ณ วันที่ 03/04/2555
เชื่อว่าทุกท่าน คงจะเคยเห็นเครื่องทรงขององค์พระมหากษัตริย์ จากภาพในหนังสือหรือจากโทรทัศน์ที่มีการถ่ายทอดงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำจากทองคำหรือใช้ทองคำประดับประดางามตาอย่างยิ่ง เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2547 นี้ “วารสารทองคำ” จึงขอนำเสนอเรื่องราว “เครื่องราชกกุธภัณธ์” เครื่องหมายแห่งความเป็ฯพระราชาธิบดี ซึ่งใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้รับความกรุณาจาก รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เล่ารายละเอียดความเป็นมาของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สิ่งล้ำค่าของคนไทย เป็นวิทยาทาน
ความสำคัญของ “เบญจราชกกุธภัณฑ์”
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี ประกอบด้วย 5 สิ่งรวมเรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” สำหรับเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตามวรรณคดีต่างๆ ทางพุทธศาสนา เช่น อรรถถาปปัญจสูทนีภาค 3 อรรถกถาสมันตปาสาทิกา ภาค 1 มหาวงศ์ ทีปวงศ์ อภิธานัปปทีปิกาสังกิจชาดก กล่าวว่า เบญจราชกกุธภัณธ์ ประกอบด้วย ฉัตร, วาลวิชนี, พระขรรค์, อุณหิส, และบาทุกา แต่ของไทยจะประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ วาลวิชนี พระแส้และพระจามรี พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร และฉลองพระบาท
ในสมัยอยุธยาเครื่องราชกกุธภัณฑ์นับเป็นของจำเป็นและของใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะใช้เมื่อเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนสิ้นรัชกาลลง และพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เสวยราชย์ และเมื่อเราเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2310 คาดว่าสิ่งของเหล่านี้ได้สูญหายไป ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯขึ้นเป็นนครราชธานี พระองค์ได้ทรงสร้างเบญจราชกกุธภัณฑ์สำรับใหม่ขึ้นและได้มีพระราชพิธีบรมราชาพิเษกในปี 23281
ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ จะต้องผ่านกระบวนการพิธีที่เรียกว่า “บรมราชาภิเษก” ก่อน คือการรับสมมติขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเป็นพระเกียรติยศ ในพิธีจะมีการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เช่นเดียวกับชาวยุโรปที่สวมมงกุฎ แต่ของไทยจะไม่ใช้วิธีการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ เนื่องจากหัวใจสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การถวายน้ำอภิเษก หลังการถวายน้ำอภิเษกแล้วจึงถวายของซึ่งสิ่งของเหล่านี้นับเป็นของสำคัญสำหรับบ้านเมืองมาโดยตลอด
“หากพระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษก หรือยังไม่ได้รับเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระเกียรติยศจะยังไม่เต็มที่ เป็นต้นว่า ยังไม่ออกพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกเพียงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉัตรก็เพียง 7 ชั้น เพราะฉัตร 9 ชั้นจะถวายนพิธีบรมราชาภิเษก คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินจะเรียกเพียงพระราชโองการ ไม่ใช้พระบรมราชโองการ ด้วยเหตุนี้พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 นั้น เป็นพระราชกระแสรับสั่งหลังจากผ่านพิธีเหล่านี้แล้วจึงเรียกว่า พระปฐมบรมราชโองการ เพราะเป็นพระบรมราชโองการองค์แรก ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงแต่เพียงพระราชโองการ
องค์ประกอบของเบญจราชกกุธภัณฑ์
ในพระราชวงศ์จักรีมีพิธีบรมราชาภิเษกแล้วทั้งหมด 8 รัชกาล ยกเว้นเพียงรัชกาลที่ 8 ที่ไม่ได้ใช้เนื่องจากเสด็จสวรรคก่อนโดยยังไม่ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในแต่ละปีจะมีการเชิญเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ออกมาสมโภช ในพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี โดยจะประดิษฐานบนพระแท่นราชบัลลังก์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
สำหรับประวัติความเป็นมาของเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ้งประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ วาลวิชนี พระแส้และพระจามรี พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร และฉลองพระบาท มีดังนี้
พระมหาพิชัยมงกุฎ สูง 66 เซนติเมตร หนัก 7,300 กรัม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี สองข้างมีจอนหูทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีเช่นกัน แต่ละชั้นประดับด้วยดอกไม้เพชร เดิมยอดพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นยอดแหลมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชสมบัติ ไปหาซื้อเพชรจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ติดไว้ที่ยอดพระมหามงกุฎ โดยพระราชทานนามว่า “มหาวิเชียรมณี”
พระมหาพิชัยมงกุฎนี้ แต่เดิมเวลาทำพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ก็ทรงรับจากพราหมณ์แล้วทรงใช้ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอนุโลมตามแบบประเทศตะวันตกให้ถือว่าขณะที่สวมพระมหามงกุฎเป็นตอนสำคัญที่สุดของพิธี พราหมณ์เป่าสังข์ ไกวบัณเฑาะว์มีการประโคม ยิงสลุต และพระสงฆ์สวดชัยมงคลทั่วราชอาณาจักร
วาลวิชนี แปลกันเป็น 2 อย่าง คือ เป็นพัด เป็นแส้ ของไทยเราเดิมเป็นพัดใบตาล อย่างที่เรียกว่าพัชนีฝักมะขาม ทำขึ้นครั้งรัชกาลที่ 1 สำหรับเป็นหนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าพัดใบตาลไม่ถูกต้อง เพราะพระบาลี แปลว่า วาลวิชนี วาลเป็นขนโคชนิดหนึ่งซึ่งฝรั่งเรียก Yak จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้นแต่ไม่ทรงอาจให้เปลี่ยนพัดของเก่า จึงใช้ไปด้วยกัน ปัจจุบันใช้พระแส้ขนหางช้างด้ามทองคำแทนพระแส้จามรีที่ชำรุดมาก
วาลวิชนีมีลักษณะเป็นพัดทำด้วยใบตาลปิดทอง มีขอบและด้ามเป็นทองคำลงยา ส่วนแส้ ในที่นี้เป็นของที่ทำมาแทนแส้จามรีของรัชกาลที่ 4 ที่ด้ามเป็นแก้วผลึก
พระแสงขรรค์ชัยศรี ยามเฉพาะองค์ 65 เซนติเมตร ด้าม 25.5 เซนติเมตร ฝัก 75.5 เซนติเมตร ยาวตลอองค์ 101 เซนติเมตร หนัก 1900 กรัม
สำหรับพระขรรค์องค์นี้ใบพระขรรค์เป็นของเก่า ชาวประมงทอดแห่ได้ที่ทะเลสาบนครเสมราฐ เมื่อพุทธศักราช 2327 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(แบน) ให้พระยาพระเขมร เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองคำลงประดับอัญมณีใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สืบมา
พระขรรค์นี้เมื่อเชิญมาถึงกรุงเทพฯมือสนีบาตตกถึง 7 แห่ง จำนวนนี้มีตกในพระบรมมหาราชวังถึง 2 แห่ง คือที่ประตูวิเศษชัยศรี และพิมานชัยศรี ซึ่งเป็นเหตุให้ประตูทั้งสองได้สร้อยชัยศรีตามชื่อพระขรรค์องค์นี้ด้วย
พระแสงขรรค์ชัยศรีมีลักษณ์ดังนี้ ตัวพระขรรค์เป็นเหล็กแหลมกล้ามีสองคม โคนพระขรรค์คร่ำทองจำหลักรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ประกอบด้วยพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่เบื้องล่าง ถัดมาเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แต่ละองค์อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแล็กๆ ที่เรียงซ้อนขึ้นไปอีกทีหนึ่ง ด้ามของพระขรรค์เป็นทองคำลงยาประดับพลอย ส่วนบนของด้ามทำเป็นลายกลีบบัว และส่วนบนของกลีบบัวเป็นครุฑแบก ตรงกลางด้ามทำเป็นลายหน้าสิงห์ก้านแย่ง และที่สันด้ามทำเป็นเทพพนมซ้อนกันในรูปของหัวเม็ด ฝักทองคำลงยาที่โคนและปลายฝัก ส่วนลายตรงกลางนั้นเป็นเงินฉลุประดับพลอย
ธารพระกร มีลักษณะดังนี้ ตัวธารพระกรเป็นไม้ชัยพฤาษ์ปิดทอง ปลายทั้งสองข้างเป็นเหล็กคร่ำทองข้างหนึ่ง และเป็นซ่อมข้างหนึ่ง ของเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็กคร่ำทองที่สุดส้นเป็นซ่อมลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุ ที่ว่าใช้ในการชักมหาบังสุกุล ธารพระกรองค์นี้มีชื่อเรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างธารพระกรองค์ใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า (ศาสตราวุธคล้ายมีดใช้ขว้าง) ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป แต่ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าธารพระกร และทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้งตกถึงรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กลับเอาธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก และคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ธารพระกรนี้ ไทยได้ถือเอามาแทนฉัตร หรือพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น มีระบายขลิบทองแผ่ลวด และมียอดเป็นราชกกุธภัณฑ์ ของพระมหากษัตริย์ มีที่ใช้คือ ปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักพระยานมาศ และแขวงกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพเป็นต้น แต่โบราณมาไทยถือเศวตฉัตรเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เศวตฉัตร หมายถึง ว่าเป็นพระราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับมงกุฎของชาวยุโรป
การเปลี่ยนจากพระมหาเศวตฉัตรมาเป็นธารพระกรนั้น คาดว่าเนื่องมาจากการใช้วิธียื่นถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขณะที่ฉัตรเป็นของใหญ่โตและมีปักอยู่เหนือภัทรบิฐอยู่แล้ว จึงเปลี่ยนเป็นธารพระกรและในรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้เอาฉัตรพระคชาธารมายื่นถวายได้ ทำเช่นนั้นต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้โปรดเกล้าฯให้ทำฉัตร 9 ชั้นเล็กขึ้นถวายด้วย สำหรับฉัตรพระคชาธารมีเพียง 7 ชั้น
ฉลองพระบาท คือ ฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งมีน้ำหนัก 650 กรัม เป็นราชกกุธภัณฑ์สำคัญองค์หนึ่งตามแบบอินเดียโบราณ ในทศรถชาดกซึ่งเป็นต้นฉบับโบราณของนิทานพระราม เล่าว่า เมื่อพระภรตไปวิงวอนพระรามในป่าให้กลับมาทรงราชย์นั้น พระรามไม่ยอมกลับ จึงประทานฉลองพระบาทซึ่งพระภรตเชิญมาประดิษฐานไว้แทนองค์พระราม บนราชบัลลังก์ในกรุงอโยธยา
ฉลองพระบาทนี้ทำด้วยทองคำทั้งองค์ ที่พื้นภายในบุกำมะหยี่ ลวดลายเป็นทองคำสลัก ประดับพลอยและทองคำลงยา สีแดง,เขียว,ขาว,ลายช่อหางโต ใบเทศ ปลายฉลองพระบาททำงอนขึ้นไป มีส่วนปลายเป็นทรงมณฑป
อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าเบญจราชกกุธภัณฑ์ทุกองค์ล้วนมี “ทองคำ” เป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งสิ้น! “ทองคำ” แร่ธาตุทรงคุณค่า
กล่าวได้ว่า “ทองคำ” เป็นแร่ธาตุที่มีคุณค่า หายาก และด้วยองค์ประกอบ ทั้งสีสันเหลืองอร่ามงดงามมีคุณสมบัติที่สามารถดัดแปลงไปเป็นรูปทรงต่างๆ มากมาย และถูกสรรค์สร้างให้เป็นเครื่องประดับที่มีลวดลายวิจิตรบรรจง ยิ่งเมื่อนำมาประกอบกับอัญมณีไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย ฯลฯ หรือเทคนิคในการลงยา รวมถึงการสร้างสรรค์ด้วยลวดลายที่วิจิตรบรรจง ก็ทำให้ทองคำกลายเป็นสิ่งของที่สูงด้วยคุณค่า…มากด้วยราคา
เมื่อพลิกย้อนดูประวัติศาสตร์ทองคำ ว่ากันว่าคนไทยรู้จักทองคำมานานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา “ทองคำ” ได้กลายเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้มาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยมากนัก เช่นในสมัยรัชการที่ 4 พบสายแร่ทองคำที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในสมัยรัชการที่ 5 พบสายแร่ทองคำที่ จ.ปราจีนบุรี และอาจจะมีที่อื่นบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ใช่แหล่งใหญ่ของโลก แต่เนื่องจากเป็นทางผ่านของย่านการค้าสำคัญของ 2 ประเทศใหญ่ คือจีนและอินเดีย เมื่อการค้ามากขึ้นเศรษฐกิจดี บรรดาข้าวของมีค่า เครื่องประดับ ของตกแต่ง ของสวยงาม จึงถูกนำเข้ามามากมาย
ดังนั้นตลอดระยะเวลา 400 ปี ที่อยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการสั่งสมแก้ว แหวน เงิน ทอง จนกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวยทรัพย์สินที่มีค่า และกลายเป็นที่หมายปองของประเทศรอบด้าน
ด้วยความสำคัญของ“ทองคำ”ดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งของที่ล้ำค่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเลยไปจนถึงอนาคต…
ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่3
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat.