การกำหนดราคาทองของไทยนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยมีคณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมคอยดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย โดยยึดถือหลักประชาธิปไตยในการกำหนดราคาทองคำ ถือเสียงส่วนมาก 3 ใน 5 เสียงในการตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมการประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก
1.ห้างทองจินฮั้วเฮง
2.ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
3.ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์
4.ห้างทองหลูชั้งฮวด
5.ห้างทองแต้จิบฮุย
ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม สำหรับในการกำหนดราคาทองของสมาคม จะอ้างอิงจากราคา Gold Spot บวกหรือลบค่า premium จากผู้ค้าทองในต่างประเทศ ( ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเป็นสภาวะการนำเข้า หรือการส่งออก ) แล้วจึงนำมาคำนวณกับค่าเงินบาท จากนั้น จะทำการแปลงหน่วยน้ำหนักจากหน่วย ounze ให้เป็นหน่วยน้ำหนักของไทย คือ บาท โดยการตัดสินใจประกาศราคาทองในประเทศแต่ละครั้งนั้น ทางสมาคมจะต้องพิจาราณาองค์ประกอบของ Demand และ Supply ทองคำภายในประเทศเป็นสำคัญด้วย
สำหรับตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดราคาทองของไทย สามารถสรุปได้ 4 ประการดังนี้
- ราคาทองต่างประเทศ(Gold spot)
- อัตราค่าPremium ( ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ )
- ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- DemandและSupply ของทองคำภายในประเทศ
- ราคาทองคำต่างประเทศ(Gold spot)
เป็นราคาอ้างอิงทางอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่ได้มีการบวก หรือลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการส่งมอบทองคำ เป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่มีการส่งมอบ ซึ่งหากท่านพิจารณาดูราคา Gold spot จะเห็นว่ามีทั้งฝั่ง Bid และ Ask ซึ่งก็คือราคารับซื้อ และราคาขายออกนั้นเอง ในการซื้อทองคำจากต่างประเทศนั้น ผู้ขายจะใช้ราคา Ask ในการคำนวณ ส่วนเมื่อเราขายกลับไปยังผู้ค้าทองคำต่างประเทศ จะใช้ราคา Bid ในการคำนวณ ดังนั้นทางสมาคมเองก็เช่นกัน ในการกำหนดราคาทองภายในประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ว่าสภาวะตลาดทองคำภายในประเทศเป็นเช่นไร เช่นมีความต้องการซื้อทองคำอย่างมากก็ต้องนำเข้าทองคำ หรือหากมีความต้องการขายทองคำจำนวนมากก็ต้องส่งออกเป็นต้น
- อัตราค่าPremium ( ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ )
เมื่อมีความต้องการซื้อทองคำจำนวนมากจากผู้สนใจลงทุนในทองคำ และปริมาณทองคำภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ร้านค้าทองจึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการซื้อจากผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าก็ต้องซื้อต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้ค้าในต่างประเทศ โดยจะมีการคิดค่า Premium
ค่า Premium ก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อที่นำเข้า หรือส่งออกทองคำ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยง ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าประกันภัยต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดมาโดยผู้ค้าทองในต่างประเทศ ซึ่งเรียกง่ายๆว่าเป็นต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเข้ามาขายผู้บริโภคในไทยนั้นเอง โดยในการคำนวนจะนำราคา Spot บวกค่า Premium ดังกล่าวนี้เข้าไปด้วย ซึ่งในทางกลับกัน เมื่อมีประชาชนมาขายทองคำแท่ง คืนให้กับร้านทองจำนวนมากๆ ร้านทองจำเป็นต้องทำการขายกลับคืนมาให้กับบริษัทผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะทำการขายคืนกลับไปให้กับผู้ค้าทองในต่างประเทศอีกทอดนึง ซึ่งในจุดนี้ต่างประเทศจะใช้ราคา Spot ฝั่ง BID และหักลบค่าใช้จ่าย Premium ซึ่งในฝั่งขายออกนี้จะเรียกว่า Discount สำหรับสภาวะปกติค่า premium หรือ discount จะอยู่ที่ +1 ถึง 2 เหรียญต่อออนซ์ แต่ในสภาวะผิดปกติ จากการที่ราคาทองคำในต่างประเทศปรับตัวขึ้นหรือลงอย่างมาก และรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีความต้องการซื้อทองคำจากทุกประเทศในโลกพร้อม ๆ กัน ทำให้มี Demand ในตลาดโลกมาก เกิดการแย่งซื้อ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นลงค่า premium และ discount จากผู้ค้าในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากเช่นกัน โดยอาจอยู่ในช่วง +10 ถึง 20 เหรียญต่อออนซ์ หรือในบางครั้งอาจสูงถึง +25 เหรียญต่อออนซ์ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
- ค่าเงินบาทต่อดอลล่าสหรัฐ
ค่าเงินบาทในการคำนวณราคาทองในประเทศ จะใช้อัตราการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน gold spot และมีการใช้ราคาในฝั่ง Bid และ Ask เช่นเดียวกัน สำหรับในสภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินเช่นปัจจุบัน แต่ละธนาคารก็จะบวกค่าความเสี่ยงเข้าไปด้วยเช่นกัน
- DemandและSupply ภายในประเทศ
คณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคม นอกจากจะพิจารณาราคา Gold Spot / ค่า Premium และค่าเงินบาท ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัย Demand / Supply ภายในประเทศด้วยเป็นหลัก เพื่อที่จะตัดสินใจประกาศราคาทองคำภายในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาทั้ง 5 ท่าน จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขายระหว่าง
4.1 ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ
4.2 ร้านค้าทองเยาวราช
4.3 ร้านค้าส่งทองคำ
4.4 ร้านค้าปลีกทองคำ
4.5 ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่
4.6 ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย
กล่าวคือ มิใช่ว่าร้านทองจะซื้อขายกับประชาชนผู้สนใจลงทุนในทองคำเพียงฝ่ายเดียว ตามที่ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจ เป็นความเข้าใจที่ผิด ทุกภาคส่วนล้วนมีการซื้อและขายทองคำด้วยกันเองตลอดเวลาด้วย และการซื้อขายของร้านค้าทองด้วยกันเองนั้นจะมีปริมาณที่มากกว่าการซื้อขายกับผู้ลงทุนทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสมาคมฯ ประกาศราคาทองคำสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงจากตลาดต่างประเทศมากไป ร้านทองด้วยกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาซื้อหรือเทขายกันเอง ส่งผลให้สมาคมฯ ต้องปรับราคาให้เหมาะสมในที่สุด เพื่อสะท้อนถึงความต้องการทองคำของตลาดตามความเป็นจริง ตามกฎของ Demand / Supply กลไกของตลาดดำเนินการไปด้วยตัวของมันเอง เช่น หากราคาทองของสมาคมฯ ประกาศต่ำกว่าตลาดโลกมาก ก็จะมีกลุ่มผู้ตระเวนซื้อทองรูปพรรณเก่าตามร้านทองทั่วประเทศ และขายทองให้ผู้ส่งออกต่างประเทศได้ส่วนต่างผลกำไรโดยตรง โดยไม่ผ่านร้านทองทำให้ร้านทองเสียรายได้ส่วนนี้ไปอย่างเห็นได้ชัด หรือหากมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก ก็จะมีผู้นำเข้าทองนำทองมาขายให้ร้านทองโดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากได้กำไรจากส่วนต่างที่มากนั้นจูงใจ
ดังนั้น การที่ผู้สนใจลงทุนในทองคำดูราคา Gold spot จาก Website ต่างประเทศ แล้วนำมาคำนวณตามสูตรตรงๆ ก็จะได้ราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในการซื้อขายที่มีการส่งมอบทองจริง ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าตลาดค้าทองคำของไทยนั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และสามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง