยจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ธุรกิจก็เป็นธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจท้องถิ่น ที่มีมาแต่ช้านานสูญหายไปหมด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
ประการที่สามการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถทำให้ประเทศไทยมีอำนาจในการเจรจา ต่อรองต่อเวทีโลกได้มากขึ้น เพราะต่อไปนี้จะมีฐานประชาคมอาเซียนสนับสนุนอยู่ และไม่ใช่ไปแบบโดดเดี่ยว เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสามารถทำให้ประเทศคู่ค้าต้องรับฟังมากขึ้น เพราะดีไม่ดีอาจจะไปกระทบกับประชาคมอาเซียน ไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมประเทศหนึ่ง
กลยุทธ์ที่จะช่วยได้อาจเป็นไปในรูปการสร้างและการขยายเครือข่ายโดยมีพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอาเซียนเพื่อจะเป็นฐานหรือตัวช่วยในการเจรจาต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้โดยอยู่บนพื้นฐานของความไว้ วางใจซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและภายใต้ความเป็นธรรมและเสมอภาค รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิค ในการเจรจาต่อรองในรูปแบบต่างๆทีสอดคล้องต่อประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ประการที่สี่ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้นักธุรกิจไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการค้า มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นจากเดิมเพื่อการรองรับการแข่งขัน และสามารถนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆที่พร้อมจะออกไปเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เทคนิค ด้านต่างๆของประเทศในกลุ่มนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การผลิต การตลาด การขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดการ การเจรจาต่อรอง การเงิน การท่องเที่ยว การเดินอากาศ และอื่นๆ
กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ก็คือเราต้องหาเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดำรงความเหนือกว่าให้ได้ การลงทุนพัฒนาและการวิจัยในด้านเทคโนโลยีของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหนทางในการอยู่รอดและสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ภาครัฐต้องเห็นความ สำคัญของการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิตและการบริการและต้องมาช่วยภาคเอกชนในทุกวิถีทาง เพราะหาก ปล่อยให้ภาคเอกชนกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากขาดงบประมาณ และความร่วมมือของหน่วยงานราชการ การสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญในการ สร้างความแตกต่างและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในวันข้างหน้าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ประการที่ห้า จะมีผลต่อการจ้างแรงงานเพราะสามารถเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ที่ให้ค่าจ้างแรงงานที่สูง กว่าเดิม รวมทั้งการออกไปหารายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนสถานประกอบการ สามารถที่จะสร้างรายได้ของสถานประกอบการให้มากขึ้นจากการขยายตลาดและการเพิ่มปริมาณลูกค้ามากขึ้น และในที่สุดก็จะมีผลต่อรายได้ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยดีขึ้นรวมทั้งการได้รับสินค้าและการบริการที่ดีขึ้นหรือมีตัวเลือกและทางเลือกมากขึ้นจากเดิม
กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือการเพิ่มทักษะในด้านภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศนอกเหนือจาก ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนการสอนด้านภาษามาเลย์ ภาษาเวียตนาม ภาษาเขมร ลาว และภาษาพม่าให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในประเด็นนี้ผู้เขียนได้ทราบว่าประเทศ มาเลย์เซีย ได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะ ดังนั้นภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม สายวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาก็น่าที่จะมี การปรับตัวเตรียมการกันได้แล้ว เพราะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องของการใช้เวลา และการฝึกหัดที่ต้องกินเวลา พอสมควรเพื่อให้ได้ผลดี ในส่วนการศึกษาของภาคเอกชน โดยเฉพาะสถานศึกษาภาคเอกชนก็ควรปรับปรุง หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมการผลิตนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความพร้อมในด้านนี้ออกไปเช่นกัน
ประการที่หก เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เท่ากับว่าต่อไปนี้จะมีการปรับปรุง แรงงานฝีมือในสาขาวิชาชีพต่างๆ (7 วิชาชีพ)ให้เท่าเทียมนานาประเทศ สาขาวิชาชีพเหล่านี้ได้แก่ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปนิก เพราะสาขาวิชาชีพเหล่านี้ เป็นสาขา วิชาชีพหน้าด่านของไทยที่มีความพร้อมสูง มีสมาคมและการรวมตัวที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ และเป็น สมาคมที่ประชาคมอาเซียนได้ยกมาเป็นกลุ่มแรกของไทย ที่จะมีการวางกฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หากจะมีคน ในประเทศสมาชิกเข้ามาทำงานในกลุ่มวิชาชีพทั้งเจ็ดนี้ในไทย แต่ในทางกลับกัน หากคนไทยที่ทำงานในกลุ่ม วิชาชีพเหล่านี้ยังไม่พร้อมในการปรับตัว ปัญหาก็จะตกมาสู่พวกเขาเช่นกัน ในประเด็นนี้ข้อสรุปก็คือ การเปิดให้ ผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณสมบัติตามที่ คณะกรรมการประสานงานวิชาชีพสาขาต่างๆทั้ง 7 สาขา และหน่วยงานที่ กำกับดูแลวิชาชีพหรือองค์การระดับประเทศสมาชิกต่างๆ หรือ สภาวิชาชีพ หรือกระทรวง/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ของประเทศสมาชิก ขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพ ในประเทศอาเซียนได้ โดยต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบภายในประเทศนั้นๆ ในทำนองกลับกันหากคนไทย ที่ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ก็สามารถที่จะไปทำงานยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทย หรือแรงงานไทยก็จะมีโอกาสออกไปลงทุนหรือทำงานในต่างประเทศมากขึ้น และได้รับค่าตอบแทนที่สูงจากเดิม
กลยุทธ์ที่ควรนำมาพิจารณาในประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ความรู้ในด้านภาษาของคน ในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสื่อสารได้หลายภาษามากขึ้นจากแต่เดิม รวมทั้ง เทคนิคและวิธีการใหม่ๆในการประกอบอาชีพในด้านนั้นๆ ที่จะต้องนำมาเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้มากขึ้นจากเดิม รวมทั้งกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หาหนทางจูงใจให้คนดีและคนเก่งอยู่ในองค์การของเราให้นานที่สุด ศาสตร์ในด้านการรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าไว้ในองค์การ ควรจะถูกหยิบยกมาพิจารณา และให้ความ สำคัญมากขึ้น มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์สมองไหลไปสู่องค์การของต่างชาติทั้งในและนอกประเทศไทยกันหมด
ประการที่เจ็ด ประเทศไทยสามารถอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคเศรษฐกิจหรือ AEC นี้เข้าไป เสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านการเมือง การปกครองการป้องกันประเทศให้ดีขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และลดข้อขัดแย้งต่างๆกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่นๆ โดยผ่าน ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเป็นหัวหอกเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตและจะช่วยให้ด้านอื่นๆมีสัมพันธภาพอันดีตามมาในที่สุด
กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้และการปรับตัวโดยอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการ วัฒนธรรมข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า Cross Cultural Management มาเป็นหลักเพื่อให้เกิดการผนึกความร่วมมือร่วมใจ ปรองดองกันระหว่างคนไทย และประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งทางด้าน สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ประการที่แปด ประเทศไทยสามารถหาวัตถุดิบ และทรัพยากรทางธรรมชาติจากแหล่งที่มีความอุดม สมบูรณ์แทนการทำลายทรัพยากรภายในประเทศ เรียกได้ว่าไปหามาจากที่อื่นแทนการร่อยหรอของทรัพยากร ภายในประเทศไทย ทำให้ไทยมีแหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากนานาประเทศมากขึ้น และอาจช่วยในการดำเนินธุรกิจ ที่ลดต้นทุนในการผลิตและการดำเนินการลงได้
ในประเด็นนี้ การดำเนินกลยุทธ์อะไรก็ตามเหล่านี้ จะต้องดำเนินด้วยความรอบคอบและอยู่ภายใต้ ความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน มิฉะนั้น ประเทศไทยจะได้ชื่อว่ามีแต่นักธุรกิจที่ไปทำลายทรัพยากร ของประเทศเขาหรือไปกอบโกยผลประโยชน์จากบ้านเขามา
ประการที่เก้า ประเทศไทยสามารถเกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว กฎหมาย การลงทุน การเงิน รวมทั้งการเรียนรู้ทางการเมือง สภาพสังคม และวัฒนธรรม เทคโนโลยีจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ ไทยในขณะนี้คือ การเรียนรู้เรื่องการศึกษา การจัดการธุรกิจ การป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้ง กลยุทธ์ กลวิธี ทางการค้า และ Business Model ซึ่งในที่นี้หมายถึง วิธีการหาเงินของประเทศต่างๆว่าเขาได้มาด้วยวิธีใด และนักธุรกิจ ครูอาจารย์ด้านธุรกิจศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำมาพัฒนาให้ดีขึ้น และช่วยให้คุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีขึ้นในวันข้างหน้า
กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการฝึกที่จะเป็นผู้เรียน หรือนักเรียนที่ดีที่คอยสังเกต จดจำ บันทึก ปรับปรุง ทดสอบ รวมทั้งเป็นนักฟังที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของเรา ให้ดีขึ้นไปจากเดิม
ประการที่สิบ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เป็นแรงผลักดัน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์การ หรืออุตสาหกรรมต่างๆต้องรีบปรับตัว ปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ทันต่อวิถีทางการทำงาน ของคน องค์การ หรืออุตสาหกรรมของประเทศต่างๆในประชาคมอาเซียน อาทิ ครูอาจารย์ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ สถาปนิก ต้องมีความรู้มากขึ้นจากเดิม ต้องหาความรู้ที่จะมาปิดจุดอ่อนของเรา ที่ยังด้อยชาติอื่นๆ อาทิความรู้ด้านภาษาอังกฤษมาเพิ่มเติม ความรู้เดิมๆคงไม่สามารถเอามาใช้เพื่อการแข่งขัน ได้เหมือนเดิม แต่จะต้องขวนขวายหารูปแบบ และวิธีการใหม่ๆมาใช้ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นโอกาสในการพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไของค์ความรู้ด้าน เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การค้าการลงทุน การแพทย์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ให้ทันสมัยและมีความพร้อมมากขึ้นจากเดิม เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทยในวันข้างหน้า
ประการที่สิบเอ็ด นับเป็นโอกาสของบางสาขาวิชาชีพที่จะไปทำงานในกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียน ได้ง่ายขึ้น และนี่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการขจัดความยากจนของแรงงานไทยภายในประเทศบางคน เนื่องจาก เขาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างแดน
ดังนั้นกลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คือ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้วันเวลาผ่านไปพยายามสะสมความรู้ ประสบการณ์และทักษะมาเพิ่มเติมให้เกิดคุณค่าในตัวตนให้มากขึ้น การเข้ารับการฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้อง กับการเพิ่มขีดความสามารถหรือสมรรถนะของตนจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำงานและการสร้างรายได้ให้ได้มากขึ้น
ประการที่สิบสอง จากประโยชน์ที่ประเทศไทยจะปรับฐานภาษีให้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแข่งขันนั้น จะเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกของไทยของไทยให้มากขึ้นจากเดิม อันจะทำให้เป็น การหาเงินตราต่างประเทศเข้าไทยได้มากขึ้น ช่วยในการพัฒนาประเทศโดยรวม
ในประเด็นสุดท้ายนี้ กลยุทธ์ในด้านการหารายได้มาชดเชยส่วนที่ปรับลดลงไปจากน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐ จะต้องค้นหาวิธีการ เพราะจากการปรับฐานภาษีให้ลดลงมาจากประมาณ 30% ลงมาให้เหลือ 23% ในปี 2555 และจะให้เหลือ 20% ในปี 2556 และ 2557 นั้นรัฐต้องสูญเสียภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศมากพอสมควร หากไม่คิดหาหนทางที่จะหารายได้มาชดเชยส่วนนี้ รัฐจะลำบากในวันข้างหน้าในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนเพื่อสาธารณประโยชน์และระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้เงินภาษีมาจุนเจือ
หลังจากที่เรารู้ข้อได้เปรียบจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ไปแล้ว ในฉบับ หน้า เราจะมาดูกันว่าผลเสียท่ีจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้างและเราควรจะเตรียมพร้อมในการับมืออย่างไร
โดย รศ.ดร.จุฑา เทียนไทย
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง