ณ วันที่ 03/04/2555
ในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานการใช้ทองคำเป็นเครื่องราชบรรณาการ และการสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ รวมทั้งภาชนะอื่นๆ เช่น ตลับและผอบเล็กๆ สำหรับใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก และเครื่องประดับ เช่น แหวน ต่างหู กำไล ฯลฯ แหล่งทองคำในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งได้มาจากเมืองบางสะพาน ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และอีกส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีน
ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ปรากฏหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา คือ ชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ามา ติดต่อค้าขายใน พ.ศ. ๒๐๕๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้กล่าวไว้ว่า สินค้าออกของประเทศสยาม ได้แก่ ครั่ง กำยาน ไม้ฝาง ตะกั่ว เงิน ดีบุก ทองคำ และงาช้าง โดยชาวสยามนำภาชนะที่ทำด้วย ทองแดง ทองคำ และเครื่องประดับที่ทำจากเพชร และทับทิมไปขายด้วย ตลาดคู่ค้าที่สำคัญคือ จีน มะละกา กัมพูชา เบงกอล ในบันทึกยังกล่าวต่อไปอีกว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งผู้แทนพระองค์ไปพบอัลฟองโซ เดอ-อัลบูร์เกอร์กี ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกส ที่เมืองมะละกา และได้พระราชทานขันทองคำสำหรับดื่มเหล้าและดาบทองคำ เพื่อขอความสนับสนุนช่วยเจรจาให้รัฐบาลโปรตุเกสคืนเมืองมะละกาให้แก่กรุงศรีอยุธยาจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงมอบเครื่องบรรณาการ ของขวัญ ของกำนัล โดยนิยมใช้ทองคำที่ประดิษฐ์ เป็นงานศิลปะชั้นสูง ในการแลกเปลี่ยนพระ-ราชศุภอักษรสาส์น หรือพระสุพรรณบัฏกับกษัตริย์ต่างประเทศ
เมอซิเออร์ เดอลาลูแบร์ อัครราชทูตชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า ชาวสยามถลุงแร่ทองคำได้มาก เพื่อนำมาประดับพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นเป็นจำนวน มาก นอกจากนี้ ยังนำไปประดับเป็นส่วน- ประกอบของโบสถ์ วิหาร วัดวาอารามต่างๆ เช่น ประดับช่อฟ้า ใบระกา เพดาน หน้าบัน ด้วยการลงรักปิดทองลงลวดลายต่างๆ และกล่าวอีกว่า ชาวสยามเป็นช่างกะไหล่ทองที่มีฝีมือ และรู้จักนำทองคำมาตีแผ่เป็นแผ่นบาง เมื่อพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชสาส์นไปยังกษัตริย์พระองค์อื่น พระองค์โปรดให้จารึกข้อความศุภอักษรลงในพระสุพรรณบัฏซึ่งบางเหมือนกระดาษ นอกจากนี้ ยังโปรดให้ทำจานทองคำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับใส่ผลไม้ เมื่อครั้งพระราชทานเลี้ยงแก่เมอซิเออร์ เดอ โชมองต์ แสดงให้เห็นว่า ทองคำของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาคงจะมีอยู่มาก โดยมีที่มาดังนี้ |
|
๑. ได้จากการเก็บส่วย
ในสมัยอยุธยา มีระบบการเก็บส่วยซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนในท้องถิ่น โดยในบางกรณีส่วยที่เรียกเก็บนั้นต้องจ่ายเป็นทองคำ เช่น ส่วยที่เรียกเก็บจากเมืองบางสะพาน ในส่วนของราษฎรที่ร่อนทองได้ ก็ต้องส่งส่วยภาษีเป็นทองคำเช่นกัน
|
|
๒. ได้จากการเกณฑ์กรณีพิเศษ
ได้จากการเกณฑ์กรณีพิเศษ เป็นการรวบรวมทรัพย์สินเงินทองเพื่อทำ กิจกรรมสำคัญ เช่น การร่วมกันสร้างศาสนสถาน การหล่อพระพุทธรูป การสร้างเจดีย์ การเรี่ยไรบริจาคจากข้าราชบริพาร ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และราษฏรทั่วไป ตามกำลังฐานะและแรงศรัทธา
|
|
๓. ได้จากการค้าขายแลกเปลี่ยน
จากบันทึกของนักเดินทางชาวยุโรป ระบุว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นตลาดค้าขายทองคำ ซึ่ง พ่อค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ ชวา สุมาตรา มลายู อาหรับ เปอร์เซีย และจีน กรุงศรีอยุธยาอาจนำทองคำที่ขุดหาได้ออกขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น การค้าขาย ในสมัยอยุธยาจึงมีบทบาทมากต่อการแสวงหาทองคำมาใช้ประโยชน์ เพื่อตอบสนองค่านิยมของสังคม
|
|
๔. ได้จากเครื่องราชบรรณาการ
ได้จากเครื่องราชบรรณาการ ธรรมเนียมประเพณีของหัวเมืองขึ้นและประเทศราช ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่กรุงศรีอยุธยาทุก ๆ ๓ ปี เพื่อแสดงว่า ยอมสวามิภักดิ์หรือยอมอยู่ใต้อำนาจ ทำให้มีทองคำนำเข้าสู่ท้องพระคลัง และนำไปแปรรูปเป็นเครื่อง-ราชูปโภคต่าง ๆ
|
|
๕. ได้จากการนำ หรือการริบจากเอกชนเข้าเป็นของหลวง
มีหลายกรณี เช่น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงต้องโทษ ประหารชีวิต ยังจะต้องริบทรัพย์สินทุกอย่าง เข้าหลวง ที่เรียกว่า พัทธยา หรือเรียกคืนเครื่องยศต่างๆที่ทำจากทองคำ เมื่อขุนนาง ผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้นั้นสิ้นชีวิตแล้ว รวมทั้งการยึดทรัพย์สินมีค่าจากศัตรูคู่สงคราม |