ณ วันที่ 04/02/2556
ประชาคมอาเซียน ผลกระทบต่อธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย ตอนที่ 1
ความเป็นมาของประชาคมอาเซียนและแนวโน้มในอนาคต
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ก่อนที่จะมีการกล่าวขานกันเรียกว่ากลุ่มประชาคมอาเซียนนั้น เดิมทีได้มีการรวมตัวของกลุ่มประเทศเหล่านี้ภายใต้ชื่อเรียกอื่นว่าสมาคมอาเซียนกันมาก่อน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ประเทศทั้ง 10 ประเทศในปัจจุบัน ทั้งนี้เดิมทีการดำเนินการจัดตั้งสมาคมอาเซียนนั้นจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ซึ่งในระยะเริ่มแรกนั้น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อีก 4 ประเทศ เป็นแกนนำรวมทั้งหมด เป็น 5 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย ไทย สิงค์โปร์ อินโดนีเซียมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่อมามีประเทศบรูไน เวียตนาม ลาว พม่า และกัมพูชาได้เข้ามาร่วมสมทบรวมเป็น 10 ประเทศ ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้ คาดว่าอาจจะมีประเทศอื่นๆอีก 3 ประเทศ หรืออีก 6 ประเทศเข้ามาร่วมด้วย ประเทศเหล่านี้ประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดังที่เรียกขานกันในนาม กลุ่ม ASEAN +3 หรือ ASEAN + 6 กันตามลำดับ และเมื่อเป็นเช่นนั้นในอนาคต ประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มประชาคมที่มีประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือประมาณ 3,284 ล้านคนและทำให้เป็นการรวมกลุ่มที่มี สภาพเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่โตมากกว่าการรวมกลุ่มของภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ดังที่มีผู้รู้หลายท่านได้กล่าวว่าจะเท่ากับประมาณ 22% ของ GDP ของโลกทีเดียว
ในระยะแรกของการเป็นสมาคมอาเซียน ผู้นำในประเทศเหล่านี้ก็ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในด้านต่างๆ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2546 ได้มีการเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่กลุ่มประเทศทั้ง 10 นี้ น่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับการการรวมกลุ่มในภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ฯลฯ ดังนั้นผู้นำของแต่ละประเทศจึงตกลงใจลงนามในปฎิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน หรือ“ข้อตกลงบาหลี” ให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ขึ้นและมีเป้าหมายที่อยากจะให้สำเร็จเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกัน ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2563 หรือปี ค.ศ. 2020 ซึ่งนับเป็นกำหนดเวลาเดิม
ต่อมา ในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 12 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เหล่าผู้นำในชาติต่างๆ ได้เล็งเห็นว่าหากการรวมตัวกันตามกำหนดเดิมอาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรโดยเฉพาะความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างกันและกันในด้านต่างๆ จึงตกลงร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันซีกโลกต่างๆ กำลังมีสภาพมีการแข่งขันที่รุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ หากล่าช้าไป การรวมกลุ่มจะได้รับผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่น้อยลงและประกอบกับในปัจจุบันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของบางประเทศสูงมาก เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งประชาคมอาเซียนซึ่งอยู่ใกล้ชิดสามารถที่จะแสวงหาประโยชน์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้ทันเหตุการณ์ ดังนั้นผู้นำทั้ง 10 ประเทศจึงตกลงให้ร่นเวลาให้แล้วเสร็จในปี 2558 หรือ ค.ศ. 2015 และเพื่อที่จะให้การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนเป็นจริง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ อำเภอชะอำ และหัวหิน เมื่อ 1 มีนาคม 2552 ผู้นำทั้ง 10 ประเทศจึงได้ลงนามรับรองปฎิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 อีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะให้เป็นข้อตกลงและเป็นข้อกำหนดให้แต่ละประเทศรับไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 580 ล้านคน ซึ่งนับว่าจะเป็นกลุ่มประชาคมที่มีขนาดใหญ่พอสมควร และมีความสำคัญทางการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการร่วมมือเสริมสร้างความมั่นคงและความร่วมมือช่วยเหลือกันทางสังคมวัฒนธรรม ที่พึงพาซึ่งกันและกันในอนาคต
องค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียน
ในประเทศไทย เรามักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความสำคัญ มีผลกระทบในด้านต่างๆกันมาพอสมควร จนทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวกันว่าการจัดตั้งประชาคมอาเซียนจะมีแต่ด้านเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจเป็นแกนนำแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ แต่อันที่จริงแล้วองค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปี ( พ.ศ.2558) นั้น จะประกอบไปด้วยแกนหลักๆ 3 ด้านด้วยกัน ซึ่งจะเรียกว่า 3 เสาหลักก็ว่าได้ และองค์ประกอบหลักๆ ทั้ง 3 ทั้งสามส่วนนี้ ประกอบไปด้วยด้วย 1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community –(APSC) 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – (AEC) และ 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC))
พันธกิจและเป้าหมายของแต่ละด้าน
พันธกิจสำคัญของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community (APSC)) นั้น จะเกี่ยวข้องกับ การมุ่งให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ การจัดให้มีระบบการจัดการการขัดแย้งระหว่างกันและกัน การส่งเสริมให้มีเสถียรภาพด้านการเมืองและความมั่นคง และการมีกรอบความร่วมมือเพื่อรองรับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาคมมีความปลอดภัยและมั่นคง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)นั้นมีเป้าหมายที่จะมุ่งให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้เกิดความมั่งคั่ง ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ และเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศอาเซียน รวมทั้งมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของ สินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจน และความเลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 เรียกได้ว่าเน้นหนักไปในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างของการพัฒนา และช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ประการสุดท้ายส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงินและตลาดทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การพัฒนาความร่วมมือทางด้านกฎหมาย การเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานให้พัฒนาขึ้น
ส่วนองค์ประกอบของประชาคมอาเซียนองค์สุดท้าย ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC)) นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนของแต่ละประเทศอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีและมีความมั่นคงทางสังคม ยกคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสหรือไร้โอกาส ขจัดความยากจนส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มีมาตรฐาน คุณภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันลดความเสี่ยงทางสังคมของ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ ให้การดูแลด้านสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ ส่งเสริมให้สตรีและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ด้วยการฝึกทักษะ ให้ความรู้ รวมทั้งทั้งการเข้าถึงสินเชื่อขนาดย่อม และระบบข้อมูลได้ง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ป้องกันอันตรายจากการแพร่กระจายของโรคร้ายแรง เช่น โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดนก วัณโรค เป็นต้น ป้องกันปัญหายาเสพติด และพยายามทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากภัยคุกคามเหล่านี้
ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันในประเทศไทยว่า ประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 นั้นจะมีความสำคัญ และมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนในด้านต่างๆ กันมากพอสมควร โดยเฉพาะที่มีการเน้นย้ำกันเป็นพิเศษ เห็นจะได้แก่ด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community – AEC และสิ่งนี้ทำให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจในประเทศไทยต่างหวั่นไหวไปกันตามๆ แม้ว่าอันที่จริงแล้ว องค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปีนั้น จะประกอบไปด้วยแกนหลักๆ 3 ด้านด้วยกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ดูเหมือนคนจะลืมอีกสองเสาหลักไปอย่างสิ้นเชิง
แต่เมื่อมีผู้กล่าวขวัญกันอยู่เสมอโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งในสามเสากันมามาก ผู้เขียนใคร่ขอแสดงข้อคิดเห็นบทวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านนี้เสียเลย ทั้งในด้านบวกและด้านลบที่จะมีต่อประเทศไทย เพื่อความกระจ่างว่าผลกระ-ทบที่อาจเกิดขึ้น จะมีสิ่งใดบ้างที่ประเทศไทยจะได้รับผลดีและผลเสียในวันข้างหน้า
โดย รศ.ดร. จุฑาเทียนไทย
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง