รู้จักความหวังของ ยูโรโซน (ESM)

ณ วันที่ 08/11/2555

 

       สวัสดีท่านสมาชิกทุกท่านครับ พบกันเป็นประจำกับจุลสารของสมาคมค้าทองคำ  สำหรับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งเดือน ที่ราคาทองคำมีความผันผวนโดยสามารถปรับขึ้นใกล้ระดับ  US$1,790  อีกครั้งแม้จะมีการอ่อนตัวลงบ้าง  แต่ก็ถือว่าโดยรวมนั้น ตลาดทองคำ ค่อนข้างสดใสในเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำก็คงหนีไม่พ้นมาตรการ  QE3 ที่รอคอยกัน   ขณะที่ประเด็นยุโรป    ที่อยู่คู่กับตลาดทองคำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีเรื่องราวให้ต้องจับตาอีกครั้ง กรีซซึ่งเป็นประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้สินต่อเนื่องถึงสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่หลายสำนักบอกว่าน่าหนักใจขนานแท้  โดยปัญหาหนี้ยุโรปในช่วง 2 ปีมานี้ บางช่วงบางจังหวะก็กระทบในเชิงบวก บางช่วงก็กลับมาเป็นปัจจัยเชิงลบ ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนส่วนใหญ่มองผลกระทบในเชิงใด ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอลงประเด็นยุโรปให้มากขึ้น ทั้งตัวกลไก ที่ถือเป็นความหวัง และสเปนที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤติครั้งนี้ รวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เชื่อว่าจะมีบทบาทกับราคาทองคำมากขึ้น
 
 
 
รู้จักความหวังของยูโรโซน (ESM) 
หลังจากความชัดเจนในมาตรการ QE3 ซึ่งถือเป็นความหวังของนักลงทุนในตลาดผ่านพ้นไป  ประเด็นที่มีการจับตาต่อมา คือ ยุโรป ที่ถือเป็นประเด็นติดตาม  สเปนถือเป็นตัวแปรสำคัญ  โดยมีกลไกที่ถือเป็นความหวังคือการทำงานของ  ECB  และอีกหนึ่งความหวังคือกลไก ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรปหรือที่รู้จักกันในนามของ ESM ซึ่งล่าสุดเพิ่งมีข่าวดีกันไป  ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ได้ตัดสินให้การจัดตั้งกองทุนที่รัฐบาลเยอรมนีเอาเงินภาษีของประเทศไปอุดหนุนไม่ผิดต่อกฏหมาย และทำให้การจัดตั้งกองทุนสามารถเดินหน้า ต่อไปได้ ทำให้แนวทางการแก้ไขดูจะมีความหวังมากขึ้น แต่กลไกดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่อันนี้คงต้องดูยาว ๆ ครับ เนื่องจาก ถ้าเราคาดว่าสเปนและอิตาลีจะเป็น 2 ประเทศต่อไป ที่อาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือหรือแม้แต่สเปนประเทศเดียว ขนาดกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ (เมื่อเทียบกับปริมาณหนี้) โดยในวันนี้ ผมขอที่จะขยายความเพิ่มเติมก่อนที่จะรอผลที่เกิดขึ้นจริงอีกครั้ง
 
       การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (EFSF) และกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน (ESM) ก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็น กลไกในการช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนี้  ด้วยเหตุที่ว่ายุโรปขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากพอในการแก้ไขปัญหาหนี้  โดยปกติแล้ว เวลาที่ประเทศประสบปัญหาหนี้ภาครัฐ เครื่องมือที่ใช้กันคือการปรับลดค่าเงิน แต่เนื่องจากยูโรโซนใช้สกุลเงินเดียวกัน คือ สกุลเงินยูโรจึงไม่สามารถ ที่จะปรับลดค่าเงินตัวเองลงได้ สิ่งที่ทำคือการ “Refinance” หรือกู้ใหม่นั่นเอง โดยการกู้ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะชำระหนี้เดิมคืน และส่วนหนึ่งก็มาชดเชยส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ (ประเทศในยุโรปใช้งบประมาณขาดดุลมาอย่างยาวนาน) แต่เนื่องจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืม เงินใหม่สูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ไม่สามารถรับต่อภาระดอกเบี้ยในตลาดได้ในที่สุด การเกิดปัญหาขาดแคลนเงินในการบริหารประเทศรวมถึงความเสี่ยง ในการชำระหนี้คืนจึงเกิดขึ้น และก็วนเช่นนี้เสมือนงูกินหาง EFSF – ESM เข้ามามีบทบาทนี้นี่เอง คือ การให้เงินช่วยเหลือกับประเทศ ที่ประสบปัญหา ในการระดมเงินเพื่อทำให้ประเทศเหล่านั้นยังสามารถชำระหนี้และเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งถ้ามองโลกในแง่บวกมาก ๆ คือ เมื่อมีเงินทุน ระยะสั้นเข้ามา เริ่มมีการตัดลดรายจ่ายจนการขาดดุลการคลังอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ จนที่สุดเมื่อความเชื่อมั่นกลับมาประเทศเหล่านี้สามารถ กู้ยืมเงินได้เองผ่านตลาด เมื่อถึงจุดนั้นปัญหาก็จะสามารถคลี่คลายไปได้เอง แต่ถ้ามองในด้านตรงข้าม ถ้าการให้เงินอุดหนุนไม่สามารถแก้ปัญหาได้    โดยเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวจากการรัดเข็มขัดระดับหนี้ต่อ  GDP ยังคงสูงต่อเนื่อง  การระดมทุนยังมีต้นทุนสูง ท้ายสุดกลายเป็นว่ากองทุน ESM กลับต้องขาดทุนจากการ hair cut และกระทบต่อผู้ร่วมทุนในที่สุด ในกรณีนี้อาจจะทำให้ประเทศที่ยังไม่ประสบปัญหาอย่างเยอรมันและฝรั่งเศส อาจจะประสบปัญหาได้ อย่างไรก็ดีการตั้งกองทุนก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่จำเป็น เพราะจะถือเป็นกลไกหลักที่จะทำงานร่วมกับ IMF และ ECB ในการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความเชื่อมั่นนี่เอง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อตลาดยุโรป
 
สเปนอ่อนไหวมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ 
       สเปนถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของกลุ่มยูโรโซนแต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อเนื่องจากปี 2008 ทำให้สเปน ประสบภาวะชะลอตัวอย่างหนัก ประกอบกับการขาดดุลการคลังอย่างยาวนานของสเปน ทำให้เริ่มมีกลิ่นของหนี้เน่ามาเป็นระยะ ๆ การถูกลดเครดิต การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน  การกู้ยืมถือเป็นตัวการันตีที่สำคัญว่าสเปน “เอาไม่อยู่” แน่ๆ โดยต้นทุนการกู้ยืมพันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนอยู่ใกล้ระดับ 5.757%  ซึ่งลดลงมาแล้วจากความหวัง ECB จะเข้าแทรกแซง 
       ด้านเศรษฐกิจสเปนนั้นถือว่าชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ถือว่าหนักหนาสาหัส คือ ปัญหาด้านการจ้างงานที่ปัจจุบันสเปนมีอัตรา การว่างงานใกล้ระดับ 25% หมายความว่าคนที่อยู่ในช่วงอัตรากำลังหางานและพยายามหางานทำ 4 คน มีคนตกงาน 1 คน ถ้าลองย้อนกลับไปดูสหรัฐ ฯ ที่ว่าหนักเทียบไม่ได้กับสเปนเลยทีเดียว การตกงานของประชาชนจำนวนมากทำให้การจัดเก็บภาษีทำได้ลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่ม รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการการว่างงาน ภาระเหล่านี้ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหันกลับมาเป็นข้อจำกัดสำคัญ ในการผ่านนโยบายรัดเข็มขัด เศรษฐกิจสเปนหดตัวลง 0.4% ในไตรมาส 3 ซึ่งลดลงในสัดส่วนนี้ตั้งแต่ช่วงเมษายน การเดินหน้าเก็บภาษี การลด สวัสดิการ ลดเงินเดือนข้าราชการในช่วงภาวะแบบนี้  ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก ให้ลำบากมากขึ้นกว่าเดิม และเกิดการ ต่อต้านเป็นวงกว้าง แต่ถ้าคิดว่าเศรษฐกิจเป็นเพียงปัญหาเดียวของสเปนในขณะนี้นั้น ก็ถือว่าผิด เพราะปัจจุบันสเปนประสบกับปัญหาด้านการเมือง ที่หนักไม่แพ้กัน ความไม่พอใจที่เกิดกับรัฐบาลกลายมาเป็นปัญหาทางการเมืองไปเป็นที่เรียบร้อย ทั้งกระแสการแยกดินแดนของแคว้นคาตาโลเนีย ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าหนักใจ การดำเนินงานของรัฐบาลสเปนจึงถือว่ายากลำบากอย่างยิ่ง เพราะทางเดินข้างหน้าก็เห็นแล้วว่า ถ้าไม่รับเงินช่วยเหลือ ก็อาจจะขาดสภาพคล่องได้ ที่จะต้องใช้ในการผลักดันประเทศให้พ้นวิกฤติ และแก้ปัญหาด้านการออกขายพันธบัตรใหม่ แต่ถ้ารับเงินมาก็อาจจะต้อง เข้มงวดเรื่องการใช้จ่าย รวมถึงการจัดเก็บรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็จะตามมาด้วยการต่อต้านจากประชาชน และอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ ในภายหลัง รวมถึงการขอรับเงินเร็วเกินไปยิ่งเป็นการฟ้องว่าสเปนไปไม่รอด และจะทำให้ระบบธนาคารที่อ่อนแอมากอยู่แล้วแย่ลงไปอีก ต้องบอกว่า เหนื่อยใจแทนผู้บริหารประเทศครับ แต่ก็เอาใจช่วย โดยประเด็นสเปนนี้จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราว ที่จะกลับมากระทบต่อราคาทองคำอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดครับ
 
 
ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนตุลาคม 2555