แก้วิกฤติด้วยสภาพคล่อง…ดันราคาทองขึ้นฟ้า

สวัสดีครับท่านผู้อ่านวารสารทองคำทุกท่านครับ เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เหมือนเพิ่งจะ Jingle bell กันไปหยก ๆ เวลาไม่รอใครจริง ๆ ฉบับนี้ว่ากันไปตามกระแสเช่นเคย สำหรับตลาดทองคำในช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ถ้าให้เล่น 20 คำถาม ว่าปัจจัยใดที่ให้คุณและโทษกับราคาทองมากที่สุด??? ให้ทาย 2 ครั้ง แต่ผมว่าครั้งเดียวก็ถูก ไม่พ้น QE ครับ
 
 
 
 
ย้อนอดีตไปช่วงต้นปี ทองขึ้น เพราะคาดหวัง QE3 ของ FED ต่อมาไม่นาน FED บอกยังไม่มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่ม น้องทองก็หักหัวเอาดื้อ ๆ หลังจากนั้นก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามความอ่อนไหวของนักลงทุนในตลาด ซึ่งผมเชื่อว่าคนเหล่านี้ดูซีรีส์เกาหลีแล้วน้ำตานองกันทุกคนแน่ ๆ เพราะอ่อนไหวถึงไหวมาก พอตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีหน่อยก็คิดว่า FED คงไม่ทำแล้ว QE อย่าไปรอ วันถัดมาตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีขึ้นเล็กน้อย (ซึ่งเมื่อก่อนมองกันผ่าน ๆ) เน้นว่ายังดีคือเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ “นักวิเคราะห์” คาด ก็บอกว่าอย่างนี้ FED ทำ QE แน่ ๆ เป็นดังเช่นคำพระเจ้าตาบอกจริง ๆ “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด” ก่อนที่ผมจะไปไกลกว่านี้ ขอเข้าเรื่องดีกว่า
 
มาตรการสภาพคล่องคืออะไร? ได้ยินกันบ่อยแต่ทราบหรือไม่ครับ ว่ามันคืออะไร แล้วทำไมจึงต้องใช้สภาพคล่อง เล่าสู่กันฟังพอสังเขป มาตรการสภาพคล่อง (ทางการเงิน) เกิดขึ้นจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในแบบ “เคนส์” ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางในฐานะกลไกของรัฐจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงเพื่อให้ตลาดฟื้นตัวด้วยการเพิ่มสภาพคล่อง (เงิน) เข้าไปในระบบให้เกิดการไหลเวียนมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มปริมาณเงินเป็นเพียงแนวทางหนึ่งของการผ่อนคลายทางการเงิน การผ่อนคลายดังกล่าวยังหมายถึงการดูแลดอกเบี้ยในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายโดยตรงหรือผ่านกลไกในตลาด อย่างการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นวิธีที่ละมุนละม่อมกว่า ซึ่งในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ก็ได้เห็นกันไปหลายรอบ โดยสรุปก็คือ เป็นการบิดเบือนกลไกของรัฐด้วยเจตนาที่ดี เพราะอยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ท่านเคยเห็นคนที่สร้างความวุ่นวายเพราะเจตนาดีไหมครับ???
 
 
สภาพคล่องเกี่ยวอะไรกับราคาทอง ทั้งสองอย่างไม่ได้เกี่ยวดองกันโดยสายเลือดครับ แต่สัมพันธ์กันในสองสาเหตุด้วยกัน ประการแรก การเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณจะส่งผลต่อมูลค่าตามหลักการของ Supply ซึ่งการลดมูลค่าลงของสกุลเงินจะส่งผลต่ออำนาจการซื้อ ดังนั้นผู้ออมเงินที่มีการถือครองสกุลเงินอยู่ก็จะทำการเปลี่ยนการถือครองสกุลเงิน (ที่มีแนวโน้มว่าจะอ่อนมูลค่าลงในอนาคต) มาเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าด้วยตัวของมันเองอย่างพวก Real asset รวมถึงทองคำด้วยเช่นกัน ประการที่สอง การเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในตลาดจะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์โดยรวมในเชิงบวก ลองคิดภาพตามนะครับ เวลาที่เงินมีจำนวนมากขึ้นตามหลักการในการบริหารเงิน เราให้มันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเวลาผ่านไป มันจะลดมูลค่าลงเรื่อย ๆ จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การมีเงินเพิ่มขึ้นยิ่งเป็นการทำให้ “แหล่งที่ไปของเงิน” มีการเปลี่ยนแปลง โดยการเพิ่มขึ้นจากเงินที่ไหลเข้า นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาคือความผันผวนของราคาสินทรัพย์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการคาดการณ์ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด การผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน (QE) เพิ่มเติมจึงมีผลต่อราคาทองคำอย่างเลี่ยงไม่ได้
 

    คำถามคือ จะเกิดอีกไหม มาตรการสภาพคล่องต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าวิกฤติหรือการถดถอยทางเศรษฐกิจจบหรือยัง ถ้ายัง โอกาสที่จะกลับมาใช้มาตรการสภาพคล่องก็ยังมีอยู่ ซึ่งในมุมนี้ผมมองว่ายัง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างช้า ๆ ผ่านมาตรการรัดเข็มขัด ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอาจจะดำเนินต่อไปในฝั่งยุโรป ขณะที่สหรัฐฯ อาจจะซื้อเวลาได้นานกว่าจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ยังไม่เป็นตัวกระตุ้นให้ FED ต้องหันมา Print เงินใหม่ ซึ่งโอกาสในการทำ QE นั้นก็ยังถือว่าไม่หมดไป ดังนั้นบนเงื่อนไขที่การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินยังมีอยู่ต่อไป ในอนาคตทองคำก็จะยังทะยานได้อย่างสง่างาม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหมดบุญสภาพคล่องเมื่อใด การเข้าสู่ช่วงขาลงก็คงไม่นานเกินรอ สำหรับวันนี้ลากันแค่นี้ครับ พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ…

 

ที่มา : คอลัมน์ “สะเก็ดทอง โดย จูเก๋อเลี่ยง”

วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ

www.goldtraders.or.th